×

ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 บอกอะไรเรา แล้วในปีนี้มีอะไรที่ควรต้องกังวล

22.02.2021
  • LOADING...
ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 บอกอะไรเรา แล้วในปีนี้มีอะไรที่ควรต้องกังวล

ปี 2563 เป็นปีแห่งฝันร้ายทางเศรษฐกิจของคนไทยทุกคน แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ติดลบร้อยละ 6.1 จะดีกว่าที่ทุกสำนักคาด และดีกว่าที่คาดกันไว้ว่าอาจจะติดลบใกล้เคียงเลขสองหลักเมื่อช่วงกลางปีมาก แต่ก็เป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี รองจากการหดตัวร้อยละ 7.6 ในปี 2541 เท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากขนาดของการหดตัวที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์เพิ่งแถลงไปเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งผมขอยกมาเล่าสู่กันฟัง 4 ประการ ดังนี้

 

ประการแรก แม้อัตราการขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะยังติดลบ แต่อัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter-on-quarter growth: QoQ) ที่ปรับฤดูกาลแล้วในไตรมาส 4 เท่ากับร้อยละ 1.3 เป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ชี้ถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจ และต่อให้อัตราการขยายตัวแบบ QoQ จะกลับมาติดลบจากผลพวงของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ก็น่าจะเป็นเพียงแค่ในไตรมาสแรกของปีนี้ไตรมาสเดียว (ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะติดลบ เพราะดูสถานการณ์เริ่มดีขึ้น) ทำให้เศรษฐกิจปีนี้จะไม่เข้าเกณฑ์ถดถอยทางเทคนิค ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบ QoQ ต้องติดลบติดต่อกันสองไตรมาส

 

ที่สำคัญ ขนาดของอัตราการขยายตัวแบบ QoQ ในไตรมาส 4 ที่ร้อยละ 1.3 นั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการขยายตัวแบบ QoQ ในภาวะปกติที่ประมาณ 0.9 พอสมควร ทั้งๆ ที่โควิด-19 เริ่มระบาดระลอกใหม่ในช่วงท้ายไตรมาสแล้ว แสดงถึงแรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าที่ค่อนข้างดี ถ้าไม่ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เศรษฐกิจปีที่แล้วน่าจะหดตัวในช่วงร้อยละ 5 เท่านั้น และเศรษฐกิจปีนี้ก็จะมีจุดตั้งต้นที่ดีกว่าในปัจจุบันมาก

 

ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยไม่ใช่เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ในปีที่แล้ว ประเทศในภูมิภาคที่โชคร้ายกว่าเรา คือ ฟิลิปปินส์ ที่เศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 9.5 ทำลายสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอินเดียที่ตัวเลขทั้งปียังไม่ออก แต่ก็คาดกันว่าจะหดตัวในระดับใกล้เคียงกันกับฟิลิปปินส์ 

 

นอกจากนี้ หลายประเทศที่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่าเราก็ไม่ได้ดีกว่ามากนัก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ (หดตัวร้อยละ 5.4 ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์สิงคโปร์), มาเลเชีย (หดตัวร้อยละ 5.6) หรือญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 4.8) แต่ก็มีประเทศที่ดีกว่าพอสมควร เช่น อินโดนีเชีย (หดตัวร้อยละ 2.1), เกาหลีใต้ (หดตัวร้อยละ 1.0), จีน (ขยายตัวร้อยละ 2.3) และไต้หวัน (ขยายตัวร้อยละ 3.0) ซึ่งไต้หวันเป็นกรณีที่น่าทึ่งมาก เพราะอัตราการขยายตัวเท่ากับปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิด-19 เลย เทียบกับจีนที่แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวเช่นกัน แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างมีนัยจากร้อยละ 6.1 ในปี 2562

 

ประการที่สาม การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากปีก่อน หลังจากติดลบติดต่อกันสองไตรมาส แม้ตัวเลขนี้จะดูต่ำ แต่จริงๆแล้วต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก เพราะในทุกประเทศที่ผมหยิบยกมาข้างต้น ยกเว้นจีน มีอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ติดลบ กระทั่งไต้หวันที่จีดีพีรวมขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชนยังหดตัวร้อยละ 1.1 ซึ่งอัตราการขยายตัวเป็นบวกของไทยนี้ไม่ควรเป็นที่กังขา เพราะดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเพื่อติดตามภาวะการบริโภคภาคเอกชนรายเดือนก็ขยายตัวเป็นบวกในไตรมาส 4 เช่นกัน

 

คำถามคือทำไมไทยถึงทำได้ดีกว่าคนอื่น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งช่วยเติมสภาพคล่องและสร้างความมั่นใจในการใช้จ่ายให้กับประชาชน มาตรการที่รัฐร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายหลายมาตรการมีผลดีมาก สะท้อนจากไส้ในของตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่โตจากการใช้จ่ายในหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ได้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้ จึงเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปในช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ ซึ่งจะทำให้การประคับประคองเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีปัจจัยลบเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องตระหนักว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการในปัจจุบันมีต้นทุนทางการคลังสูง โดยที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน จริงๆ แล้ว การเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงทั้งประเทศ หรือแม้แค่ในบางพื้นที่ยุทธศาสตร์โดยเร็วที่สุด น่าจะคุ้มค่ากว่าในแง่ของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่อเม็ดเงินที่รัฐต้องจ่ายออกไป แต่ช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ก็คงต้องซื้อเวลาด้วยมาตรการเหล่านี้ไปก่อน

 

ประการที่สี่ การลงทุนภาคเอกชนทั้งปีที่แล้วติดลบสูงมากที่ร้อยละ 8.4 ตัวเลขนี้ในตัวเองไม่ได้แปลกอะไร เพราะปกติการลงทุนภาคเอกชนจะเหวี่ยงมากกว่าตัวเลขจีดีพีรวมอยู่แล้ว ประเด็นอยู่ที่สภาพัฒน์คาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนปีนี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะโอเค แต่ถ้าส่องดีๆ จะพบว่าตัวเลขนี้สูงกว่าคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีรวมที่ร้อยละ 2.5-3.5 ไม่มาก และน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนภาคเอกชนที่หายไปปีที่แล้ว จึงเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมาก

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงทุนเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่เหมือนกับการบริโภคที่บริโภคหมดแล้วก็หมดไป และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า ศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนรวม (รัฐและเอกชน) ต่อจีดีพี การกระตุ้นการลงทุนขนานใหญ่จึงเป็นโจทย์สำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพราะต่อให้เศรษฐกิจปีหน้าพุ่งทะยานจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สามารถคงการขยายตัวปีต่อปีในระดับที่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปีได้ ถ้าการลงทุนภาคเอกชนไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอย่างมีนัย

 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising