ไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป และการขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบันคนไทยเผชิญกับปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เนื่องจากมีการปรับขึ้นค่า Ft อย่างต่อเนื่อง
ค่า Ft คืออะไร?
ค่า Ft คือค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งกำหนดไว้เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงต้นทุนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า คือค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนคงที่ซึ่งคำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน
สำหรับค่า Ft จะมีการพิจารณาปรับปรุงทุก 4 เดือน โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแล
ทำไมต้องมีค่า Ft
ค่า Ft เป็นกลไกหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นต้นทุนค่าไฟซึ่งมีทั้งขึ้นและลง โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะมีการประกาศไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ใช้ไฟทั่วไปหรือภาคอุตสาหกรรม สามารถประมาณการล่วงหน้าว่าจะต้องจ่ายค่าไฟเท่าไร
กรณีคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงในค่าไฟฟ้าฐานไว้สูง แต่ต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง ถ้าไม่มีค่า Ft มาสะท้อนต้นทุนที่ลดลง ผู้ใช้ไฟก็อาจเสียประโยชน์ เพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง
แต่ในทางกลับกัน หากคาดการณ์ค่าเชื้อเพลิงไว้ต่ำเกินไป และต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับขึ้น หากไม่มีค่า Ft มาช่วย ก็อาจกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า และการจัดหาไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ
ดังนั้นค่า Ft จึงเป็นตัวสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกลไกที่สร้างความเป็นธรรมให้ทั้ง 2 ฝ่าย
ค่า Ft ในปัจจุบัน
ปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ได้มีการกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เป็น 2 อัตรา ตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์
ปัจจัยที่ทำให้ค่า Ft พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ค่า Ft เพิ่มสูงขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากวิกฤตราคาพลังงานโลก และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่าลดลง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาตลาดจร (Spot LNG) ซึ่งมีราคาสูงเข้ามาเสริม ร่วมกับการดำเนินมาตรการเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่า Spot LNG เพื่อลดการนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาสูงให้น้อยที่สุด
- สงครามรัสเซีย-ยูเครน
เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ส่งผลให้ราคาน้ำมัน ถ่านหิน และ LNG มีราคาผันผวนและแพงทั่วโลก
โดยเฉพาะการที่รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG ในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคา LNG ในตลาดโลก รวมถึงตลาดเอเชียด้วย
ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วยการนำเข้า Spot LNG ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- เมียนมาผลิตก๊าซธรรมชาติได้น้อยลง
นอกจากนี้การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนจากประเทศเมียนมา ที่ลดการผลิตก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ปลายปี 2564 ทำให้ต้องนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม
- เหตุระเบิดที่เท็กซัส
การระเบิดที่โรงงานผลิต Freeport LNG ในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นแหล่งผลิต LNG ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และต้องหยุดซ่อมจนถึงเดือนธันวาคม 2565 ทำให้ความต้องการใช้ LNG มากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาซื้อขาย LNG ต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2565
ภาพรวมกับคำถามที่ว่า ทำไมประชาชนต้องจ่าย ‘ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น’ มาจากสาเหตุหลักๆ คือ ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการนำเข้า Spot LNG ซึ่งราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมากจากผลกระทบวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับค่าเงินบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งค่าเงินบาทที่ลดลง 1 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4-6 สตางค์ต่อหน่วย
ปัจจุบันสถานการณ์ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนไหว และยังคงผันผวนอยู่ในระดับราคาที่สูงตามสถานการณ์ราคา LNG และราคาน้ำมันในตลาดโลก
6 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและค่า Ft เรียกเก็บตลอดปี 2566
- ความไม่แน่นอนของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแนวโน้มที่จะสามารถจ่ายก๊าซจากแหล่งเอราวัณเข้าสู่ระดับปกติหรือใกล้เคียงปกติ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการนำเข้า LNG มาทดแทน
- การลดลงของแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตะวันตก (ในเมียนมา) โดยอาจจะต้องนำก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เข้ามาทดแทนในปริมาณมากขึ้น
- สภาวะราคา LNG ในตลาดโลกมีการแกว่งตัวในระดับที่สูงถึงสูงมาก เนื่องจากความต้องการของ LNG ในตลาดโลกยังคงสูงกว่ากำลังการผลิต และจะเป็นแบบนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566 จากการที่ยุโรปลดการนำเข้าก๊าซทางท่อจากรัสเซีย และหันไปซื้อ LNG ในตลาดจรแทน และการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศหลังวิกฤตโควิด ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นรวมทั้งในประเทศไทย
- อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิง
- การใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติสามารถลดการนำเข้า LNG ได้ แต่การใช้น้ำมันยังคงมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
- ข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟผ. เป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้ไม่สามารถตอบสนองภาคนโยบายในการตรึงค่า Ft ได้ในระยะยาว
สำหรับทิศทางค่า Ft ในปี 2566 รอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมนั้น จากปัจจัยราคาก๊าซ LNG ในรูปแบบสัญญาตลาดจรที่ปรับตัวลดลง และการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น จะเป็นตัวแปรหลักที่สำคัญทำให้ค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2566 ปรับตัวลดลงได้ เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้คำนวณค่า Ft ถูกลง
แม้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะปรับตัวลดลงมา แต่ค่าไฟฟ้าจะลดลงได้มากน้อยขนาดไหน ยังมีตัวแปรที่สำคัญที่จะต้องทยอยคืนหนี้ค่า Ft ที่ติดค้างให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในอัตรา 0.22 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 3 ปี ที่ กฟผ. แบกรับภาระกว่า 1.5 แสนล้านบาท