การสู้รบที่ปะทุขึ้นในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 เมษายน) มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 56 คน และบาดเจ็บนับร้อย ซึ่งสาเหตุมาจากการแย่งชิงอำนาจภายใต้ผู้นำทหารของประเทศ
มีการปะทะกันตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั่วเมืองหลวง ในขณะที่สมาชิกของกองกำลังกึ่งทหาร Rapid Support Forces (RSF) และทหารประจำการของกองทัพซูดานต่อสู้กัน
เกิดอะไรขึ้นในซูดานกันแน่ อะไรเป็นชนวนเหตุให้การต่อสู้ปะทุขึ้น นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้
ชนวนมาจากอะไร?
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2021 ซูดานอยู่ภายใต้การบริหารของสภานายพล (Council of Generals) และมีทหารสองนายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งคือ พล.อ. อับเดล ฟัตตาห์ อัล–บูร์ฮัน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ และ พล.อ. โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักในชื่อ เฮเมดติ ผู้บัญชาการกองกำลังกึ่งทหาร Rapid Support Forces (RSF)
ทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับทิศทางที่ประเทศกำลังดำเนินอยู่ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การปกครองภายใต้การนำของพลเรือน
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่แผนการรวมกองกำลัง RSF อันแข็งแกร่งที่ประกอบด้วยสมาชิก 100,000 นายเข้ากับกองทัพ และใครจะเป็นผู้นำกองกำลังใหม่หลังจากนั้น
ทำไมการสู้รบครั้งล่าสุดจึงปะทุขึ้น?
การต่อสู้รุนแรงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 เมษายน) เกิดขึ้นหลังจากกรุงคาร์ทูมตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดมานานหลายวัน สืบเนื่องจากการที่ RSF ส่งกองกำลังไปประจำการทั่วประเทศ ซึ่งกองทัพมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นภัยคุกคาม
ก่อนหน้านี้มีความหวังว่าการเจรจาจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น
จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายใดเปิดฉากยิงก่อนในเช้าวันเสาร์ ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าการปะทะกันครั้งล่าสุดจะทำให้สถานการณ์ในซูดานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก
ด้านบรรดาผู้นำต่างชาติออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง ซึ่งรวมถึง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ผู้นำกองกำลัง RSF และกองทัพซูดาน ‘ยุติการสู้รบทันที’
ใครคือ Rapid Support Forces?
RSF ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มติดอาวุธ Janjaweed ที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนจากการต่อสู้กับกลุ่มกบฏต่างๆ อย่างโหดเหี้ยมในดาร์ฟูร์
ตั้งแต่นั้นมา พล.อ. ดากาโล ผู้นำของกลุ่ม ได้สร้างกองกำลังอันทรงพลังที่เข้าแทรกแซงความขัดแย้งในหลายประเทศของแอฟริกา เช่น เยเมนและลิเบีย รวมทั้งควบคุมเหมืองทองบางส่วนในซูดาน
นอกจากนี้ RSF ยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในการสังหารผู้คนกว่า 120 คน ที่ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติเมื่อเดือนมิถุนายน 2019
กองกำลังกึ่งทหารกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงในประเทศ
ทำไมทหารต้องเข้ามารับหน้าที่ปกครองประเทศ?
การต่อสู้ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ล่าสุดของความตึงเครียดที่เกิดขึ้นหลังจากการโค่นล้มประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์
อัล-บาชีร์ เป็นผู้นำเผด็จการที่ปกครองซูดานติดต่อกันมานานเกือบสามทศวรรษ จนประชาชนออกมาประท้วงขับไล่ตามท้องถนน และในที่สุด เขาถูกกองทัพซูดานทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2019
หลังการรัฐประหาร มีการเรียกร้องให้พลเรือนเข้ามามีบทบาทในแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
มีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมระหว่างทหารและพลเรือน แต่ถูกล้มล้างด้วยรัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2021
และตั้งแต่นั้นมาการแข่งขันระหว่าง พล.อ. บูร์ฮัน กับ พล.อ. ดากาโล ก็ทวีความรุนแรงขึ้น
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีการบรรลุกรอบข้อตกลงในการคืนอำนาจสู่มือของพลเรือน แต่การเจรจาเพื่อสรุปรายละเอียดล้มเหลว
จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้?
หากการต่อสู้ยังดำเนินต่อไปอาจทำให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยงๆ และทำให้การเมืองในซูดานปั่นป่วนวุ่นวายยิ่งขึ้น
บรรดาผู้นำต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความพยายามในการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองแบบพลเรือน จะหมดหวังในการหาทางให้นายพลทั้งสองพูดคุยกัน
ในยามนี้เคราะห์ร้ายจึงตกไปอยู่กับชาวซูดานตาดำๆ ที่จะต้องใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนอีกคำรบหนึ่ง
แฟ้มภาพ: Getty Images
อ้างอิง: