การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ก่อให้เกิดความกังวลต่อนานาชาติรวมถึงไทย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิดโอไมครอนอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ท่ามกลางการจับตามองถึงอันตรายที่แท้จริงของไวรัสสายพันธุ์นี้ หลังมีการเผยแพร่ข้อมูลจากฝั่งผู้เชี่ยวชาญ ชี้ความเป็นไปได้ที่โควิดโอไมครอนอาจแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า โดยเฉพาะเดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลกมาตั้งแต่ต้นปี
คำถามคือ โอไมครอนนั้นอันตรายมากกว่าเดลตาหรือไม่ และข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้ให้คำตอบอะไรเราได้บ้าง?
โอไมครอนเลวร้ายกว่าเดลตาไหม?
– จนถึงตอนนี้ยังเร็วไปที่จะบอกได้ว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นเลวร้ายกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือไม่ โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การกลายพันธุ์ของโอไมครอนบางจุดมีความคล้ายคลึงกับเดลตา รวมถึงสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างอัลฟา แกมมา และเบตา ซึ่งทั้งหมดถูก WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หมายความว่าโอไมครอนนั้นก็สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายมากเช่นกัน
– อันตรายของโอไมครอนที่น่ากังวล คือมันอาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนได้ และอาจทำให้วัคซีนโควิดที่มีอยู่มีประสิทธิภาพต้านทานการติดเชื้อที่ลดลง
– การกลายพันธุ์ของโอไมครอนมีจำนวนกว่า 50 จุด ซึ่งมากกว่าเดลตา และ 32 จุดเกิดขึ้นในส่วนโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้เกาะติดกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์เพื่อก่อให้เกิดการติดเชื้อ ขณะที่โปรตีนหนามของไวรัสเป็นส่วนสำคัญที่วัคซีนใช้เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
– ส่วนเดลตาก็มีการกลายพันธุ์ในส่วนที่น่ากลัวและมีการระบาดที่รวดเร็ว ทำให้มันยังเป็นไวรัสโควิดที่อันตรายที่สุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า
– อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของโอไมครอนที่มากกว่าเดลตา โดยเฉพาะในส่วนโปรตีนหนาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโอไมครอนนั้นอันตรายมากกว่าเดลตา ซึ่งจำเป็นต้องรอผลทดสอบที่ชัดเจนจากทีมวิจัยทั่วโลก
– โดยนับตั้งแต่ที่พบการแพร่ระบาดของโอไมครอนในแอฟริกาใต้จนถึงตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานและบริษัทผลิตวัคซีนของประเทศต่างๆ หลายทีม กำลังพยายามทดสอบตัวอย่างไวรัสที่ได้จากผู้ติดเชื้อ และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของโอไมครอน เพื่ออธิบายว่าอะไรทำให้มันอาจเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุด
– ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมบางคน ชี้ว่าโอไมครอนนั้นไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในบางส่วน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เดลตาแพร่ระบาดได้ง่ายมากขึ้น
“เนื่องจากโอไมครอนขาดการกลายพันธุ์ในส่วนที่ไม่ใช่โปรตีนหนามจำนวนมาก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ความแข็งแรงของเดลตาเพิ่มมากขึ้น ผมจะไม่แปลกใจเลย หากประสิทธิภาพในการแพร่ระบาดแท้จริงของโอไมครอนจะคล้ายกับแกมมา” เทรเวอร์ เบดฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมและนักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและศูนย์โรคมะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน ในซีแอตเทิล กล่าว
– คาดว่าการทดสอบนั้นอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่จะสามารถบอกได้ว่า โอไมครอนอันตรายมากแค่ไหน และสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่นำไปสู่อาการรุนแรงได้ไหม รวมถึงตอบคำถามสำคัญคือ “วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ยังมีผลต้านทานโควิดโอไมครอนอยู่หรือไม่?”
อาการของผู้ติดเชื้อโอไมครอนและเดลตา มีอะไรบ้าง?
– ดร.แองเจลิก โคเอตซี (Angelique Coetzee) แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ที่มีส่วนช่วยในการค้นพบโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เปิดเผยต่อสำนักข่าว BBC ว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้มีอาการ ‘น้อยมาก’ โดยอาการต่างๆ รวมถึง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเจ็บคอ แต่ไม่สูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรส เหมือนกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่น
– ขณะที่โควิดสายพันธุ์เดลตา มีอาการแตกต่างกับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีอาการไอและสูญเสียการรับรู้กลิ่นที่น้อยกว่า และจากงานวิจัยในสหราชอาณาจักร พบว่าปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาจำนวนมากมีอาการปวดศีรษะและน้ำมูกไหล
– อย่างไรก็ตาม จากอาการดังกล่าว ยังเร็วเกินไปที่จะอ้างได้ว่าผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนนั้นมีอาการที่เลวร้ายกว่าเดลตา แม้จะมีหลักฐานจากคำบอกเล่าที่ระบุว่าผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง และมีแนวโน้มที่กลุ่มคนอายุน้อยและเด็กจะเกิดอาการป่วยรุนแรงได้น้อยกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขแอฟริกาใต้พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอายุน้อย
ภาพ: Photo by CDC/API/Gamma-Rapho via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.cnet.com/health/medical/omicron-vs-delta-how-the-new-covid-variant-is-different/
- https://edition.cnn.com/2021/11/30/health/omicron-delta-variant-comparison/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/11/30/health/omicron-variant-weeks-research/index.html
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/omicron-variant-could-outcompete-delta-south-african-disease-expert-says-2021-11-30/
- https://www.ft.com/content/27def1b9-b9c8-47a5-8e06-72e432e0838f
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/covid-19-why-the-omicron-variant-has-scientists-worried