×

‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ คืออะไร ทำไมการคงราคาค่าไฟฟ้าฐานไว้ จึงทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
11.04.2023
  • LOADING...
ค่าไฟฟ้าฐาน คือ

HIGHLIGHTS

  • ค่าไฟฟ้าฐาน คำนวณจากต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าผลิตพลังงานไฟฟ้า
  • ค่าไฟฟ้าฐานเป็นอัตราคงที่ แต่จะมีการปรับทุก 3-5 ปี โดยพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการผลิต
  • คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เลื่อนการบังคับใช้ค่าไฟฐานออกไปเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

ในขณะที่ทุกคนโฟกัสไปที่ค่า Ft ว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ค่าไฟฟ้าฐานก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากต้องมีการนำมารวมกับค่า Ft บวกค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกมาเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า

 

ค่าไฟฟ้าฐานคืออะไร?

ค่าไฟฟ้าฐาน จะคำนวณจากต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้แก่ ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าผลิตพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สมมติฐานความต้องการไฟฟ้า โดยพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการผลิต การจัดส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และผลตอบแทนที่เหมาะสมในการขยายการลงทุนในอนาคตของทั้ง กฟผ., กฟน. และ กฟภ. เป็นอัตราคงที่ แต่จะมีการปรับทุก 3-5 ปี อย่างไรก็ตามค่าไฟฟ้าฐานในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2558

 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ปี 2564-2568 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ค่าไฟฟ้ามีความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ไฟฟ้า และสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากที่สุด 

 

 

นโยบายพลังงานแห่งชาติ กับการคงอัตราค่าไฟฟ้าฐาน

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ดังนี้

 

  1. ให้คงอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่าไฟฟ้าฐานเท่าเดิม สำหรับค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีกและคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง และเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะจำแนกค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ หรือค่า PE ออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ออกไปก่อน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง และเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตพลังงาน และการจัดหาก๊าซธรรมชาติแหล่งอ่าวไทยที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2567

 

  1. ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อสามารถจำแนกค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน โดยปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ด้วยการจำแนกองค์ประกอบของค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense: PE) ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

 

  1. ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส ด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมแปร์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยการไฟฟ้าจะทำการตรวจสอบสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ให้มีความซ้ำซ้อน และผู้ใช้ไฟฟ้ามีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิในสวัสดิการแห่งรัฐไว้ สำหรับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป และให้นำค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรายได้ (Revenue Requirement) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้า

 

 

กกพ. กับการกำกับนโยบายค่าไฟเพื่อประชาชน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีความเห็นว่า สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานของประเทศไทยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อโครงสร้างการให้บริการไฟฟ้าและต้นทุนการให้บริการไฟฟ้าของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา และการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนเมษายน 2567 หากปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จำแนกค่า PE หรือค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ ออกจากค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft ในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งสถานการณ์ราคาพลังงานยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ จะส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวที่ไม่อาจคาดคะเนได้ อาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความสับสนในการจำแนกใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าที่ต้องมีการเพิ่มเติมรายการค่า PE ในสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

ดังนั้น การเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ออกไปถือเป็นเรื่องดี แม้ว่าจะไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2558 แต่หากมีการปรับค่าไฟฟ้าฐานในช่วงนี้ ราคาค่าไฟฟ้าอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X