×

อาวุธไฮเปอร์โซนิกคืออะไร? ประเทศไหนมีในครอบครองบ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
20.03.2022
  • LOADING...
อาวุธไฮเปอร์โซนิกคืออะไร? ประเทศไหนมีในครอบครองบ้าง

หลายประเทศกำลังพูดถึงความพยายามในการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก หรืออาวุธความเร็วเหนือเสียง หลังเป็นที่จับตามากขึ้นจากกรณีรัสเซียยอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีการใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกในการโจมตีเป้าหมายคลังอาวุธของยูเครน 

 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาวุธไฮเปอร์โซนิกจะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ​ในยุทธศาสตร์การรบ และมีผลต่อดุลอำนาจทางทหารอย่างมีนัยสำคัญ หากใครได้ครอบครอง

 

แต่หลายคนอาจสงสัยว่าอาวุธเหล่านี้คืออะไร ประเทศไหนมีในครอบครองแล้วบ้าง

 

อาวุธไฮเปอร์โซนิกคืออะไร?

อาวุธไฮเปอร์โซนิก หรืออาวุธความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Weapon) บินด้วยความเร็วอย่างน้อย 5 มัค (Mach) มีความคล่องตัว สามารถหลบหลีกและเปลี่ยนวิถีระหว่างการบิน พวกมันแตกต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัว (Ballistic Missile) ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียง (อย่างน้อย 5 มัค) เช่นกัน แต่ขีปนาวุธจะเคลื่อนที่ไปตามแนววิถีโค้ง อีกทั้งมีความคล่องตัวที่จำกัด

 

อาวุธไฮเปอร์โซนิกมีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง? 

อาวุธไฮเปอร์โซนิกแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ ยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Glide Vehicle) และขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Cruise Missile)

 

ยานร่อนความเร็วเหนือเสียงถูกปล่อยออกจากจรวด จากนั้นยานร่อนจะแยกออกจากจรวด และ ‘ร่อน’​ ด้วยความเร็วอย่างน้อย 5 มัคไปยังเป้าหมาย

 

ส่วนขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงนั้นขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ความเร็วสูงแบบที่ต้องใช้อากาศในการเผาไหม้ (Air-breathing Engine) 

 

อาวุธไฮเปอร์โซนิกแตกต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัวอย่างไร?

ขีปนาวุธทิ้งตัวสามารถเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงอย่างน้อย 5 มัคเช่นกัน แต่จะเคลื่อนที่ไปตามแนววิถี อีกทั้งมีความคล่องตัวที่จำกัด

 

อาวุธไฮเปอร์โซนิกสำคัญอย่างไร?

ประเทศใดก็ตามที่มีอาวุธไฮเปอร์โซนิกอยู่ในครองครองจะมีความได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากอาวุธประเภทนี้สามารถหลบเลี่ยงระบบป้องกันใดๆ ก็ตามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

“มันไม่สำคัญว่าภัยคุกคามคืออะไร เพราะหากคุณมองไม่เห็น คุณก็ไม่สามารถป้องกันมันได้อยู่ดี” พล.อ. จอห์น ไฮเทน อดีตรองประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ กล่าวกับผู้ฟังในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนมกราคม 2020

 

ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ในปี 2018 ไฮเทนกล่าวว่า “เราไม่มีระบบป้องกันใดๆ ที่สามารถป้องกันอาวุธดังกล่าวได้…การป้องกันของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการยับยั้ง”

 

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันมีเรดาร์ภาคพื้นดินบางตัวที่สามารถตรวจจับอาวุธความเร็วเหนือเสียงได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแจ้งเตือนการโจมตีได้ โดยไฮเทนเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการสร้างระบบเรดาร์ทางอากาศ

 

ประเทศใดบ้างที่กำลังพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก?

สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ต่างก็กำลังพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการวิจัยเกี่ยวกับอาวุธชนิดนี้ และบางประเทศอ้างว่าได้ดำเนินการทดสอบอาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงแล้ว แต่ยังคงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการพิสูจน์

 

มาดูกันว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอาวุธเหล่านี้พัฒนาไปถึงขั้นไหนกันแล้ว:

 

สหรัฐอเมริกา:

ในปี 2022 กองทัพสหรัฐฯ ของบประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง และอีก 246.9 ล้านดอลลาร์สำหรับการวิจัยการป้องกันอาวุธความเร็วเหนือเสียง อาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาหรือทดสอบ แต่คาดว่าจะมีอย่างน้อยหนึ่งระบบเข้าสู่สถานะ ‘ความสามารถในการปฏิบัติการเบื้องต้น’ (Initial Operational Capability) ได้ในปีนี้ สำหรับอาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ นั้น ติดอาวุธด้วยหัวรบแบบธรรมดา

 

รัสเซีย:

รัสเซียติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และล่าสุด เจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซียเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มีนาคมว่า รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเป็นครั้งแรกในยูเครน โดยมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นคลังแสงใต้ดินทางตะวันตกของประเทศ ทั้งนี้ เมื่อปี 2018 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เคยพูดอวดเกี่ยวกับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก Kinzhal และยานร่อนไฮเปอร์โซนิก Avangard นอกจากนี้ มอสโกยังกำลังพัฒนา Tsirkon ซึ่งเป็นขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงที่ปล่อยจากเรือ รายงานระบุว่า Avangard ติดหัวรบนิวเคลียร์ และสื่อหลายสำนักของรัสเซียได้รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า Avagard ถูกนำมาใช้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019

 

จีน:

เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนกำลังเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธร่อนไฮเปอร์โซนิกและยานร่อนไฮเปอร์โซนิก และมีความเป็นไปได้ว่า ขณะนี้อาจมีการนำยานร่อนไฮเปอร์โซนิกมาใช้แล้วอย่างน้อยหนึ่งลำ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ปักกิ่งทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียง ‘หลายร้อย’ ครั้งระหว่างปี 2016-2021 ในขณะที่วอชิงตันทำการทดสอบเพียงเก้าครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน พล.อ. มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ กล่าวถึงการทดสอบไฮเปอร์โซนิกของจีนที่ดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม 2021 ว่า “มีความสำคัญมาก”

 

มิลลีย์กล่าวว่า “เรากำลังเป็นประจักษ์พยานของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอำนาจภูมิยุทธศาสตร์ของโลก…มันเกิดขึ้นเพียงนานๆ ครั้งเท่านั้น”

 

เกาหลีเหนือ:

เกาหลีเหนืออ้างว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกสองลูกในปีนี้ โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม ตามการรายงานของสำนักข่าว Korean Central News ของรัฐบาลโสมแดง อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันข้อกล่าวอ้างดังกล่าว พร้อมอธิบายว่าการยิงดังกล่าวเป็นการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวเท่านั้น ทั้งนี้ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กล่าวว่า การพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงจะช่วยยกระดับ “การป้องปรามสงคราม” นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้อย่างมาก ซึ่งเป็นท่าทีที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ทำให้เกาหลีใต้ตกอยู่ในความเสี่ยง 

 

ประเทศอื่นๆ:

ออสเตรเลีย อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียง และมีรายงานว่า อิหร่าน อิสราเอล และเกาหลีใต้ กำลังดำเนินการวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับอาวุธประเภทนี้

 

ภาพ: MOSQUITO_vector via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X