×

เกิดอะไรที่ชายแดนแม่สอด หลังทหารเมียนมาเปิดฉากสู้รบกับ KNU ผู้คนต้องอพยพหนีตายเข้าไทย

โดย THE STANDARD TEAM
28.12.2021
  • LOADING...
ชายแดนแม่สอด

“รบเพื่อเอกราช เยี่ยงบรรพบุรุษ ชนชาติมองโกเลีย ชนชาวกะเหรี่ยง รบเพื่อกอทูเล” นี่คือท่อนหนึ่งของเพลง กอทูเล เพลงสะท้อนการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำสาละวินมานานกว่า 2,000 ปี แต่ถูกชนชาติพม่า (เมียนมา) ขับไล่แย่งชิงแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็น ‘สงครามความเกลียดชัง’ 

 

ปี 2492 องค์กรสหภาพกะเหรี่ยง หรือ KNU ประกาศปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ โดยต่อสู้แบ่งแยกดินแดนซีกตะวันออกของเมียนมา ตลอดฝั่งน้ำเมยและลุ่มน้ำสาละวิน ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นเขตปกครองตนเอง โดยพวกเขาเรียกแผ่นดินผืนนี้ว่า ‘กอทูเล’ ดินแดนบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่วร้ายทั้งมวล มีรัฐบาลแห่งชาติและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติเป็นตัวแทนทางการเมืองและการทหาร 

 

รายละเอียดข้างต้นคือข้อมูลจากดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สื่อสารการเมือง) เรื่อง การสื่อสารทางการเมืองผ่านบทเพลงของ ยืนยง โอภากุล และวงคาราบาว ในช่วงปี 2524-2552 โดย เชาว์วัจน์ พาณิชย์เสรีวิศิษฐ์

 

นั่นคือบริบทของเรื่องราวส่วนหนึ่งที่ปรากฏในการรับรู้ของคนไทยผ่านเพลงของวงคาราบาว ก่อนที่จะเกิดความพยายามเจรจาหยุดยิง เจรจาสันติภาพ ในปี 2558 

 

ขณะที่ปัจจุบัน ปี 2564 เกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มต่างๆ ใกล้พื้นที่แม่สอด THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลถึงปัจจัย ความเคลื่อนไหว และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปสำหรับท่าทีของรัฐไทย 

 

– นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ที่รัฐบาลเมียนมาลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับ 8 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดย 1 ใน 8 คือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ตามมาด้วยการเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ที่นำไปสู่การมีรัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)  

 

– มูลเหตุศึกแม่น้ำสาละวินระหว่างทหารกองทัพเมียนมาและ KNU ที่ปะทุอีกครั้ง อาจถือได้ว่ามาจากการยึดอำนาจรัฐบาล ออง ซาน ซูจี โดย มิน อ่อง หล่าย เพราะหลังจากเกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีข่าวว่าประชาชนที่ออกมาคัดค้านของทหารพม่าบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและเยาวชน ได้ฝึกยุทธวิธีการรบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึง KNU ด้วย จัดตั้งเป็นกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force: PDF) และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 KNU กองพล 6 ได้ส่งกำลังคุ้มกันผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่รัฐกะเหรี่ยง 

 

– เดือนมีนาคม-เมษายน 2564 เกิดการรบพุ่งอย่างดุเดือดริมแม่น้ำสาละวินกับทหารกะเหรี่ยง KNU ภาพจำเวลานั้นคือ กองข้าวปริศนาที่กองทัพเมียนมาต้องการจะส่งเสบียงจากจังหวัดเมียวดี ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้กับฐานทหารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งตลอดเส้นทางแม่น้ำสาละวินเป็นเขตอิทธิพลของกองพล 5 กองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดของ KNU

 

– วันที่ 21 กันยายน 2564 ความตึงเครียดระหว่าง KNU และกองทัพเมียนมา ได้เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่อีกครั้ง เมื่อกองทัพเมียนมาเริ่มดำเนินการโจมตีเพื่อค้นหานักเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ครั้งแรกของกองทัพเมียนมาในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง 

 

– การต่อสู้ระหว่างทหารเมียนมาและ KNU ได้ขยายวงกว้างออกไป จากเดิมแนวปะทะอยู่แค่ในเขตเมียวดี ซึ่งเป็นเขตดูแลของ KNU กองพล 6 แต่ขณะนี้เริ่มมีการปะทะในเขตพื้นที่การดูแลของกองพล 7 ซึ่งอยู่เหนือเมืองเมียวดีขึ้นไป ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

 

– อีกปัจจัยหนึ่งที่การรบปะทุในพื้นที่เมียวดีที่ติดกับชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพราะในช่วงหลายปีที่เมียวดีได้เติบโตอย่างรวดเร็ว เงินลงทุนจำนวนมหาศาลมาจากนักธุรกิจจีน และเชื่อมโยงกับการลงทุนธุรกิจต่อเนื่องมากมาย เช่น ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น จึงมีการผลักดันให้มีการสร้างแหล่งพลังงานแห่งใหม่ โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กองทัพเมียนมาโจมตีทหารกองกำลัง KNU กองพล 5 ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพื้นที่แม่น้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทย-รัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา เพื่อที่ทหารเมียนมาจะได้ควบคุมพื้นที่สร้างเขื่อนให้ได้ 

 

– วันที่ 15 ธันวาคม 2564 หน่วยข่าวกรองรัฐบาลเมียนมาทราบว่าฝ่ายสนับสนุน ออง ซาน ซูจี ซ่องสุมกำลังอยู่ในเมืองใหม่เลเก่ก่อ จึงเกิดการปะทะกับ KNU ที่ผนึกกำลังกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนในพื้นที่เมืองใหม่เลเก่ก่อ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำเมยมาพักอาศัยอยู่ในฝั่งไทยด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทำให้ชาวบ้านกว่า 3,000 คน ต้องพลัดถิ่น 

 

– วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก ชี้แจงสถานการณ์สู้รบระหว่างทหารเมียนมากับ KNU ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทย และได้ประท้วงไปยังรัฐบาลเมียนมาผ่านช่องทางคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) จากกรณีที่กระสุนไม่ทราบชนิด/ไม่ทราบฝ่ายที่ตกลงบริเวณริมแม่น้ำเมยของฝั่งไทย ให้ระมัดระวังเรื่องการใช้อาวุธ ทางฝั่งไทยพร้อมตอบโต้ หากมีกระสุนตกฝั่งไทย

 

– วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ชาวบ้านหลายพันคนได้อพยพหนีการสู้รบจากจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มายังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด ศูนย์สั่งการชายแดน ไทย-เมียนมา จังหวัดตาก รายงานว่า กองอํานวยการร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมายังคงดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการดําเนินการตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมถึงการไม่สนับสนุนให้ใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง

 

– วันที่ 23 ธันวาคม 2564 เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนสำหรับชาวบ้านกว่า 10,000 คนที่หนีภัยจากการโจมตีของทหารพม่าในเลเก่ก่อ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ซึ่งขณะนี้ผู้หนีภัยครึ่งหนึ่งได้ข้ามแม่น้ำเมยเข้ามายังประเทศไทยแล้ว 

 

– วันที่ 24 ธันวาคม 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่ในวันเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในย่างกุ้ง ออกแถลงการณ์ร่วมกับ 17 ประเทศ ว่าด้วยเรื่องการโจมตีพลเรือนในรัฐกะเหรี่ยง โดยระบุว่า ขอประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่กระทำโดยรัฐบาลทหารพม่าทั่วประเทศ 

 

– วันที่ 25 ธันวาคม 2564 พรรคก้าวไกลตั้งคำถามถึงท่าทีรัฐบาลไทย โดยว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก้าวไกล จังหวัดตาก ระบุพื้นที่สู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายกับชุมชนที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในฝั่งไทยนั้น ส่วนใหญ่ห่างกันเพียงระยะแม่น้ำสาละวินกั้นอยู่เพียง 600 เมตรเท่านั้น และการใช้อาวุธโดยเฉพาะจากฝั่งกองทัพเมียนมาที่เน้นอาวุธยิงวิถีโค้งแบบหวังผล ทำให้การสู้รบที่ฝั่งเมียนมามีลูกระเบิดจำนวนหนึ่งตกข้ามมายังฝั่งไทย จนเกิดความเสียหายขึ้นกับทรัพย์สินของประชาชนในฝั่งไทย สิ่งที่กังวลและเห็นใจประชาชนฝั่งเราคือชาวบ้านส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่กันไม่ได้แล้ว ที่น่าเห็นใจมากคือผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลไทยเร่งพูดคุยกับทางการเมียนมาโดยเร็ว ลดผลกระทบจากการสู้รบที่จะเกิดกับประชาชนในฝั่งไทยให้น้อยที่สุด

 

– วันที่ 27 ธันวาคม 2564 สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้หนีภัยจากการสู้รบในพื้นที่อำเภอแม่สอดกว่า 5,000 คน ล่าสุดหลังจากที่ทหารรัฐบาลเมียนมาได้ใช้อาวุธปืน ค.120 ยิงใส่ฝ่ายกะเหรี่ยง 3 จุด ที่บ้านแม่วาคี, บ้านแม่ตอตะเล และบ้านเลอเตก่อ ตรงข้ามบ้านดอนไชย ตำบลแม่ตาว และบ้านโซซิเมียน ตรงข้ามบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด 

 

– ท่าทีรัฐไทยที่ออกมาในวันเดียวกันผ่าน พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นห่วงว่าอาจมีเหตุการณ์สู้รบและปะทะกันรุนแรง ดังนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องดูแลและดำเนินการคือปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทยเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามความจำเป็น ทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงได้เตรียมแผนอพยพประชาชนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว หากมีการหนีภัยเมื่อเข้ามา หน่วยงานความมั่นคงจะประสานตรงไปถึงรัฐบาลเมียนมา และหน่วยกองกำลังที่อยู่ตามชายแดน

 

– ทั้งนี้ ท่าทีรัฐไทยยังไม่มีทีท่าจะเข้าไปให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ภายในเมียนมาแต่อย่างใด

 

– ปัญหาที่น่ากังวลนอกจากความเสี่ยงภัยด้านทรัพย์สิน การกระทบต่อชีวิตของคนชายแดน ยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดอีกด้วย 

 

– ล่าสุดเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติยังยืนยันว่า ผู้ที่หนีการสู้รบเข้ามาตามแนวชายแดนในปัจจุบันยังไม่พบการติดเชื้อโควิด แต่ได้พูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกองกำลังในพื้นที่จังหวัดตาก เรื่องการรับผู้หนีการสู้รบตามที่นายกฯ เป็นห่วงและกำชับให้มีการคัดกรอง หากพบว่ามีลักษณะเสี่ยงติดเชื้อจะคัดแยกและแจ้งทางจังหวัดให้ดำเนินการรักษาต่อไป 

 

และนี่คือปัจจัย ความเคลื่อนไหว สิ่งที่จะเป็นต่อไป และท่าทีรัฐไทย กรณี #แม่สอด

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X