×

ยุบสภาคืออะไร ทำไมต้องยุบสภา

03.02.2023
  • LOADING...

ยุบสภา: เครื่องมือทางการเมือง

ในระบอบประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา สำหรับประเทศไทย ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เครื่องมือทางการเมืองที่ใช้เพื่อระงับความขัดแย้ง และกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถที่จะเดินหน้าทำงานต่อไปได้คือ ‘การยุบสภา’

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับได้บัญญัติถึงเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การยุบสภา’ ไว้ในตัวบทกฎหมายมาโดยตลอด

 

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ในมาตรา 103 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียว

 

ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

 

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางกฎหมาย มี 6 ส่วนที่สำคัญคือ

 

  1. การยุบสภา เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอเท่านั้น
  2. การยุบสภาต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
  3. การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
  4. การยุบสภามีได้เฉพาะก่อนสภาสิ้นอายุ 
  5. การยุบสภาทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
  6. การยุบสภานำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

ยุบสภา: เครื่องมือถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร vs. ฝ่ายนิติบัญญัติ

หากพิจารณาจากการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจะแบ่งแยกได้ 3 อำนาจคือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 3 อำนาจดังกล่าวถูกกำหนดกลไกให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกัน

 

อำนาจบริหารที่นำโดยนายกรัฐมนตรีและอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งมีองค์กรที่สำคัญเรียกว่า ‘รัฐสภา’ ล้วนเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ อธิบายแบบง่ายๆ คือ ประชาชนเลือกผู้แทนฯ หรือ ส.ส. เข้าสภา ในขณะที่ ส.ส. ในสภาที่รับมอบอำนาจจากประชาชนมาเลือกผู้นำฝ่ายบริหาร หรือนายกฯ อีกที แต่ทว่ากลไกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจในการเลือกนายกฯ ด้วย

 

กล่าวโดยสรุปคือ เป็นเหมือนการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันอย่างไม่เด็ดขาด ดังนั้นการยุบสภาอาจมีปัจจัย 2 อย่าง คือ

 

  1. เพื่อถ่วงดุลฝ่ายบริหารต่อฝ่ายนิติบัญญัติ (นายกฯ ถ่วงดุล ส.ส.)
  2. เพื่ออุทธรณ์ข้อขัดแย้งของสภา ข้อขัดแย้งทางการเมืองต่อประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกผู้แทนใหม่อีกครั้ง

 

อะไรบ้างที่นำไปสู่การยุบสภา

 

  1. ฝ่ายบริหารขัดแย้งต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ไม่ผ่านกฎหมายสำคัญ
  2. ส.ส. และ ส.ว. ขัดแย้งกันอย่างหนัก ทำงานร่วมกันไม่ได้ ไม่ผ่านกฎหมายสำคัญ (ฝ่ายนิติบัญญัติขัดแย้งกันเอง)
  3. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ หรือเพิ่มเติม 
  4. เร่งการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น
  5. ชิงความได้เปรียบในห้วงที่รัฐบาลกำลังได้รับความนิยมจากประชาชน 
  6. ตั้งรัฐบาลไม่ได้
  7. บริหารประเทศผิดพลาดร้ายแรง
  8. ประชาชนเรียกร้องให้ยุบสภา

 

โอกาสที่รัฐบาลประยุทธ์จะยุบสภามีแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย วันที่ 23 มีนาคม 2566 จะเป็นวันครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร ในหลายเดือนที่ผ่านมา พรรคการเมือง รวมถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างชัดเจน นับตั้งแต่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในไม่ช้านี้ 

 

เพื่อให้ ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคก่อนลงสมัครเลือกตั้งได้ร่นระยะเวลาสังกัดพรรคการเมืองมาเหลือเพียง 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง แทนการปล่อยให้หมดอายุสภา เพราะจะต้องสังกัดพรรค 90 วัน

 

การคาดการณ์เรื่องไทม์ไลน์ในการยุบสภา ดูจะเป็นกระแสร้อนแรงและมีความเป็นไปได้สูง ทั้งฝ่ายรัฐบาลบางคนออกมาพูดเอง หรือแม้กระทั่งสภาพการทำงานของ ส.ส. ในปัจจุบันที่องค์ประชุมล่มรายวัน ไม่สามารถทำงานได้ 

 

มีการคาดการณ์ว่าอาจมีการยุบสภาได้ 3 แบบ

 

  1. ยุบสภา 1 สัปดาห์ก่อนสภาครบวาระ คือวันที่ 15 มีนาคม 2566 
  2. ยุบสภาก่อนสภาครบวาระ 1 วัน คือวันที่ 22 มีนาคม 
  3. ยุบสภาในห้วงเดือนมีนาคม 2566 ในวันใดวันหนึ่ง 

 


 

เกาะติดทุกความเคลื่อนไหวของ การเลือกตั้ง 2566 สร้างการมีส่วนร่วมและเรียนรู้กระบวนการทางการเมืองผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ครบทุกเรื่องต้องรู้ก่อนเข้าคูหา 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X