×

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว เมื่อไฟดับแล้ว แต่ผลกระทบยังคงอยู่

07.07.2021
  • LOADING...
ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ถอดบทเรียน ‘ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว’ เพื่อสรุปเหตุการณ์ระเบิดโรงงานผลิตโฟมที่ซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ และสรุปบทเรียนผ่านมุมมองทางสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข ร่วมถอดบทเรียนโดย รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.นพ.สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ทำความรู้จักสารในโรงงานที่เกิดเหตุ

  • ดร.พลังพล อธิบายเกริ่นว่า สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับโรงงานแห่งนี้คือโฟม EPS หรือ Expanded PolyStyrene Foam ที่มีโครงสร้างข้างในเป็นแก๊ส 95 เปอร์เซ็นต์ และมีสารเคมีจริงๆ ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่สารที่ไหม้ในโรงงานนั้นคือโมเลกุลขนาดเล็กก่อนเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่จนเป็นโฟมเกิดขึ้น ซึ่งโฟมนั้นเป็นผลลัพธ์ระหว่างอากาศและของแข็ง มีสไตรีนโมโนเมอร์ที่มีจุดหลอมเหลว -30 องศาเซลเซียส จุดเดือดที่ 145 องศาเซลเซียส และมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำ ทำให้ตัวสารลอยอยู่เหนือน้ำ ทั้งนี้ อันตรายจากการระเบิดนั้นจะพบว่า เป็นการสันดาบหรือการเผาไหม้ที่ไม่สัมบูรณ์ เกิดเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลให้เลือดของมนุษย์ไม่สามารถจับหรือถ่ายทำนำออกซิเจนได้ดี และก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายของมนุษย์ที่ได้รับสารพิษ ซึ่งอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่น ทำให้หลายคนรวมทั้งอาสาสมัครสูดดมไปโดยไม่รู้ตัว

 

  • กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สารโพลีสไตรีนนั้นเป็นพลาสติก จึงต้องมีสารตั้งต้นเป็นสารสไตรีนที่เป็นโมเลกุลเล็กๆ และเป็นสารอินทรีย์ไวไฟ รวมทั้งมีสารเบนซีนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาว นอกจากนี้สารที่พบในโรงงานยังเป็นโฟมด้วย การจะสร้างโฟมนั้นต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาคือสารเปอร์ออกไซด์ (Organic Peroxide) ที่มีออกซิเจนทำให้ระเบิดง่าย และอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโฟมได้คือการอัดก๊าซเพนเทนให้พองขึ้น แต่จะนำออกภายหลังโดยที่โฟมยังคงสภาพพองอยู่ อย่างไรก็ตาม สารที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีลักษณะไวไฟด้วยกันทั้งสิ้น เชื่อว่า นับตั้งแต่การระเบิดในเวลา 03.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงประกอบด้วยการมีเชื้อไฟและมีออกซิเจน และเป็นต้นเหตุให้การดับเพลิงนั้นยากมากจนทำให้ล่วงเวลามาถึงช่วงเย็นของวันที่ 6 กรกฎาคม  

 

  • “นอกจากนี้ยังมีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ Volatile organic compound (VOC) ทั้งยังเป็นสารตั้งต้นในการทำโพลีสไตรีนด้วย จึงมีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์อย่างมาก ประเทศไทยมีกลุ่มที่ผลิตสารเหล่านี้อยู่ แต่กลุ่มพวกนี้จำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่ดีมากๆ ในการที่จะป้องกันไม่ให้สารระเหย เพราะมันส่งผลกระทบต่อคนในโรงงานและชุมชนแถวนั้น เพราะชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นอินทรีย์ระเหยง่าย ในระยะสั้นส่วนตัวคิดว่าต้องดับเพลิงให้ได้ก่อน และโดยทั่วไปเมื่อเกิด VOC ระเหยแล้ว จำเป็นต้องอพยพผู้คนออกอย่างเดียว เนื่องจากหน้ากากที่ใช้ปัจจุบันในการป้องกันโควิดไม่สามารถป้องกันสาร VOC ได้” กิติกรกล่าว และเสริมว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจหาข้อสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิดได้ แต่เชื่อว่าตัวตั้งต้นจริงๆ คือประกายไฟ ซึ่งต้องตรวจสอบว่ารั่วไหลมาจากไหน 

 

  • ในประเด็นการจัดการสถานการณ์ต่างๆ นั้น กิติกรชี้ว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจำเป็นต้องมีพนักงานชุด 2 และ 3 เข้าไปช่วย เนื่องจากบทเรียนอย่างหนึ่งที่พบหลังเหตุการณ์ไฟไหม้คือ นอกจากจะมีการเสียชีวิตจากเหตุไฟคลอกแล้ว ยังบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการสูดดมสารที่เผาไหม้ไม่สัมบูรณ์ด้วย ทำให้หมดสติจนหนีออกมาไม่ทัน โดยแนะนำว่าใครที่อยู่ใกล้แหล่งเกิดเหตุให้รีบย้ายมายังบริเวณใต้ลมไว้จะดีที่สุด นอกจากนี้ยังอยากชวนตั้งคำถามว่า แผนการรับมือเหตุรุนแรงต่างๆ ที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ เช่น แผนอพยพหนีไฟนั้นมีแค่ในโรงงานเท่านั้นเองหรือ เพราะเห็นแล้วว่าผลกระทบนั้นกระทบต่อชุมชนเป็นวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีแผนอพยพต่างๆ ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ที่สุดจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและรับรู้ต่อแผนการนี้ คนที่มีบ้านหรืออยู่ในชุมชนใกล้กับโรงงานควรได้เรียนรู้วิชาที่มีความเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ เช่น ควรทำความรู้จักสารเคมีให้เยอะขึ้นหรือไม่ ต้องรู้ว่าเกิดเหตุการณ์ต่างๆ แล้วจะต้องรับมืออย่างไร แนะว่าต้องตั้งวงคุยกันอย่างเอาจริงเอาจังกันหลายกระทรวง “และอยากฝากว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ต้องจัดการระยะสั้นให้จบก่อน ในระยะยาว ตนชัดเจนว่าสารต่างๆ ที่ระเหยออกไป ในเวลานี้มันเจอความชื้นหรือเจอฝนตก ซึ่งอาจทำให้แย่กว่าเดิม เพราะมันจะผลักสารต่างๆ ลงมาหมด อาจเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตร ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรหากสารมีความเข้มข้นสูง อาจซึมลงใต้ดิน แล้วเข้าไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ” กิติกรกล่าว

 

ผลกระทบจากสารพิษต่อร่างกายและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  • สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สารกลุ่มสไตรีนและ VOC นั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์หลักๆ คือ สร้างความระคายเคือง เวลานี้การเผาไหม้กระจายไปตามอากาศ การหายใจน่าจะเป็นการสัมผัสสารพิษมากที่สุด รองลงมาเป็นทางผิวหนัง เมื่อโดนสารพิษจริงๆ จะระคายเคืองตั้งแต่ดวงตา จมูก และปอด แล้วแต่ความเข้มข้นและใกล้สถานที่ แต่คนที่อยู่ในระยะเฝ้าระวัง เช่น 5-7 กิโลเมตร ก็อาจมีการระคายเคืองทางเดินหายใจ มีอาการตาแดง แสบจมูก ไอ เจ็บคอ และเสียงแหบ แต่คนที่โดนพิษเยอะๆ อาจมีอาการหมดสติได้ รวมทั้งพิษอื่นๆ ต่อระบบประสาท อย่างไรก็ตาม สารกลุ่ม VOC ซึ่งปรากฏในที่เกิดเหตุ ก็สร้างการระคายเคืองได้ไม่ต่างจากสารสไตรีน เพียงแต่อาจมีฤทธิ์เป็นพิษต่อตับและไตมนุษย์ด้วย 

 

  • “อย่างไรก็ดี หากมีการระคายเคืองจมูก ก็อาจรับประทานยาแก้แพ้ หรือหากทำเป็นก็ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งจะช่วยล้างอนุภาคหรือฝุ่นที่ทำให้เกิดการอักเสบ อีกอย่างที่มักจะเจอเยอะคือการระคายเคืองตา สามารถล้างตาในน้ำสะอาดได้ แต่ที่อยากเตือนคือคนที่ใส่คอนแท็กเลนส์ เนื่องจากคอนแท็กเลนส์ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับสารต่างๆ ที่ระคายเคืองโดยที่เราไม่ทราบ แนะนำให้ถอดคอนแท็กเลนส์ หากอยู่ในพื้นที่ที่สงสัยว่าเป็นพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ ก็ให้ถอดคอนแท็กเลนส์แล้วล้างตาด้วยซ้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที ส่วนการระคายเคืองด้านผิวหนังจากการสัมผัสสาร VOC, สไตรีนต่างๆ ทำให้เกิดอาการแสบระคายผิวหนัง ขึ้นเป็นผื่นได้ เบื้องต้นแนะนำให้ล้าง อาบน้ำ และถูด้วยสบู่ก่อน หากจำเป็นจริงๆ อาจใช้ครีมสเตียรอยด์ทา” สัมมนกล่าว และว่า ในควันไฟของอาคารใดๆ ก็ตาม สิ่งที่จะเจอเสมอคือคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งไซยาไนด์ เนื่องจากอาคารสมัยใหม่มักมีไนโตรเจนอยู่ในสารประกอบ เมื่อเกิดการไหม้ไฟขึ้นมาก็จะทำให้เกิดสารไซยาไนด์ในควันไฟ รวมทั้งฝุ่นควันต่างๆ ที่ทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เสียชีวิตจึงเกิดจากการสำลักควันไฟ ไม่ได้ถูกไฟลวก 

 

  • “ในโรงงานที่เกิดเหตุนั้นมีสารเคมี และเกิดเรื่องสไตรีนที่กระจายตัวออกมารวมกับสาร Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ในระยะสั้นสารเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ จนเกิดอาการแสบ ไอ จาม หรือถ้าหนักมากๆ คือปิดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน และถ้าหนักมากๆ คือเกิดปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การหายใจล้มเหลวได้ บุคลากรที่เข้าไปดูแลในสถานการณ์นั้นจริงๆ ต้องรู้ว่าจะเจอกับสารอะไร ต้องใช้เครื่องมือชนิดไหน เช่น หากว่าต้องเจอกับสารพิษเข้มข้นและเข้าไปในพื้นที่ที่มีออกซิเจนต่ำ ก็อาจต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง รวมทั้งถังออกซิเจนเข้าไป แต่ถ้าเป็นกลุ่มสารระเหยก็อาจใช้หน้ากากป้องกันสารระเหย ในกรณีนี้จึงเชื่อว่า ควรใช้อุปกรณ์ที่มีถังออกซิเจนเข้าไปด้วย” สัมมนกล่าว และว่านั่นคือเรื่องในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตินั้นจะเป็นเช่นไรต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ หน้ากากป้องกันโควิดนั้นเป็นหน้ากากป้องกันอนุภาค จึงป้องกันก๊าซพิษเหล่านี้ไม่ได้เลย

 

ผลกระทบเป็นวงกว้างจากสารพิษหลังการระเบิด

  • สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า โรงงานนั้นมีสารสไตรีนโพลิเมอร์ก็จริง แต่สารที่ควรเฝ้าระวังด้วยนั้นไม่ใช่แค่สารสไตรีน แต่เป็นควันดำที่เป็น Indicator หรือตัวบ่งชี้ของคาร์บอนมอนอกไซด์ ตลอดจนสาร PAHs เมื่อมีกระบวนการเผาไหม้จะมีสารนี้เป็นตัวการระบายหลักๆ ของโพลีสไตรีน และเป็นสารก่อมะเร็งอย่างชัดเจน โดยจะมากับฝุ่น และสร้างอันตรายให้ผู้ได้รับสารอย่างมาก “ทั้งนี้ คำว่าอันตรายและคำว่าสารก่อมะเร็งนั้นอยากระบุว่า การจะก่อมะเร็งได้นั้นต้องมีลักษณะเป็น Long Term Exposure ระดับหนึ่ง แต่เหตุการณ์ระเบิดนี้เป็นอุบัติเหตุ ความเข้มข้นที่เกิดขึ้นจึงสูงขึ้นมาระดับหนึ่ง เราจึงควรมองวิธีการแก้ปัญหาแบบผลกระทบแบบเฉียบพลัน ขณะที่ยังมีผลกระทบอีกลักษณะหนึ่งคือผลกระทบจากการได้รับกลิ่น เพราะสารบางตัวนั้นเมื่อระเหยก็อันตรายอย่างมาก กรณีนี้สารสไตรีนนั้นต่อให้มีสภาวะออกซิเจนที่ค่อนข้างสัมบูรณ์ก็ยังมีสารสไตรีนในตัวหลงเหลืออยู่ จึงควรตรวจหาค่าสไตรีนที่อาจหลงเหลืออยู่ด้วย เพราะเมื่อสารตัวนี้เผาไหม้นั้นมีโอกาสสูงมากที่จะปล่อยสารเบนซีนที่เป็นสารก่อมะเร็งออกมา จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมาก ทั้งยังอาจเกิดการแพร่กระจายได้ไกลและไปในวงกว้าง สารบางตัวมีความเป็นพิษค่อนข้างสูงด้วย” สราวุธกล่าว และเสริมว่า สารเบนซีนเป็นสารก่อมะเร็งหลัก และทำให้เราต้องมองในหลายๆ มิติ เพื่อจะช่วยทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

 

  • ทั้งนี้ สราวุธฉายภาพการเคลื่อนตัวของมวลอากาศตั้งแต่เวลา 03.00 น. ของวันที่เกิดเหตุ จะพบว่า เคลื่อนตัวจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันออก พื้นที่ทางทิศตะวันออกจึงได้รับผลกระทบ ขณะที่ล่วงเข้าช่วงกลางวัน ลมพัดขึ้นจากทางใต้ ทำให้ทิศเหนือได้รับผลกระทบตามมา พื้นที่ใดก็ตามทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากกรณีนี้คืออันตรายจากสารพิษต่างๆ และอันตรายอันเนื่องมาจากความร้อนและการระเบิด “ตัวที่มีปัญหาคือสารสไตรีน ผลกระทบแบบเฉียบพลันและความเข้มข้นที่ 100 ppm (Part Per Million: หนึ่งส่วนในล้านส่วน) ถือว่าอันตรายมาก แม้ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่ก็มีพิษ แต่ถ้าเป็นความเข้มข้นที่ 0.06 ppm และได้รับต่อเนื่องราว 1-2 วัน ก็ยังเป็นอันตรายอยู่ อีกกรณีหนึ่งคือสารที่เป็นกลิ่น ซึ่งสไตรีนมีอัตรากรณีนี้อยู่ที่ 0.016 ppm และเป็นสารที่มีกลิ่นฉุน เป็นสาเหตุให้หลายคนยังได้กลิ่นสารเคมีเวลาลงไปในพื้นที่อยู่ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่า สไตรีนควรมีอัตราต่ำกว่าการได้กลิ่น หรือก็คือต่ำกว่า 0.016 ppm ซึ่งตอนนี้เกินอยู่” สราวุธกล่าว และว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งสำคัญคือการจัดตั้ง War Room เนื่องจากจะเป็นผู้สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องออกไปด้วย ในเวลานี้เราต้องการคนที่จะสื่อสารข้อมูลเรื่องความเสี่ยงอย่างชัดเจนไปยังทุกภาคส่วน แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมี War Room ซึ่งจะเป็นผู้ปล่อยแถลงการณ์ตลอดจนข้อมูลที่ถูกต้องต่างๆ ออกมายังหน่วยงานและประชาชน ซึ่งต้องการข้อมูลที่เที่ยงตรงในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising