×

เจาะปมฉุดหุ้น ‘ณุศาศิริ’ สูญมาร์เก็ตแคปเฉียด 2 หมื่นล้าน ทั้งธุรกิจขาดทุน-ผู้ถือหุ้นใหญ่ฟ้องกันเอง นักวิเคราะห์มองเสี่ยงขาดสภาพคล่อง

26.12.2023
  • LOADING...

ราคาหุ้นของ บมจ.ณุศาศิริ หรือ NUSA ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีย้อนหลัง โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ราคาหุ้นสูงสุดอยู่ที่ 1.83 บาท มีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 2.39 หมื่นล้านบาท จนล่าสุดถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ราคาหุ้นร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 0.30 บาท ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปลดลงเหลือเพียงประมาณ 3.9 พันล้านบาท เพียงไม่ถึง 2 ปี สูญมาร์เก็ตแคปไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท จากหลายประเด็นข่าวและข้อมูล รวมถึงผลการดำเนินงาน 5 ปีย้อนหลังที่ขาดทุนมาตลอด ระดับ 400-900 ล้านบาทต่อปี 

 

จุดปรับกลยุทธ์สำคัญธุรกิจของ NUSA เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปีก่อนหน้า NUSA ใช้เงินลงทุน 850 ล้านบาท รุกสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาพอร์ตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผลการดำเนินงานไม่ดี โดย NUSA เข้าซื้อหุ้นบิ๊กล็อตของ บมจ.เด็มโก้ หรือ DEMCO สัดส่วน 23.27% จากนั้นในช่วงต้นปี 2565 ประเดิมซื้อหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) สัดส่วน 7.12% บริษัทธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมามีคดีความข้อพิพาทมายาวนาน 9 ปี จนศาลอังกฤษมีคำตัดสินให้ ณพ ณรงค์เดช อดีตผู้ถือหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH

 

ดีลยักษ์เพิ่มทุน PP หมื่นล้านแลกหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ สู่ Backdoor Listing 

 

ขณะที่ NUSA ยังรุกธุรกิจลงทุนพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ประกาศออกหุ้นเพิ่มทุน PP ราคา 0.90 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมไม่เกิน 11,748.28 ล้านบาท เพื่อใช้ทำ Share Swap หรือชำระแลกกับหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ เพิ่มอีก 26.65% จากบริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด (TONE) บริหารงานโดยบุคคลใน ‘ตระกูลกิตติอิสรานนท์’ ซึ่งอีกสถานะหนึ่ง ตระกูลนี้ยังเป็นผู้ถือใหญ่ใน NUSA ด้วย ส่งผลให้เมื่อดีลจบ NUSA เข้ามาถือหุ้น WEH ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวม 49.98% 

 

ส่งผลให้​ในวันถัดมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ NUSA ชี้แจงข้อมูลคำนวณขนาดรายการได้มาซึ่งหุ้น WEH เตือนให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีคำเตือนเช่นเดียวกัน ทำให้ในที่สุด NUSA ต้องกลับลำรวมขนาดรายการการเข้าซื้อหุ้น WEH ทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้นให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ทางอ้อม (Backdoor Listing) แม้ว่าก่อนหน้านี้จะชี้แจงว่าดีลการแลกหุ้น PP กับหุ้นของ WEH ไม่มีเจตนาจะทำ Backdoor Listing  

 

ตามมาด้วยวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่ง NUSA ชี้แจงข้อมูลงบการเงินไตรมาสที่ 3/66 ซึ่งผู้สอบบัญชียังคงแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม สิทธิเครื่องหมายทางการค้า ใบอนุญาตต่างๆ ในประเทศเยอรมนี และมูลค่าเงินมัดจำรวม 937 ล้านบาท 

 

โดย NUSA ได้ออกมาชี้แจงในทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวแล้วดังนี้ 

  1. โรงแรม Panacée Grand Hotel Römerbad ตอนนี้ NUSA ได้สิทธิ์เป็นเจ้าของแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอน เพียงรอแค่ใบอนุญาตดำเนินการโรงแรม สามารถกลับรายการสินทรัพย์เป็นบวก พร้อมตีราคาตลาด รับรู้กำไรทันที .
  2. การขายทรัพย์สิน คือโครงการค้างสต็อก หากดูเงื่อนไขการขายแล้วผู้ซื้อต้องลงทุนอีกจำนวนมากกับแปลงที่ดินเปล่า โดยกรณีนี้หากผู้ซื้อได้กำไรต้องแบ่งกำไรให้ NUSA ครึ่งหนึ่ง
  3. กู้เงินมีการวางประกันถึง 5 เท่า โดยหากเปรียบเทียบกับราคาทุนกับราคาตลาดจะใช้ข้อมูลที่ต่างกัน เพราะหากเทียบราคาตลาดกู้เงินมีการวางประกัน 2 เท่ากว่า

 

จับตาผู้ถือหุ้นใหญ่ฟ้องบอร์ด กรณีอนุมัติขายสินทรัพย์กว่า 1 หมื่นล้าน

 

ตามมาด้วยประเด็นร้อนแรงอีกครั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เมื่อ ประเดช กิตติอิสรานนท์ กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NUSA รวมถึงยังเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร กรรมการ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ กับพวก ยื่นฟ้องบริษัทและกรรมการบริษัทจากการประชุมบอร์ด NUSA ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 อนุมัติให้ผู้บริหารขายทรัพย์สินบริษัทล็อตใหญ่ จำนวน 6 รายการ มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 70% ของทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวมีทั้งหุ้นของวินด์ เอ็นเนอร์ยี่, หุ้น DEMCO และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งให้เหตุผลว่าผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพราะยังไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติขายทรัพย์สินดังกล่าว โดยศาลได้ประทับรับฟ้องคดีแล้ว

 

โดยมีจำเลย 8 รายในคดีนี้ ประกอบด้วย 

  1. บมจ.ณุศาศิริ 
  2. วิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 8
  3. สมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์ 
  4. ศิริญา เทพเจริญ  
  5. สมคิด ศริ 
  6. สิรินงคร์นาถ เพรียวพานิช 
  7. พิบูลย์ วรวรรณปรีชา 
  8. ธีรธัช โปษยานนท์

 

และในวันที่ 21 ธันวาคม บมจ.ณุศาศิริ แจ้งว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทยังไม่ได้รับการแจ้งรายละเอียดของคดีที่ระบุว่าบอร์ดบริษัทบางรายถูกฟ้องร้องกรณีขายทรัพย์สินบริษัทฯ และยังไม่ได้มีนัดหมาย สอบถามจากศาลยุติธรรมแต่อย่างใด 

 

นักวิเคราะห์ แนะเลี่ยงหุ้น NUSA เสี่ยง Money Game 

 

นักวิเคราะห์รายหนึ่งเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันไม่มีนักวิเคราะห์ที่ออกบทวิเคราะห์ครอบคลุมหุ้น NUSA เนื่องจากโครงสร้างการทำธุรกิจที่มีความซับซ้อน อีกทั้งมีผลการเดินงานที่ขาดทุนมาต่อเนื่อง จึงขาดปัจจัยพื้นฐานในการมาสนับสนุน รวมถึงยังถูกมองว่าเป็นหุ้นที่มีลักษณะเป็นหุ้น Money Game ซึ่งมีประเด็นความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงแนะนำให้ ‘หลีกเลี่ยงการลงทุน’

 

นอกจากนี้ NUSA ยังมีกระแสเงินสดที่ไม่ค่อยดี มีความเสี่ยงเกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องในอนาคตขึ้นได้ แม้ปัจจุบันจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่ 0.50 เท่าซึ่งถือว่าไม่สูง แต่ยังมีปัญหากระแสเงินสดที่ยังติดลบ ซึ่งทำให้มีความจำเป็นในการต้องจัดหาเงินกู้ยืมเข้ามาใช้ในการลงทุนค่อนข้างสูง แต่สร้างกำไรกลับมาได้ไม่ทัน 

 

ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงหากไม่สามารถขอกู้ยืมเงินต่อ (Rollover) ได้ในรูปแบบต่างๆ ก็เสี่ยงจะมีปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้นได้ โดยในปี 2567 NUSA มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 1.2 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้สินระยะยาวอีกประมาณ 2.2 พันล้านบาท รวมหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 3.4 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทมีสต็อกโครงการอสังหาริมทรัพย์รอขายมูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งแม้หากขายได้หมดก็ยังมีเงินไม่เพียงพอในการนำมาชำระคืนหนี้ที่มีได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อว่าบริษัทจะมีวิธีในการบริหารจัดการหนี้ที่มีอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X