×

เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบจาก EV จีน

03.04.2024
  • LOADING...
อุตสาหกรรมยานยนต์

กลายเป็นประเด็นร้อนเขย่าวงการยานยนต์ไทย เมื่อ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยบทวิเคราะห์ถึงอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่กำลังร้อนแรงในไทยว่า อีกไม่นานจะกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดรถปิกอัพของไทย และเสี่ยงถูกชิงกินรวบตลาดเพราะยักษ์ใหญ่จากจีน เนื่องจากจีนมีกำลังการผลิตสูง ต้นทุนต่ำ ปัญหาที่ตามมาอาจจะทำให้ไทยเสียเปรียบเรื่องราคา และยังสู้เรื่องการแข่งขันผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV กับจีนไม่ได้หลังจากพัฒนาเติบโตรวดเร็วแบบก้าวกระโดด

 

นับถอยหลังยานยนต์ไทย เมื่ออุปสรรคใหญ่ไม่ใช่แค่ EV

 

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการเข้ามาของ EV จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่สาเหตุที่สำคัญกว่า คือการรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินและมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก


โดย EV เป็นเพียงหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่เร่งแนวโน้มดังกล่าวการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนจะสร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น โดยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก EV แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถ ‘ปิกอัพ’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย

 

ภาพ: Tomohiro Ohsumi / Getty Images

 

EV เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ปิกอัพไทยเสี่ยงถูกชิงตลาดเช่นกัน

 

เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลกจะพบว่า จีนส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดย EV คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดจากจีนเท่านั้นในขณะที่อีก 70% ที่เหลือเป็นรถยนต์สันดาปภายในที่มีการส่งออก ‘ปิกอัพ’ รวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดส่งออกปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทย 

 

โดยเริ่มที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นในตลาดออสเตรเลียในปี 2023 ที่ปิกอัพของจีนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 8% ของยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของออสเตรเลียภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกปิกอัพไทยจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็วแม้ยังไม่มีการเปิดตัวปิกอัพ EV

 

ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 การลงทุนจีนอาจไม่ช่วยต่อยอดยานยนต์ไทย

 

การเข้ามาของทุนจีนในปัจจุบันเป็นไปเพื่อใช้กำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาดภายในประเทศมากกว่าการมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกแบบญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งจะกดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับยานยนต์จีนในการระบายสต็อกรถยนต์ อย่างไรก็ตาม จีนไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกได้ง่ายนัก ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลให้มีการกีดกันสินค้าจากจีนรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายหลักถัดไปสำหรับการระบายรถยนต์จีน 

 

โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก ASEAN-China FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า 

 

นอกจากนี้การลงทุนของจีนอาจสร้างความน่ากังวลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้นด้วยปัจจัยภายใต้ภาวะอุปสงค์และอุปทานตลาดรถยนต์ของไทยที่ปรับแย่ลง ได้แก่

  • ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศจะเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง และในอนาคตมีแนวโน้มไม่สามารถรองรับ EV จีนที่จะทะลักเข้ามาในตลาดและที่กำลังจะมีการผลิตภายในประเทศได้ทั้งหมด ทางออกที่สำคัญคือ ความสามารถในการส่งออก EV จากไทยไปยังประเทศอื่นที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตามไทยต้องแข่งกับจีนโดยตรงในตลาดส่งออกรถยนต์ในต่างประเทศจากการที่ผู้ประกอบการจีนมีการส่งออกและเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่างๆ โดยตรง จะกดดันให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีขนาดเล็กลง ทำให้โอกาสสำหรับไทยในการเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์ EV มีความท้าทายมากขึ้น

 

ภาพ: alvarez / Getty Images

 

  • มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (Domestic Value Add) ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์ EV 1 คัน ต่ำกว่าการผลิตรถยนต์ ICE อย่างมาก จากการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากต่างประเทศ ในขณะที่ในกลุ่มสินค้าเดิมที่ไทยสามารถผลิตได้มีแนวโน้มต้องลดราคาเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการจีน เพราะบริษัทจีนสามารถนำเข้าโดยตรงจากจีนด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ถึงแม้จะมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทย แต่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์จะน้อยกว่าในอดีต

 

วิกฤตยานยนต์…สายเกินแก้แล้วหรือยัง?

 

การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นั่นอาจหมายถึงโอกาสสำหรับไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงโดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles) กลับขยายตัวได้มากขึ้น 

 

“สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้านทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ยุคใหม่ที่แท้จริง และอาจช่วยยืดเวลาสำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้อีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าค่ายรถจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องเพื่อดันไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออกหากการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่อาจเอื้อให้เกิดการโอนถ่ายความรู้เทคโนโลยีให้กับไทยได้”

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบันเอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันและอนาคตหากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ 

 

“อาจจำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดและตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content Ratio) เพื่อซื้อเวลาให้ภาคยานยนต์ในระยะสั้น และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว”

 

โรงงานรถยนต์และชิ้นส่วน ‘เสี่ยงปิดตัวสูง’ หากปล่อยตามกลไกตลาด

 

สถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของบางรายที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่หากภาครัฐปล่อยไปตามกลไกการแข่งขัน ในปัจจุบันค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายได้เสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้กับ EV จีนมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สต็อกรถยนต์ ICE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังการผลิตรถยนต์ ICE เริ่มปรับลดลง 

 

แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้มากนักจากข้อจำกัดเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสินค้าและกดดันอัตรากำไรของบริษัทยานยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางรายอาจไม่สามารถสู้การตัดราคาขายแข่งได้และมีแนวโน้มขาดทุนซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง คล้ายกับสถานการณ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นต้องเผชิญในประเทศจีน ซึ่งหากมีบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวก็จะส่งผลเพิ่มเติมต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยในวงกว้างมากขึ้น

 

 

บิ๊กวงการยานยนต์มอง การเข้ามาของ EV ในไทย มีทั้งผลบวกและผลลบ

 

จาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายกิจกรรมพิเศษ บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (GPI) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การที่แบรนด์จีนเข้ามาทำตลาดในไทยจำนวนมากในปีนี้มีผลต่อตลาดยานยนต์ไทยในเชิงบวกและลบอย่างไรนั้น 

 

จาตุรนต์มองว่า การเข้ามาของแบรนด์ใหม่ๆ จากจีนและเวียดนามมีข้อดี เมื่อเกิดการแข่งขันผลดีก็ย่อมตกอยู่กับผู้บริโภคที่มีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งสังเกตได้ว่าการเข้ามาของรถไฟฟ้า EV ไม่ใช่แค่เรื่องพลังงานขับเคลื่อน แต่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่มีเพิ่มเข้ามา 

 

“แต่ค่ายรถยนต์เดิมที่อยู่ในตลาดก็ต้องพัฒนารถตัวเองให้ทัน ซึ่งหลายๆ ค่ายก็พยายามปรับ แต่ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของ EV ในไทยสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เร็วที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จึงส่งผลกระทบต่อการปรับตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแรงงาน”

 

แม้ว่าค่ายใหม่ๆ เตรียมเข้ามาเปิดโรงงานในไทย แต่รถไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนน้อยลง ธุรกิจที่เคยเป็นจุดแข็งเรื่องชิ้นส่วนก็ยังรอความชัดเจนในการปรับตัว

 

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ กลุ่มแรงงานฝีมือที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับตัวไปในทิศทางใด จึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างภาครัฐเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ช่วยพัฒนา ยกระดับความรู้เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามา รวมไปถึงมาตรการต่างๆ บางข้อเพื่อให้ไทยยังคงเป็นจุดแข็งและเป็นหนึ่งในผู้นำแรงงานและการประกอบรถยนต์” 

 

จาตุรนต์ย้ำว่า สิ่งที่ต้องการคือจุดแข็ง นอกจากเรื่องภูมิศาสตร์ในประเทศและความแข็งแกร่งที่เอื้อเข้ามาลงทุน อีกจุดสำคัญคือไทยมีคุณภาพ มีแรงงานฝีมือเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง ทำอย่างไรให้ไทยยึดจุดแข็งที่ว่ารถยนต์ที่ประกอบจากไทยได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพจนส่งออกขายไปทั่วโลก

 

ส่วนภาพรวมการแข่งขันยังคงประเมินยาก หลายอย่างยังไม่นิ่งมากพอ แบรนด์จีนที่เข้ามามากก็ไม่ได้ทำให้ตลาดโตขึ้นมากนักหากเทียบกับสัดส่วนยอดขายทั้งหมด แต่ก็ช่วยพยุงให้ตลาดไม่แย่กว่าที่เป็นอยู่ โดยธรรมชาติในระยะสั้นคนจะตื่นตัวกับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายรัฐกระตุ้นการลงทุน

 

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อทุกอย่างนิ่งก็อยู่ที่ผู้บริโภคที่จะพิจารณาคุณภาพ ความชอบ ตามไลฟ์สไตล์อยู่ดี จาตุรนต์กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising