กองทัพอากาศตัดสินใจเลือกแบบเครื่องบินขับไล่โจมตีรุ่นใหม่เป็น Gripen E/F ที่ผลิตในประเทศสวีเดน เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-16 Block 15 ในฝูงบิน 102 และ 103 ที่ใช้งานมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว โดยโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะละ 4 ลำ เพื่อจัดหาเครื่องบิน 12 ลำ มูลค่ารวมเกือบ 6 หมื่นล้านบาท เริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 เป็นต้นไป
โดยโฆษกกองทัพอากาศให้เหตุผลในการเลือก Gripen E/F ในครั้งนี้ว่า เครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนต้องเป็นเครื่องบินที่มีขีดความสามารถดีกว่าเครื่องบินขับไล่โจมตีที่กองทัพอากาศมีใช้งานในปัจจุบัน มีความเหมาะสมในด้านคุณสมบัติร่วมและความต่อเนื่อง (Commonality & Continuity) สามารถพัฒนาต่อยอดตามยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศและกองทัพไทยได้ในอนาคต รวมถึงต้องมีการดำเนินการตามนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ (Offset Policy) เพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ
โดยจากการพิจารณาพบว่า Gripen E/F มีขีดความสามารถที่ตอบสนองความต้องการทางยุทธการตามหลักนิยมและยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ ทั้งยังมีอิสระในการใช้งาน และสามารถพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติการร่วมหลายมิติ (Multi-Domain Operations) ระหว่างกองทัพอากาศร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ภายใต้แนวความคิดการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต รวมถึงสอดคล้องกับกรอบงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับการจัดสรร
ทั้งนี้ มีข่าวเหมือนกันว่าคะแนนของ Gripen ชนะคู่แข่งอย่าง F-16V ของสหรัฐอเมริกาถึง 10 ข้อ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นด้านใดบ้าง แต่ถ้าลองวิเคราะห์ก็อาจจะเป็น
- ระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเรดาร์ของ Gripen มีคุณสมบัติบางประการที่ F-16 ไม่มี
- ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมการณ์
- ระบบ Datalink แบบ Link T ซึ่งใช้ร่วมกับเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้า Saab 340 AEW และกองทัพเรือได้ รวมถึงกองทัพอากาศสามารถพัฒนาต่อเนื่องเพื่อใช้งานเองได้
- ห้องนักบินเป็นจอภาพใหญ่และเป็นทัชสกรีน
- ระบบอาวุธ ซึ่งสามารถติดตั้งจรวด Meteor ที่เป็นจรวดอากาศสู่อากาศที่มีประสิทธิภาพสูงได้
- ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่ต่ำกว่า
- ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเตรียมเครื่องให้พร้อมสำหรับเที่ยวบินถัดไปสั้นกว่า และใช้คนสนับสนุนน้อยกว่า
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สามารถพัฒนา Link T ได้เอง และเป็น National Datalink
- การส่งมอบ Offset ที่มากกว่า เนื่องจากรัฐบาลสวีเดนสนับสนุนอย่างเต็มที่
- ข้อจำกัดในการใช้งานที่น้อยกว่า
แต่ทั้งนี้ ถ้าจะวิเคราะห์ถึงข้อเสียแล้ว Gripen ก็มีบ้าง เช่น
- มีผู้ใช้น้อยกว่า ยอดผลิตน้อยกว่า ทำให้อาจมีข้อกังวลด้านอะไหล่ในอนาคต
- ยังไม่เคยออกสนามรบจริง มีเพียงการปฏิบัติการภายใต้กรอบของสหประชาชาติไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่ Gripen เคยเข้าร่วม ต่างกับ F-16 ที่มีประสบการณ์และจุดเด่นในสงครามซึ่งสร้างชื่อเสียงมายาวนาน
- การที่ Gripen ยังใช้เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ F414 ของ GE ทำให้สวีเดนยังต้องขออนุญาตสหรัฐฯ ขาย Gripen ให้ไทย รวมถึงอาจมีข้อจำกัดการใช้งานของ Gripen อยู่บ้าง
นอกจากนั้น โฆษกกองทัพอากาศยังให้เหตุผลว่า Gripen E/F มีข้อเสนอตามนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ทั้งทางตรงในการสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง เพื่อยกระดับมาตรฐานเข้าสู่ในระดับสากล และการชดเชยทางอ้อมในการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรในต่างประเทศทั้งภายในกองทัพอากาศและประชาชนทั่วไปให้มีความรู้และทักษะความชำนาญขั้นสูง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเกษตรกรรม ตลอดจนการสร้างศูนย์นวัตกรรมที่นำไปสู่การเสริมสร้างผลผลิตในการสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ในระยะยาวต่อไป
ซึ่งการส่งมอบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือ Defense Offset ให้กับประเทศไทยนั้นอาจจะเป็นทั้งการจัดหาหรือผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทย หรือให้ผู้ผลิตนำบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ไซเบอร์ การเกษตร ยานยนต์ หรือการขนส่ง เพื่อสร้างมูลค่าย้อนกลับให้เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศไทยเกิดธุรกิจและการลงทุนใหม่แล้ว คนไทยยังมีโอกาสทำงานในตำแหน่งงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายรัฐบาลก็จะได้ผลตอบแทนกลับไปในรูปแบบของภาษีจากการดำเนินธุรกิจเหล่านั้น
นี่ถือเป็นมิติใหม่ในการซื้ออาวุธของไทย โดยมีรายงานว่าข้อเสนอของสวีเดนจะส่งมอบ Offset ให้กับประเทศไทยด้วยมูลค่าถึง 130% ของมูลค่าสัญญาโดยรวม หรือจะพูดได้ว่ามี Offset Value ราว 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดจากเม็ดเงินที่ใช้การลงทุนจริง คูณกับตัวคูณที่กำหนดไว้จากการคำนวณว่าจะสร้างการเติบโตและเงินในระบบเศรษฐกิจเท่าไร ออกมาเป็นตัวเลข Offset Value นี้
อย่างไรก็ตาม การประกาศเลือกแบบเป็นเพียงขั้นตอนแรกในการดำเนินการเท่านั้น ยังต้องมีการเจรจาอีกมากจากหลายฝ่าย รวมถึงต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการตัดสินใจและการลงนามในสัญญา ซึ่งคาดว่าถ้าทุกอย่างเรียบร้อยกองทัพอากาศจะสามารถลงนามในสัญญาได้ในช่วงกลางปี 2568
ภาพ: Copyright Saab AB