×

กฎหมาย ‘ตัวแทนต่างชาติ’ คืออะไร ทำไมเจอกระแสตีกลับจากมวลชน จนรัฐบาลจอร์เจียยอมถอนร่างกฎหมาย

09.03.2023
  • LOADING...

ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับกฎหมายฉบับหนึ่งของรัสเซียที่มีการบังคับใช้ไปเมื่อปี 2012 ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่า การออกกฎหมายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างในประเทศ

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (7 มีนาคม) ประชาชนหลายพันคนจึงออกมาเดินขบวนประท้วงอยู่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา ณ กรุงทบิลีซี เมืองหลวงของประเทศ หลายคนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโบกธงชาติจอร์เจีย เพื่อประกาศจุดยืนว่า พวกเขาจะไม่ยอมอยู่ใต้เงาของรัสเซีย และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่โบกธงสหภาพยุโรป (EU) เพื่อหนุนให้จอร์เจียเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ในอนาคต

 

แม้จอร์เจียจะประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตตั้งแต่เมื่อปี 1991 หรือช่วงหลังสงครามเย็น แต่ก็ยังถูกรัสเซียเข้ามาแทรกแซงอยู่เป็นระยะ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 รัสเซียเคยเปิดปฏิบัติการโจมตีกองทัพจอร์เจียในเซาท์ออสเซเทีย ก่อนจะปิดเกมเร็วด้วยการคว้าชัยชนะภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 วัน รวมถึงยังมีกรณีที่มีข่าวออกมาว่า รัสเซียเคยแทรกแซงการเลือกตั้งในจอร์เจียเมื่อปี 2012 ด้วย ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปีกของรัสเซียยังคงสยายปกคลุมดินแดนนี้อยู่

 

กลับมาที่เดือนมีนาคม 2022 ทางการจอร์เจียได้แสดงเจตจำนงที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ EU ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม แต่เมื่อมาในปี 2023 รัฐบาลกลับผลักดันให้มีการใช้กฎหมาย ‘ตัวแทนต่างชาติ’ ทำให้เกิดกระแสความกังวลว่า กฎหมายที่ออกมาใหม่นี้จะขัดขวางอนาคตของจอร์เจียในการเข้าเป็นสมาชิก EU ในอนาคตหรือไม่ และจะเป็นโมเดลที่พาให้จอร์เจียตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัสเซียหรือเปล่า หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดคือจอร์เจียจะมีชะตากรรมเดียวกับยูเครนหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในวันที่ 9 มีนาคม หรือหลังเกิดการประท้วงใหญ่เพียง 2 วัน พรรคจอร์เจียนดรีม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของจอร์เจีย ยืนยันว่าจะยกเลิกร่างกฎหมาย ‘ตัวแทนต่างชาติ’ หลังเจอกระแสตีกลับอย่างหนัก 

 

แถลงการณ์จากพรรคระบุว่า ทางพรรคจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าว ‘อย่างไม่มีเงื่อนไข’ เพื่อลดการเผชิญหน้ากันในสังคม ขณะเดียวกันก็ได้ประณามว่า ‘ฝ่ายค้านหัวรุนแรง’ ใช้คำพูดโป้ปดในเชิงลบเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้

 

THE STANDARD สรุปให้อ่านกันว่า ทำไมกฎหมายนี้ถึงจุดประเด็นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมจอร์เจียขณะนี้ มันสำคัญอย่างไร 

 

กฎหมายตัวแทนต่างชาติคืออะไร

– ก่อนหน้านี้ข้อมูลจาก จอร์จี โกเกีย รองผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปและเอเชียกลางขององค์การ Human Rights Watch เปิดเผยว่า รัฐสภาจอร์เจียได้พิจารณาร่างกฎหมายสองฉบับ

 

– ร่างกฎหมายฉบับแรกจะออกข้อกำหนดให้องค์กรต่างๆ ซึ่งรวมถึงองค์กรนอกภาครัฐและองค์กรสื่อทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ต้องขึ้นทะเบียนเป็น ‘ตัวแทนต่างชาติ’ หากองค์กรดังกล่าวมีรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้ทั้งหมดต่อปี หากฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 25,000 ลารี หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 339,000 บาท

 

– ส่วนร่างกฎหมายฉบับที่ 2 มีการขยายขอบเขตของคำว่า ‘ตัวแทนของอิทธิพลจากต่างชาติ’ (Agents of Foreign Influence) ให้ครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไปด้วย และเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

 

– ผู้ประท้วงส่วนใหญ่มองว่า ร่างกฎหมายทั้งสองถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนในจอร์เจียอย่างชัดแจ้ง เพราะอาจนำไปสู่การปิดปากสื่อมวลชนและปิดกั้นเสรีภาพในการวิจารณ์ของประชาชน

 

– สำหรับตัวโกเกียนั้นมองว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จริงมันก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ภาครัฐสามารถตีตราหรือลงโทษกลุ่มองค์กรอิสระ สื่อมวลชน และนักวิจารณ์ในประเทศได้

 

– ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการลงมติจากรัฐสภาในวาระแรกไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 13 เสียง แต่ถึงเช่นนั้นร่างกฎหมายนี้ก็ยังจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาเพิ่มเติม จึงจะสามารถนำไปบังคับใช้ได้ในฐานะกฎหมายใหม่ของบ้านเมือง

 

– ไม่ใช่แค่ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เพราะแม้แต่ ซาโลเม ซูราบิชวิลี ประธานาธิบดีจอร์เจีย ก็ประกาศว่าเธอเองก็ไม่เห็นด้วย แถมยังออกตัวชัดเจนว่าเธออยู่ข้างผู้ประท้วง 

 

– “ผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่ลงคะแนนให้กฎหมายนี้กำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ พวกเขาขัดขวางโอกาสที่เราจะได้เป็นสมาชิกของ EU อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในวันแรกว่าดิฉันจะใช้สิทธิ Veto กฎหมายนี้ และดิฉันจะลงมือทำ”

 

– แต่หนทางของเธออาจไม่ง่ายนัก เพราะข้อมูลจาก Human Rights Watch ระบุว่า พรรครัฐบาลอย่างจอร์เจียนดรีม (ซึ่งซูราบิชวิลีไม่ได้เป็นสมาชิกอยู่ด้วย) มีแนวโน้มที่จะคว้าคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งจะเอาชนะการ Veto ของประธานาธิบดีได้

 

มีประเทศใดบ้างที่ใช้กฎหมายในลักษณะนี้

– คำถามดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เนื่องจากหลายคนมองว่า ร่างกฎหมายตัวแทนต่างชาติของจอร์เจียมีต้นแบบมาจากกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านอย่างรัสเซีย ซึ่งได้กำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับต่างชาติ

 

– ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 รัสเซียได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวท่ามกลางกระแสการประท้วงของประชาชนจากข้อกล่าวหาที่ว่าในปีนั้นมีการโกงเลือกตั้ง เพื่อดันให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ก้าวสู่อำนาจเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย 

 

– โดยกฎหมายที่ว่านี้บังคับให้องค์กรที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างชาติ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนต่างประเทศและต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่เข้มงวดเป็นพิเศษ ก่อนที่รัสเซียจะค่อยๆ เดินหน้าอัปเดตกฎหมายดังกล่าวทีละน้อย จนกลายเป็นประหนึ่งอาวุธที่แข็งแกร่ง ซึ่งถูกใช้เพื่อบีบบังคับภาคประชาสังคมในรัสเซียตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

 

– โกเกียกล่าวว่า ร่างกฎหมายล่าสุดของจอร์เจียมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายของรัสเซียที่ว่า ‘นี่คือความพยายามในการสร้างสถานะพิเศษ และออกข้อกำหนดทางกฎหมายต่อองค์กรและสื่อมวลชนที่รับเงินทุนจากต่างชาติ’ แม้จะพยายามใช้กฎหมายมาเป็นข้ออ้างให้การกระทำของตนเองดูโปร่งใส แต่นี่คือการแทรกแซงเสรีภาพสื่ออย่างชัดเจน

  

– นอกจากรัสเซียแล้ว ก็ยังมีเบลารุสอีกชาติหนึ่งที่ได้ผ่านร่างกฎหมายด้านสัญชาติที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในปี 2002 และต่อมาในเดือนธันวาคม 2022 รัฐสภาเบลารุสก็ได้อนุมัติการปรับแก้ตัวบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลสามารถสั่งเนรเทศสมาชิกฝ่ายค้านทางการเมือง นักกิจกรรม และนักวิจารณ์ ออกจากประเทศได้ เนื่องจากกฎหมายมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีสามารถถอดสัญชาติชาวเบลารุสได้ แม้จะไม่มีสัญชาติอื่นๆ รองรับก็ตาม

 

ใครบ้างที่สนับสนุนกฎหมายนี้

– ร่างกฎหมายนี้ได้รับการเสนอขึ้นโดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภา ซึ่งก่อตั้งโดยสมาชิกที่ออกจากพรรคจอร์เจียนดรีมมาแล้ว แต่ยังคงครองเสียข้างมากในรัฐสภาอยู่

 

– นอกจากนี้พรรคจอร์เจียนดรีมก็ได้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มตัว และมีการรณรงค์ให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยสมาชิกพรรคทั้งหมดได้ลงมติเห็นชอบเกือบเป็นเอกฉันท์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

 

– ด้านสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป (ECFR) เชื่อว่า พรรคจอร์เจียนดรีมมีเป้าหมายที่จะนำจอร์เจียกลับไปอยู่ภายใต้เงาอิทธิพลของรัสเซียอีกครั้ง เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 18 เดือนก่อนหน้านี้ พรรครัฐบาลของจอร์เจียมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่พยายามลดการพึ่งพิงชาติตะวันตก และค่อยๆ เบนเข็มไปหารัสเซีย

 

– กล่าวกันว่า เมื่อปี 2012 รัสเซียได้ใช้ยุทธวิธีในการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งของจอร์เจีย จนส่งผลให้ บิดซินา อิวานิชวิลี มหาเศรษฐีชาวจอร์เจีย ซึ่งทำธุรกิจใหญ่ในรัสเซียและเป็นผู้ก่อตั้งพรรคจอร์เจียนดรีม ชนะการเลือกตั้งและได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในปีดังกล่าว ก่อนที่เขาจะค่อยๆ ขับเคลื่อนนโยบายที่โน้มเอนไปหารัสเซียมากขึ้น

 

– รายงานของ ECFR ระบุเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ความรับผิดชอบส่วนใหญ่ในการสกัดไม่ให้จอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกของ EU จึงตกอยู่กับผู้มีอำนาจและอดีตนายกรัฐมนตรีบิดซินา อิวานิชวิลี เจ้าของพรรคจอร์เจียนดรีม ซึ่งขณะนี้ได้ก้าวขึ้นเป็นพรรครัฐบาล

 

ชะตากรรมของจอร์เจียจะจบแบบยูเครนหรือไม่

– ในประเด็นนี้ นักวิเคราะห์ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันระหว่างจอร์เจียและยูเครน โดยทั้งสองต่างเป็นอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต ซึ่งก้ำกึ่งว่าจะเข้าพวกกับชาติตะวันตกหรือรัสเซียดี ขณะที่ ECFR ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ของจอร์เจียกับเหตุที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนในปี 2014 และ 2022

 

– ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำหุ่นเชิดภายใต้เงาของปูติน เคยกล่าวในปี 2011 ว่า รัสเซียมีความจำเป็นที่จะต้องส่งกองกำลังทหารเข้าบุกจอร์เจียเมื่อปี 2008 ไม่เช่นนั้นนักการเมืองที่เป็นฝ่ายนิยมตะวันตกอาจพยายามนำจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ได้

 

– ความขัดแย้งในปี 2008 มีศูนย์กลางอยู่ที่อับคาเซียและเซาท์ออสเซเทีย ซึ่งเป็นพื้นที่ในจอร์เจียที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียประจำอยู่ หลังสงครามปิดฉากลง รัสเซียได้ประกาศรับรองเอกราชในพื้นที่ดังกล่าวในปีเดียวกัน หรือสรุปได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นเหมือนกับตอนที่รัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้กับแคว้นต่างๆ ของยูเครนในสงครามครั้งล่าสุดไม่มีผิด

 

– แม้สงครามที่เกิดขึ้นในจอร์เจียจะกินเวลาแค่เพียง 4 วัน แต่ดูเหมือนว่าโมเดลดังกล่าวจะผลักดันให้ปูตินใช้ยุทธการเดียวกันในการบุกยูเครนเมื่อปี 2014 และในปี 2022 โดยมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือ รัสเซียหวั่นกลัวการขยายอิทธิพลของ NATO เข้ามาในทั้งสองชาติ จึงชิงบุกลงมือก่อนที่จะมีความเคลื่อนไหวใดๆ

 

ร่างกฎหมายนี้จะกระทบกับจอร์เจียอย่างไร

– ร่างกฎหมายจอร์เจียถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าอาจสร้างผลกระทบต่อภาคประชาสังคมของจอร์เจีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กร NGO และองค์กรข่าวที่มีความเชื่อมโยงกับยุโรป อีกทั้งยังอาจเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้จอร์เจียได้เข้าเป็นสมาชิกของ EU ในอนาคต โดย โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของ EU กล่าวเตือนว่า กฎหมายนี้ ‘ไม่สอดคล้องกับค่านิยมและมาตรฐานที่ EU ยึดถือ’ และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดน

 

– ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ทุกคนที่ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจอร์เจีย ยุโรป และชาติตะวันตก ‘ตกที่นั่งลำบาก’

 

– สรุปได้ว่า ประเทศพันธมิตรฝั่งตะวันตกของจอร์เจียได้ส่งสารมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะก่อผลกระทบที่ตามมาอย่างแน่นอน เพราะเกี่ยวพันกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงความพยายามในการเข้าเป็นสมาชิกของ EU ด้วย

 

– อย่างไรก็ตาม พลังมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงทำให้รัฐบาลยอมถอยในท้ายที่สุด โดยแถลงการณ์จากพรรครัฐบาลระบุว่า ทางพรรคจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าว ‘อย่างไม่มีเงื่อนไข’ เพื่อลดการเผชิญหน้ากันในสังคม ขณะที่ผู้แทนของสหภาพยุโรปประจำจอร์เจียได้กล่าวชมการตัดสินใจล่าสุดนี้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

 

– ต้องติดตามกันต่อว่า การตัดสินใจถอยของพรรคจอร์เจียนดรีมครั้งนี้เป็นการถอยไปตั้งหลัก เพื่อลดแรงเสียดทานในสังคมหรือไม่ หรือจะมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคตอีกไหม

 

ภาพ: Vano Shlamov / AFP

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising