×

ทำความรู้จัก DR คืออะไร แล้วในตลาดหุ้นไทย มี DR อะไรบ้าง

23.02.2022
  • LOADING...

ท่ามกลางภาวะตลาดที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความเสี่ยง การลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจทำให้มีความเสี่ยงเพิ่ม และเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงที่สภาวะตลาดย่ำแย่

 

เทรนด์ในระยะหลังนี้ ผู้ลงทุนไทยจึงเน้นการกระจายการลงทุนไปตลาดต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัด และความเสี่ยงพึงระวังรออยู่ไม่ใช่น้อย ผู้ลงทุนจึงมองหาทางเลือกลงทุนในต่างประเทศที่มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่ง DR ก็คือหนึ่งในทางเลือกนั้น 

 

DR หรือ Depositary Receipt ถูกกล่าวถึงในระยะหลังค่อนข้างมาก ในฐานะผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนในต่างประเทศประเภทหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ในการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ 

 

THE STANDARD WEALTH จึงชวนมาทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ DR ผ่าน 8 คำถามสำคัญ เพื่อให้ผู้ลงทุนค้นพบคำตอบและสามารถตัดสินใจลงทุนได้เหมาะสม 

 

1. DR คืออะไร

Depositary Receipt หรือ DR คือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ  ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น หรือ ETF ในต่างประเทศได้ โดยผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้น 

 

โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้น หรือ ETF ต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท ซึ่งผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหมือนไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศโดยตรง 

 

ดังนั้น ผู้ออก DR จึงไม่ใช่บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่จะทำหน้าเป็นผู้ที่ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนนักลงทุน ขณะที่ผู้ลงทุนที่ถือครอง DR จะเปรียบเสมือนกับถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านใบ DR ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เนื่องจากซื้อขายด้วยเงินบาท ใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป  

 

2. ลงทุนใน DR แตกต่างจากไปลงทุนหุ้นต่างประเทศเองอย่างไร

การลงทุนใน DR จะเหมือนการถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศ แต่ DR มีความสะดวกมากกว่าผู้ลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องการซื้อขายที่ DR จะซื้อขายได้สะดวกกว่าหุ้นทั่วไป เพราะ DR นั้นซื้อขายได้ขั้นต่ำครั้งละ 1 DR (1 หน่วย) ขณะที่หุ้นทั่วไปจะซื้อขายกันขั้นต่ำที่ Board Lot ละ 100 หุ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ดังนี้ 

 

 

3. ลงทุนใน DR ได้อะไร

ผู้ที่ถือ DR จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเสมือนถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ โดยตรง โดยแบ่งผลตอบแทนออกเป็น 2 ส่วน

 

  1. กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ที่นักลงทุนจะได้รับหากสามารถขาย DR ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตอนที่ซื้อมา แต่หากทิศทางราคาไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็มีโอกาสขาดทุนเช่นกัน  

 

  1. เงินปันผลหรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เมื่อไรที่หุ้นแม่ หรือ ETF ประกาศจ่ายเงินปันผล ผู้ถือ DR ก็จะได้รับเงินปันผลเช่นเดียวกัน แต่ก็มีเงื่อนไขเล็กน้อย คือเงินปันผลที่เราจะได้รับนั้น จะถูกหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในสัญญารับฝาก (ถ้ามี) เราจึงต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน จะได้ไม่พลาดเมื่อคิดจะเริ่มลงทุน DR

 

4. ลงทุนใน DR มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ในการซื้อขาย DR จะมีตัวกลางที่เรียกว่า Market Maker ซึ่งเป็นผู้ที่นำคำสั่งซื้อจากนักลงทุนที่เข้าซื้อ DR ไปดำเนินการซื้อหุ้นในต่างประเทศ ดังนั้น DR จึงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  • ค่าธรรมเนียมซื้อขาย หรือค่าคอมมิชชัน ซึ่งจะเหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป
  • ค่าธรรมเนียมที่ผู้ออกอาจเรียกเก็บ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่จ่ายสิทธิประโยชน์ เช่น เงินปันผล หรือ เก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญารับฝาก DR 

 

5. เลือก DR เลือกอย่างไรดี

ผู้ลงทุนควรพิจารณาลงทุนใน DR ตามคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาออกเป็น DR ได้ ดังนี้

 

  1. ต้องเป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ

 

  1. ต้องเป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีมูลค่าตามราคาตลาดเฉลี่ย 15 วันทำการย้อนหลังไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

 

  1. ต้องเป็น ETF ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตามที่ ก.ล.ต. กำหนด

 

6. ความเสี่ยงจากการลงทุนใน DR มีอะไรบ้าง

ด้วยผู้ลงทุนที่ถือครอง DR เปรียบเสมือนกับถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศ ดังนั้น ความเสี่ยงจึงอยู่ที่ความผันผวนและปรับลดลงของราคา DR โดย 3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคา DR มีดังนี้

 

  1. ราคาของสินทรัพย์อ้างอิงในต่างประเทศ​: ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นแม่ล้วนขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สภาพโดยรวมตลาด และเศรษฐกิจของประเทศที่สินทรัพย์อ้างอิงนั้นทำการซื้อขายอยู่ด้วย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถรับรู้ได้จากการติดตามข้อมูลข่าวสาร 

 

โดยสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ได้กำหนดให้ผู้ออก DR ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีการเปิดเผยในต่างประเทศ และนำข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาเผยแพร่แก่นักลงทุน DR ผ่านช่องทางการเผยแพร่ข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ลงทุน DR ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการลงทุนใน DR ได้อย่างเหมาะสม และเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญกับหลักทรัพย์ต่างประเทศ ผู้ออก DR จะขอให้มีการขึ้นเครื่องหมายต่างๆ เช่น XD, H, SP ตามหลักทรัพย์ต่างประเทศในตลาดแม่ เพื่อให้นักลงทุน DR ได้รับข่าวสารที่เท่าเทียมกัน 

 

  1. อัตราแลกเปลี่ยน: แม้จะสามารถซื้อขาย DR ได้ในตลาดหุ้นไทยด้วยเงินสกุลบาท แต่เวลาที่ซื้อขายนั้นก็ต้องอ้างอิงกับราคาหุ้นหรือราคาสินทรัพย์อ้างอิงในต่างประเทศ อ้างอิงกับเงินสกุลนั้นๆ ที่สินทรัพย์จดทะเบียนอยู่ ดังนั้นเมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลงก็ย่อมส่งผลกับราคา DR ในตลาดหุ้นไทย แพงกว่า หรือ ถูกกว่า ในบางช่วง ซึ่งค่าเงินทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางเงินไหลเข้าหรือเงินไหลออกแต่ละประเทศ โดย DR ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ในต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินด้วยเช่นกัน

 

  1. ความต้องการของนักลงทุน: เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ทั่วไปที่เมื่อมีแรงซื้อเข้ามามาก ราคาก็อาจจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติได้ ใน DR เอง ปัจจัยด้านความต้องการซื้อหรือขายผ่านตลาดหุ้นไทยมากกว่าปกติในบางช่วงเวลา ซึ่งอาจทำให้ราคา DR เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์อ้างอิงในต่างประเทศอาจคลาดเคลื่อนกัน ดังนั้น ในการพิจารณาก่อนเข้าซื้อ นักลงทุนควรดูในเรื่องของราคาว่ามีความผิดปกติหรือไม่ก่อนที่จะเข้าซื้อทุกครั้ง

 

7. ผลตอบแทนจากการลงทุน DR เสียภาษีหรือไม่ 

กำไรจาการซื้อขาย DR จะได้รับการยกเว้น Capital Gain Tax เหมือนการซื้อขายหุ้นในตลาด ในขณะที่เงินปันผลรับต้องนำไปนับรวมเป็นเงินได้พึงประเมิน

 

8. ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมี DR อะไรบ้าง 

สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมี DR ซื้อขายอยู่แล้ว คือ

 

  1. E1VFVN3001 ซึ่งเป็นตราสาร DR ที่อ้างอิง E1VFVN30 ซึ่งเป็น ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 อันเป็นดัชนีหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของประเทศเวียดนาม โดย E1VFVN3001 ออกโดย บล.บัวหลวง และถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในหุ้นเวียดนาม เนื่องจากสามารถซื้อขายได้แบบเรียลไทม์

 

  1. BABA80 ซึ่งเป็นตราสาร DR ที่อ้างอิงหลักทรัพย์บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ออกโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้เสนอขายแบบ Initial Public Offering (IPO) จำนวน 2,000 ล้านหน่วย ราคาเสนอขายสุดท้ายที่ 5.116379 บาทต่อหน่วย

 

ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X