×

เกิดอะไรขึ้นบ้างในวิกฤตยูเครน หลังปูตินหนุนเอกราชกลุ่มกบฏ-ส่งทหารเข้ารักษาสันติภาพในยูเครน

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2022
  • LOADING...
  • สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนตึงเครียดหนัก หลังเมื่อวานนี้ (21 กุมภาพันธ์) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ประกาศลงนามในกฤษฎีการับรองเอกราชแก่ 2 แคว้นในภูมิภาคดอนบัส ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (Donetsk People’s Republic: DPR) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (Luhansk People’s Republic: LPR) ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนสนับสนุนรัสเซีย

 

  • ประกาศของปูติน มีขึ้นภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงของรัสเซีย ซึ่งการลงนามในกฤษฎีกาดังกล่าว นอกจากจะเป็นการยอมรับให้ทั้ง 2 แคว้นเป็นรัฐอิสระ ยังเป็นการรับรองความมั่นคงและความปลอดภัย และเปิดทางให้กองทัพรัสเซียสามารถส่งกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปยังพื้นที่

 

  • ภายหลังการลงนามเพียงไม่กี่ชั่วโมง ปูตินได้สั่งการให้ส่งกำลังทหารข้ามชายแดนเข้าไปยังแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ โดยอ้างเพื่อปฏิบัติภารกิจ ‘รักษาสันติภาพ’ 

 

  • ในการแถลงทางโทรทัศน์ช่วงค่ำวานนี้ ปูตินระบุความจำเป็นที่ต้องรับรองเอกราชของทั้ง 2 แคว้น โดยชี้ถึงสถานการณ์รุนแรงและการนองเลือดในพื้นที่ ซึ่งเขาอ้างว่ายูเครนไม่รู้จักหนทางอื่นในการยับยั้งปัญหานอกจากใช้กำลังทหาร และเรียกร้องให้รัฐบาลเคียฟยุติการสู้รบในพื้นที่ทันที ซึ่งความรับผิดชอบทั้งหมดต่อการนองเลือดที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นของรัฐบาลเคียฟ

 

  • ขณะที่ปูตินอธิบายว่า ยูเครนนั้นเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์รัสเซีย และอ้างว่ายูเครนยุคใหม่ทั้งหมดนั้นถูกสร้างโดยรัสเซีย โดยพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนนั้นเป็นดินแดนรัสเซียโบราณ 

 

  • ปูตินยังกล่าวว่ายูเครนนั้นไม่เคยมี ‘ความเป็นรัฐ’ อย่างแท้จริง และวิจารณ์ยูเครนในยุคหลังสหภาพโซเวียต ว่าต้องการสิทธิและข้อได้เปรียบทุกอย่างจากรัสเซีย แต่ไม่เคยทำอะไรตอบแทน

 

“ตั้งแต่ก้าวแรก พวกเขาเริ่มสร้างรัฐด้วยการปฏิเสธทุกสิ่งที่รวมเราเป็นหนึ่ง พวกเขาพยายามบิดเบือนจิตสำนึก ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของผู้คนนับล้าน และคนหลายรุ่นที่อาศัยอยู่ในยูเครน” ปูตินกล่าว

 

  • นอกจากนี้ ปูตินเตือนว่า หากยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO จะส่งผลเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของรัสเซีย ซึ่งเขาเชื่อว่าชาติยุโรปและสมาชิก NATO จำนวนหนึ่งเข้าใจในความเสี่ยงนี้ แต่ถูกบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเจตจำนงของสมาชิกอาวุโสอย่างสหรัฐฯ 

 

  • ส่วนเรื่องคำขู่คว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกนั้น ปูตินมองว่าทั้งหมดเป็นเพียงข้ออ้างที่สร้างขึ้น เพื่อเป้าหมายเดียวคือยับยั้งการพัฒนาของรัสเซีย โดยไม่ได้สนใจต่อสถานการณ์ในยูเครน

 

  • ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน แถลงตอบโต้ในเช้าวันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ประณามการกระทำของรัสเซียว่าละเมิด ‘บูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครน’ และพรมแดนของยูเครนนั้นจะยังคงเป็นเช่นเดิม และยืนยันว่าไม่หวั่นเกรงต่อรัสเซียหรือใครก็ตาม 

 

“เราอยู่บนดินแดนของเรา เราไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดหรือใครก็ตาม เราไม่ได้ติดค้างสิ่งใดต่อใคร และเราจะไม่ให้อะไรกับใคร และเรามั่นใจในเรื่องนี้” เขากล่าว

 

  • การตัดสินใจของปูตินยังแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้หวั่นเกรงต่อคำเตือนคว่ำบาตรใดๆ จากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของแผนรุกรานยูเครนตามที่หลายฝ่ายจับตามองหรือไม่ 

 

  • ขณะที่รัฐบาลเครมลินเผยว่า ปูตินได้ประกาศการตัดสินใจของเขา ในการโทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งทั้ง 2 ผู้นำต่างแสดงความผิดหวัง

 

  • ทางด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก จับตามองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยคาดว่าอาจเป็นการเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ขึ้นของรัสเซีย ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ยูเครนทั้งประเทศ

 

  • ข่าวกรองจากสหรัฐฯ คาดว่า รัสเซียจะเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่ภูมิภาคดอนบัสของยูเครนในช่วงคืนนี้หรือวันพรุ่งนี้

 

  • ส่วนท่าทีของนานาชาตินั้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประณามการตัดสินใจของปูติน ในการรับรองเอกราชของ 2 แคว้นในยูเครน และได้บอกต่อผู้นำยูเครนว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะดำเนินการตอบโต้รัสเซียอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว และมีแผนใช้คำสั่งพิเศษ คว่ำบาตรทั้งด้านการค้าและการเงินต่อรัสเซียและใครก็ตามที่ทำธุรกิจในพื้นที่ขัดแย้งของยูเครน

 

  • ขณะที่ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ประกาศจะดำเนินการคว่ำบาตรตอบโต้การตัดสินใจของปูติน โดยแถลงการณ์จาก EU ประณามความเคลื่อนไหวของรัสเซียครั้งนี้ ว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนข้อตกลงมินสก์ ซึ่งเป็นข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลยูเครนทำร่วมกับผู้แทนของกลุ่มกบฏในปี 2014 และ 2015 

 

  • ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่พยายามยับยั้งสถานการณ์ผ่านการพูดคุยทางการทูตและได้โทรศัพท์พูดคุยกับปูตินเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ประณามการตัดสินใจของรัสเซีย ว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีและบ่อนทำลายอธิปไตยของยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรรัสเซีย

 

  • ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า สหราชอาณาจักรจะร่วมกับ EU ในการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซียและยืนหยัดเคียงข้างยูเครน

 

  • ขณะที่ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า ข้ออ้างของรัสเซียในการส่งกำลังทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล และคาดหวังให้ความพยายามทางการทูตสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงระหว่างรัสเซียและยูเครนได้

 

  • ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกประชุมฉุกเฉินในเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงปูติน ให้ยุติการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่ง เซอร์เก คิสลิตสยา เอกอัครราชทูตยูเครน ประจำสหประชาชาติ (UN) กล่าวประณามรัสเซีย ว่าเป็นไวรัสที่สร้างความเจ็บป่วยให้แก่ UN จากการยั่วยุให้เกิดสงครามและก่อความโกลาหลมานานกว่า 8 ปี

 

  • ขณะที่ วาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำ UN ตอบโต้ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรนั้นสนับสนุนอาวุธแก่ยูเครน และกล่าวหารัฐบาลเคียฟว่าไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคตะวันออก จนประธานาธิบดีปูตินต้องดำเนินการดังกล่าว

 

  • ด้าน จางจวิน (Zhang Jun) เอกอัครราชทูตจีนประจำ UN กล่าวต่อที่ประชุม เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจส่งผลให้เรื่องลุกลาม พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการทูต

 

  • ด้าน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การ NATO แถลงประณามการตัดสินใจของรัสเซีย โดยชี้ว่าเป็นการบั่นทอนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน รวมถึงทำลายความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 

  • สถานการณ์ตึงเครียดและความไม่แน่นอนในการเกิดสงครามนี้ ส่งผลให้หลายสายการบินของยุโรปทยอยระงับให้บริการเที่ยวบินไปยังยูเครน เนื่องจากหวั่นวิตกต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น

 

ภาพ: Photo by Adam Berry / Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X