×

วิเคราะห์เกมสหรัฐฯ เคาะภาษีเวียดนาม ผ่านเลนส์ ‘จรีพร’ WHA ชี้ ไทยไม่เป็นรอง ได้เปรียบคู่แข่ง Supply Chain

16.07.2025
  • LOADING...
wha-us-tariff-vietnam-thailand

‘จรีพร’ WHA วิเคราะห์เกมสหรัฐเคาะภาษีเวียดนาม ชี้สินค้าเพื่อนำผ่าน (Transshipment) ป่วน ยังไม่ชัดเจนที่ 20% หรือ 40% พร้อมจับตาสงครามภาษียังไร้บทสรุป ต้องรอดูท่าทีจีน ชี้ไทยยังได้เปรียบ Supply Chain ภูมิภาค

 

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เผยในงานสัมมนา iBusiness Forum Decode 2025: The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ว่า จากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้สหรัฐ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งประเทศไทยถูกตั้งเพดานอัตราภาษีไว้ที่ 36% ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ 

 

โดยยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ยังดีเกินเป้าหมาย  และนักลงทุนยังคงเดินหน้าตามแผน และไม่มีการชะลอการลงทุนแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทเตรียมแผนปรับตัวรับสถานการณ์ตลอดเวลา พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด 

 

สำหรับมาตรการภาษี ปัจจุบันมีประเทศที่ได้ข้อสรุปการเจรจาเพียง 2 ประเทศ คือ อังกฤษและเวียดนาม ขณะที่ประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน

 

วิเคราะห์เกมสหรัฐฯ เคาะภาษีเวียดนาม : ปัญหาสินค้า Transshipment 

 

จรีพร มองกรณีเวียดนามได้ลดภาษีต่ำกว่าไทย หลายคนเข้าใจว่า ไทยต้องเสียเปรียบและเสียโอกาส แต่หากวิเคราะห์ดีๆ จะเห็นได้ว่า การลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วน วัตถุดิบจากต่างประเทศ เป็นสินค้าเพื่อนำผ่าน (Transshipment) ถึง 40% 

 

หมายความว่า เวียดนามอาจจะโดนภาษีถึง 40% กรณีสินค้ามีการสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขควบคุมสินค้าถ่ายโอนจากจีน เทียบแล้วสูงกว่าไทยที่โดนแค่ 36% ด้วยซ้ำไป

 

เนื่องจากการผลิตสินค้าในเวียดนามส่วนมากใหญ่เป็น Transshipment และข้อสรุปการขนส่งสินค้านี้ก็ยังไม่จบลง เพราะช่วงที่ผ่านมาการผลิตสินค้าในเวียดนามเติบโตโดดเด่น แต่เวียดนามใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ เรื่องนี้จึงยังไม่ชัด

 

“เวียดนามเทหมดหน้าตัก หวังจะได้ 10-12% แต่ตอนนี้ เวียดนามยังไม่รู้เลยว่าโดนเรียกเก็บภาษี  20% หรือ 40% กันแน่ หากเวียดนามคิดว่าเป็น 40% แปลว่าเขาเจอหนักกว่าไทย จะเห็นได้ว่าเขายังไม่ประกาศแสดงความดีใจขึ้นมา และรัฐบาลเองก็ยังสับสนกับเรื่องนี้ ไทยก็อย่าไปกลัวเวียดนาม เพราะส่วนใหญ่เขาเป็นสินค้า Transshipment” จรีพร กล่าว

 

ขณะที่ไทย ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บในอัตราภาษี 36% ยังต้องติดตามก่อนว่าประเทศอื่น ๆ ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร ซึ่ง WHA ได้สำรวจกับลูกค้านิคมอุตสาหกรรม พบว่าหากประเด็นมาตรการภาษีส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ก่อนหน้านี้ลูกค้าบางส่วนได้ระบุว่าอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไป 2 ประเทศ คือบราซิลและเม็กซิโก 

 

อย่างไรก็ตาม บราซิลถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าไทย และเม็กซิโกอัตรา 30% ไม่ต่างจากไทยมาก และผู้ประกอบการจีนก็ไม่ค่อยนิยมเม็กซิโก จึงต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

จับตาท่าทีจีน

 

รวมถึงดูท่าทีว่าจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร ซึ่งหากดูมาตรการภาษีการค้าสหรัฐฯ รอบนี้ จุดประสงค์ของสหรัฐคือการสกัดกั้นจีน ดังนั้นก็มีโอกาสน้อยที่จีนจะได้อัตราภาษีที่ต่ำ

 

ขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของจีน ก็มองว่าผู้ประกอบการจีนน่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปอินเดียเพราะความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนัก

 

ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 19% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงสงครามการค้าปี 2561 แต่ส่วนหนึ่งมาจาก Transshipment ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อประเทศมากนัก ไทยเองก็ต้องกลับมาดูเรื่องนี้ให้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของไทย คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ กว่า 60% ล้วนมาจากการลงทุนของบริษัทสหรัฐในไทย ซึ่งการย้ายฐานผลิตของบริษัทเหล่านี้ทำได้ยากเนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนเดิม

 

EV ช่วยหนุนซัพพลายเชนใหม่ในไทย

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของชิ้นส่วนที่ส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะรถยนต์พวงมาลัยขวา ส่วนกลุ่ม EV  ทำให้เกิดซัพพลายเชนใหม่ๆ เข้ามายังไทย  ซึ่งเน้นตลาดอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแม้จะเผชิญกับภาษีแต่ภาคการผลิตหลักของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการปรับตัว

 

“ประเทศไทยมีจุดแข็งด้าน Supply Chain และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แต่ต้องพัฒนาต่อในด้านความมั่นคงทางพลังงาน, Ecosystem ด้านยานยนต์ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการ EV ท่ามกลางความไม่แน่นอน”

 

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ ปีหน้า 2569 ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีทุกประเทศเช่นนี้ ชาวอเมริกันจะเจอกับสินค้าที่มีราคาแพงเสียเอง  

 

จรีพร ย้ำว่า ทุกภาคส่วนต้องวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านและร่วมมือกันปรับตัวเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปให้มากขึ้น เพราะไทยยังมีจุดแข็งในหลายๆ ด้าน แต่หากไม่ปรับก็จะเสียโอกาสให้เวียดนาม

 

ภาพ: Alexsl / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising