×

หลุมอากาศคืออะไร ป้องกันได้ไหม วิกฤตโลกรวนทำให้เกิดบ่อยขึ้นหรือไม่

โดย Mr.Vop
22.05.2024
  • LOADING...

จากเหตุการณ์เครื่องบิน Boeing 777-300ER ของสายการบิน Singapore Airlines เที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงระหว่างบินจากลอนดอนสู่สิงคโปร์ จนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้โดยสาร 1 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จนนักบินต้องนำเครื่องไปลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น ทำให้คำว่า ‘หลุมอากาศ’ กลายเป็นคำค้นยอดนิยมและอยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก เกิดคำถามว่า หลุมอากาศอันตรายแค่ไหน หลีกเลี่ยงหรือสามารถป้องกันได้หรือไม่ ซึ่งบทความนี้จะมาทำความเข้าใจกับหลุมอากาศให้มากขึ้น

 

เกิดอะไรขึ้น

 

ขณะบินอยู่ที่ความสูง 37,000 ฟุต เหนือ​น่านฟ้าเมียนมา บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดีระหว่างเมืองพะสิมกับย่างกุ้ง เมื่อ​เวลา 14.49 น. ตามเวลาประเทศไทย เครื่องบินเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เครื่องบิน ‘ตกหลุมอากาศ’ หากดูตามกราฟจาก FlightRadar24 เครื่องเพิ่มระดับความสูงไปที่ 37,275 ฟุตอย่างทันทีทันใด เมื่อเวลา 14.49.52 น. จากนั้นก็กลับลงมาที่ระดับ 37,000 ฟุตตามเดิม

 

 

แต่หากดูข้อมูลจากระบบถ่ายทอดสัญญาณ​ติดตามอากาศยานอัตโนมัติ หรือ ADS-B ของเครื่องขณะเกิดเหตุ​ จะพบรายละเอียดว่า เครื่องบิน Boeing 777 ลำนี้ประสบกับการเปลี่ยนระดับความสูงในการบินอย่างกะทันหัน 4-5 ครั้ง ในอัตรา +1,700 ฟุตต่อนาที​ ถึง -1,800 ฟุตต่อนาที ไม่ต่างจากการโดนมือยักษ์จับโยนขึ้นลงในระยะความสูง​เป็นร้อยเมตร 

 

เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารจำนวน 211 คน และลูกเรืออีก 18 คน ผลจากการตกหลุมอากาศทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 71 คน และมีชายสัญชาติอังกฤษวัย 73 ปี เสียชีวิต 1 คน นักบินตัดสินใจลดระดับความสูง​ลงมาบินที่ 31,000 ฟุต หลังจากติดต่อกับภาคพื้นดิน​แล้ว นักบินก็ได้ลดระดับลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

‘หลุมอากาศ​’ คืออะไร

 

คำว่าหลุมอากาศเป็น​คำที่มีเฉพาะ​​ในภาษาไทย เป็นการใช้คำที่ฉลาด เพราะทำให้เรานึกภาพออกได้ทันทีว่าเครื่อง​บิน​กำลังเจอกับอะไร

 

แต่ทางสากลจะใช้คำที่ออกไปทางกลางๆ นั่นคือ Turbulence หรือการที่เครื่อง​บิน​พบกับกระแส​อากาศปั่นป่วน​จนทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา

 

เครื่องบินอันที่จริง​คือก้อนโลหะที่มีน้ำหนักเป็นตันๆ การที่เครื่อง​บินจะสามารถบินอยู่ได้จะต้องอาศัยการเคลื่อนไหว​ของอากาศในการหนุนให้ลอยตัว ไม่ต่างจากเรือที่ใช้การหนุนของน้ำ 

 

แต่เมื่อใดที่อากาศ​โดยรอบเครื่อง​บินเกิดความปั่นป่วน​ขึ้นมา ก็ไม่ต่างจากเรือที่แล่นไปบนระลอกคลื่นที่โยนเรือขึ้นลง สำหรับ​เครื่องบินก็คือการตกหลุมอากาศ​นั่นเอง

 

หลุมอากาศ​มีกี่แบบ เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

หลุมอากาศ​จะเกิดขึ้นเมื่ออากาศขาดความเสถียร​ สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากพายุฝนฟ้าคะนอง กระแสลมแปรปรวน​เหนือเทือกเขา หรือหากเป็นวันที่อากาศ​แจ่มใส หลุมอากาศ​ก็มีสาเหตุ​จากกระแสลมกรด (Jet Stream)​ ที่พัดผ่านเครื่องบินจากด้านหลัง​ เราเรียกความปั่นป่วน​ในวันฟ้าใสนี้ว่า Clear Air Turbulence (CAT)​

 

แยกตามความรุนแรง​แล้ว เราอาจแบ่งความปั่นป่วน​ของอากาศ​ซึ่งเป็น​สาเหตุ​ของ​หลุมอากาศ​ออกตามความรุนแรง​ได้ 4 แบบ หรือ 4 ขั้น แบบแรกคือแบบเบา เครื่องบินจะสั่นสะเทือนในระยะขึ้นลงไม่เกิน 1 เมตร บางครั้งก็จะไม่รู้สึก บางครั้งก็จะรู้สึกเหมือนรถยนต์​วิ่งผ่านถนนขรุขระ

 

ถัดมาคือแบบปานกลาง เครื่องบินจะสั่นสะเทือนในระยะขึ้นลง 3-6 เมตร ซึ่งจะทำให้ข้าวของหล่น ผู้โดยสารเริ่มนั่งไม่ติดเบาะ จากนั้นคือแบบรุนแรง ในขั้นนี้เครื่องบินจะเหวี่ยง​ในระยะขึ้นลงอาจถึง 30 เมตร ผู้โดยสารอาจตัวลอยจากเบาะแล้วตกลงกระแทกกับที่นั่ง และสุดท้ายจะเป็นแบบรุนแรงที่สุด ในขั้นนี้หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ศีรษะผู้โดยสารจะพุ่งขึ้นไปกระแทกกับของแข็งด้านบนได้ และวัตถุสิ่งของก็จะพังเสียหายกระจายไปทั่ว 

 

ซึ่งแบบสุดท้ายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก แต่กลับมาเกิดกับเครื่องบินของสายการบิน Singapore Airlines ลำนี้ ซึ่งในขั้นนี้เครื่อง​บินจะเสียการควบคุมและจะถูกเหวี่ยงขึ้นลงในเกิน 30 เมตร ขึ้นไปจนถึงระยะเป็นร้อยเมตร ผู้โดยสารจะบาดเจ็บ​สาหัส​หรือถึงขั้นเสียชีวิต​ได้

 

สิ่งที่เกิดกับ SQ321

 

ภาพ: Elmurod Usubaliev / Anadolu via Getty Images

 

ตามการวิเคราะห์สภาพอากาศของ CNN ในเบื้องต้น​พบว่า เครื่องบินลำนี้น่าจะประสบกับอากาศปั่นป่วนจากพายุฝนฟ้าคะนองที่กำลังก่อตัวขึ้นบริเวณ​ทางตอนใต้ของเมียนมา​ช่วงบ่ายของวันที่เกิดเหตุ​ (21 พฤษภาคม) การก่อ​ตัวของพายุในรูปแบบนี้บางครั้งจะไม่ปรากฏให้เห็น​บนเรดาร์โดยเฉพาะ​ในช่วงแรกสุด เมฆพายุอาจเติบโตจากความสูงยอดเมฆระดับ​ 20,000-30,000 ฟุตไปจนเกิน 50,000 ฟุตในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เครื่อง​บินมาถึงพอดี ตามคำชี้แจงของสายการบินที่บอกว่าเครื่องบินพบความปั่นป่วน​อย่าง​รุนแรงขณะบินอยู่​เหนือลุ่มน้ำอิรวดี​

 

​เราป้องกันตัวเองจากการตกหลุมอากาศ​ได้ไหม

 

การตกหลุมอากาศ​เกิดขึ้นได้แม้เป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีวี่แววว่าจะเกิดพายุ เราจึงควรลดการเดินไปเดินมาตามทางเดินให้น้อยที่สุด นั่งประจำที่และคาดเข็มขัดนิรภัยเอาไว้ตลอดเวลา แม้จะเป็นช่วงที่เครื่องบินเดินทางอย่างราบรื่นนุ่มนวลก็ตาม หรือหากเราลุกเดินจากที่นั่งด้วยเหตุจำเป็น​ แต่เมื่อปรากฏ​ไฟและเสียงสัญญาณเตือนให้คาดเข็มขัดดังขึ้น ก็ให้รีบกลับมานั่งประจำที่และคาดเข็มขัดนิรภัยทันที

 

หลุมอากาศเกิดที่ไหนบ่อยที่สุด

 

สำหรับการเกิดอากาศปั่นป่วนนั้น อันที่จริงสามารถเกิดขึ้นแทบทุกเส้นทางการบิน โดยเฉพาะเส้นทางการบินที่ผ่านเขตร้อนบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่หากนับรวมอากาศปั่นป่วนทุกชนิด ซึ่งหมายถึงชนิดที่เกิดตามเทือกเขาและเกิดในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสด้วยนั้น จากการวิเคราะห์เส้นทางการบินที่แตกต่างกันประมาณ 150,000 เส้นทาง โดยเว็บไซต์พยากรณ์ความปั่นป่วน Turbli​.com พบว่าเส้นทางบินระหว่างซันติอาโก ชิลี และสนามบินนานาชาติวิรู วิรู ในโบลิเวีย เป็นจุดที่มีโอกาสพบหลุมอากาศ​มากที่สุด ในขณะที่เส้นทางระหว่างอัลมาตี คาซัคสถาน และบิชเคก เมืองหลวงของคีร์กีซสถาน จากการเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว อยู่ในอันดับที่ 2 ในรายการ 

 

มีแนวโน้มเกิดหลุมอากาศบ่อยขึ้นไหม?

 

ทุกปีมีเครื่องบินราว 65,000 ลำทั่วโลกต้องพบกับความปั่นป่วนของอากาศ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามงานวิจัยในปี 2022 พบว่า วิกฤตโลกร้อนจะไปเร่งให้เกิดความปั่นป่วนของอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2050-2080 และส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะเป็นความปั่นป่วนในขั้นรุนแรงเสียด้วย 

 

ภาพ: REUTERS / Athit Perawongmetha

อ้างอิง​:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising