กองทัพซีเรียปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในจังหวัดอิดลิบที่มีชายแดนติดกับตุรกีเมื่อช่วงเย็นวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้ทหารตุรกีเสียชีวิตอย่างน้อย 33 ราย ขณะที่ตุรกีประกาศพร้อมตอบโต้ ด้านรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย ได้ส่งเรือรบหลายลำเข้าใกล้ชายฝั่งซีเรียแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ
เกิดอะไรขึ้นในซีเรีย
กองกำลังของซีเรียที่สนับสนุนโดยรัสเซียพยายามยึดคืนพื้นที่ในจังหวัดอิดลิบจากกลุ่มกบฏที่หนุนหลังโดยตุรกี แต่หลังจากที่กลุ่มกบฏยึดเมืองชาราเกบกลับคืนมาได้ ทำให้ทหารของระบอบอัสซาดใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ส่งผลให้ทหารซีเรียเสียชีวิตอย่างน้อย 33 นาย และบาดเจ็บอย่างน้อย 35 นาย
ขณะที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่าตุรกีไม่ได้แจ้งให้รัสเซียทราบว่าทหารตุรกีได้ร่วมสู้รบกับฝ่ายกบฏเพื่อขับไล่ทหารของอัสซาดในจังหวัดอิดลิบ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกีเรียกประชุมฉุกเฉินเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูง จากนั้นกองกำลังตุรกีได้ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีหลายเป้าหมายในซีเรียทั้งภาคพื้นและทางอากาศเพื่อแก้แค้น พร้อมขู่ด้วยว่าจะโจมตีทุกเป้าหมายที่ทราบ
ขณะที่สื่อรัสเซียรายงานว่า รัสเซียได้ส่งเรือรบ 2 ลำเข้าไปลอยลำใกล้ชายฝั่งซีเรียเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์แล้ว
สถานการณ์ที่ตึงเครียดทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม โดยมีรายงานว่าตุรกีอาจผ่อนปรนมาตรการควบคุมคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนเพื่อเปิดทางให้คลื่นผู้อพยพในซีเรียเดินทางข้ามตุรกีไปลี้ภัยในยุโรปได้
สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ
การสู้รบระหว่างกองทัพของอัสซาดกับฝ่ายกบฏดำเนินยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2011 หลังเกิดกระแสลุกฮือปฏิวัติโค่นล้มอำนาจผู้นำเผด็จการทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือ ‘อาหรับสปริง’
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาอัสซาดถูกนานาชาติกล่าวหาว่าใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบกลุ่มกบฏ ส่งผลให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
สหประชาชาติรายงานว่า มีพลเรือนในซีเรียเสียชีวิตอย่างน้อย 134 รายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยจำนวนนี้รวมเด็ก 44 คน ขณะที่โรงเรียนและโรงพยาบาลถูกทำลายเสียหายจากการสู้รบ
และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 กุมภาพันธ์) มีเด็กเสียชีวิต 7 คนจากเหตุโจมตีทางอากาศที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอิดลิบ
สำหรับจังหวัดอิดลิบนั้นถือเป็นที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏ โดยจังหวัดดังกล่าวมีประชากรอาศัยมากกว่า 3 ล้านคน
ปฏิกิริยาของนานาชาติ
เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้ต่อสายหารือกับ เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกี โดยประณามการโจมตีทางอากาศครั้งนี้
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยืนยันจุดยืนว่าจะยืนเคียงข้างตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตร NATO พร้อมเรียกร้องให้ทหารอัสซาดยุติการโจมตี และระบุว่าขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ เพื่อคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้
ส่วน อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียด และเรียกร้องให้หยุดยิง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: