×

นักลงทุนไทยพลาดอะไรบ้าง เมื่อตลาดหลักทรัพย์ปรับเกณฑ์เผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้น

16.04.2021
  • LOADING...
นักลงทุนไทยพลาดอะไรบ้าง เมื่อตลาดหลักทรัพย์ปรับเกณฑ์เผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้น

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหลักทรัพย์ปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กำหนดให้เผยแพร่ 10 อันดับแรก จากเดิมต้องเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นที่ถือเกินสัดส่วน 0.5% 
  • ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องเกณฑ์การเผยแพร่ข้อมูลในปัจจุบัน และเป็นไปตามเกณฑ์ PDPA
  • นายกสมาคม VI ระบุ การเข้าถึงข้อมูลถูกจำกัดมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ย้ำตลาดหลักทรัพย์ควรเป็นแหล่งพอกพูนประสบการณ์การลงทุน 

เมื่อปลายปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์ได้แจ้งการปรับปรุงระบบ PSIMS สำหรับไตรมาส 1/2564 หนึ่งในนั้นมีการปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การเผยแพร่ข้อมูลในปัจจุบัน และเป็นไปตามเกณฑ์ Personal Protection Data Act (PDPA) โดยปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้น จากเดิมกำหนดให้ส่งข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.5% เป็นเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่เฉพาะ 10 รายแรก เรียงตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา  

 

แหล่งข่าววงการตลาดทุนระบุว่า การปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนที่ใช้ชุดข้อมูลผู้ถือหุ้นประกอบการตัดสินใจลงทุนสูญเสียการเข้าถึงข้อมูลแวดล้อมไป โดยจากการรวบรวมข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า ชุดข้อมูลหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง จากปกติที่เคยรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นได้ราว 9,400 รายชื่อ เหลือเพียง 5,300 รายชื่อเท่านั้น 

 

อีกทั้งการลดจำนวนชุดข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่สวนทางกับนโยบายตลาดหุ้นอื่นในระดับสากล ซึ่งส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้เผยแพร่ข้อมูลให้มากที่สุด และให้ผู้ลงทุนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสมอภาค

 

ขณะเดียวกัน จากการติดตามเกณฑ์ PDPA พบว่า ปัจจุบัน PDPA ยังไม่ได้กำหนดหรือให้นิยามเกี่ยวกับรูปแบบหรือวิธีการนำใช้ชุดข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงตั้งคำถามว่า การปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลครั้งนี้ดำเนินการรวดเร็วเกินไปหรือไม่ และเป็นการนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่เสมอภาคหรือไม่

 

THE STANDARD WEALTH จึงได้สอบถามความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวแทนจากกลุ่มผู้ลงทุน

 

วีระพงษ์ ธัม นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลครั้งนี้ค่อนข้างย้อนแย้งกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส 

 

ยกตัวอย่างเช่น เกณฑ์การเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำหนดให้กองทุนต่างๆ เผยแพร่รายชื่อบริษัทที่เข้าลงทุนเป็นรายบริษัท เพราะเชื่อว่าผู้ถือหน่วยมีสิทธิ์รับรู้ว่าเงินลงทุนกระจายไปลงทุนในหุ้นบริษัทใดบ้าง ขณะเดียวกันฝั่งบริษัทจดทะเบียนเองก็เผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งหมดว่ามีบุคคลหรือนิติบุคคลใดบ้างเข้ามาถือหุ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีแง่มุมของการสูญเสียโอกาสจากการพลาดข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มก็ใช้ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น กลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนตาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ หลังจากศึกษาสไตล์และเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของนักลงทุนคนดัง หรือกลุ่มนักลงทุนที่เลือกหุ้นจากการศึกษาสไตล์การลงทุนของนักลงทุนผู้มากประสบการณ์

 

“การได้เห็นรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังสามารถบอกสไตล์หรือคาแรกเตอร์ของหุ้นนั้นๆ ด้วย มีนักลงทุนบางกลุ่มที่ดูข้อมูลแล้วสามารถรู้ได้ว่าหุ้นใดหวือหวาหรือเป็นหุ้นนิ่ง เน้นสร้างพื้นฐานโดยดูจากรายชื่อผู้ถือหุ้น” 

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีการนำรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาใช้เป็นชุดข้อมูลสร้างความคาดหวังต่อราคาหุ้นเช่นกัน

 

ซึ่งหากตลาดหลักทรัพย์ปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นครั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลชี้นำราคาหุ้น ส่วนตัวมองว่า ตลาดหลักทรัพย์ควรเป็นแหล่งพอกพูนประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนทุกคนมากกว่า การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อปกป้องนักลงทุนอาจทำให้สูญเสียโอกาสไป 

 

นอกจากนี้เท่าที่ติดตามข้อมูลของทาง PDPA ทราบว่า ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการนำใช้ และยังไม่ได้บังคับใช้ จึงคิดว่า หากมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนของ PDPA ออกมาแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จะมีการพิจารณาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ใหม่อีกครั้ง และอาจมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาใช้รูปแบบเดิม 

 

สอดคล้องกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าชั้นแนวหน้า (Value Investor) และนักเขียนหนังสือ ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงการเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นครั้งนี้เป็นการจำกัดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ทั้งนี้ ยอมรับว่า ไม่ใช่นักลงทุนทุกคนที่ต้องการรู้รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุน แต่กลุ่มที่ใช้ชุดข้อมูลนี้ประกอบการตัดสินใจลงทุนตลอดก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน 

 

ฉะนั้นชุดข้อมูลต่างๆ ควรจะเผยแพร่ให้สาธารณะรับรู้ต่อไป รวมถึงควรเผยแพร่อย่างเสมอภาคด้วยเช่นกัน 

 

กรณีของการปรับปรุงการเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ให้เหลือเพียง 10 อันดับแรก ทำให้ต้องตั้งคำถามเรื่องความเสมอภาคในการเข้าถึงข้อมูลด้วย 

 

“ส่วนตัวไม่ได้เห็นเอกสารอย่างเป็นทางการของตลาดหลักทรัพย์ แต่ในเรื่องการปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าหากบริษัทจดทะเบียนเป็นฝ่ายขอข้อมูลผู้ถือหุ้นทั้งหมด จะได้รับข้อมูลตามที่ขอหรือไม่ หากได้ ก็เท่ากับเกณฑ์ใหม่นี้กำลังสร้างความไม่เสมอภาคด้านการเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุน” 

 

แหล่งข่าวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้แจงว่า คณะทำงานของตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องการปรับปรุงการเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นได้ศึกษารายละเอียดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ PDPA มาตั้งแต่ปลายปี 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้นำมาปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับ PDPA

 

โดยคณะทำงานได้ยึดหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ จากนั้นจึงได้ปรับปรุงการเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ปลายปีที่แล้ว และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นการนำมาปฏิบัติก่อนที่เกณฑ์ PDPA จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีเวลาในการปรับตัวกับการปรับปรุงการเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ครั้งนี้

 

นิยามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ใช้ประกอบเกณฑ์การเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นนี้ คือ

 

  1. ถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่าหรือเท่ากับ 10% 
  2. มีสัดส่วนการถือหุ้นใน 10 อันดับแรกของหลักทรัพย์นั้นๆ 

 

ฉะนั้นชุดข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นยังคงถูกเผยแพร่แก่สาธารณะในระดับที่นักลงทุนที่อาศัยข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 

 

“การปรับปรุงการเผยแพร่รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ PDPA จะต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลก่อน ในกรณีนี้ก็คือเจ้าของชื่อผู้ถือหุ้นนั้นๆ และบริษัทจดทะเบียนที่ผู้ถือหุ้นรายนั้นๆ ถือหุ้นอยู่ ซึ่งหากรายชื่อนั้นเข้านิยามผู้ถือหุ้นใหญ่ตามที่บอก ก็จะต้องเผยแพร่ข้อมูลตามเกณฑ์ แต่หากไม่เข้านิยาม PDPA ก็จะให้สิทธิ์สงวนข้อมูล”

 

ต่อกรณีที่นักลงทุนกังวลว่าจะได้เห็นข้อมูลประเภทรายชื่อผู้ถือหุ้นลดลงนั้นเชื่อว่า ข้อมูลประเภทอื่น เช่น ข้อมูลสถิติด้านความเคลื่อนไหวราคาหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขาย ผลประกอบการ ฐานะทางการเงินและปัจจัยพื้นฐาน จะเป็นชุดข้อมูลที่มีประโยชน์และสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising