×

ยกระดับโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษในไทย เพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข และยั่งยืนสำหรับเด็กศตวรรษที่ 21 [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
09.09.2019
  • LOADING...
Wellington College

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โรงเรียนเวลลิงตันจากอังกฤษมีประวัติยาวนานกว่า 160 ปี ก่อตั้งโดยควีนวิกตอเรีย เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ดยุกแห่งเวลลิงตัน โดยเริ่มจากเปิดสอนแก่บุตรของทหารกองทัพสหราชอาณาจักรและผู้ทำความดีให้แก่ชาติ ก่อนขยายโอกาสสู่บุคคลภายนอก ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครืออยู่หลายแห่งทั้งในอังกฤษ จีน และไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งในอนาคตจะมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนกันด้วย
  • โดยปรับรูปแบบของโรงเรียนประจำที่อังกฤษมาเป็นโรงเรียนนานาชาติที่มีกิจกรรมมากมาย อาทิ กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ในด้านต่างๆ กิจกรรมเสริมทักษะ กิจกรรมเพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น กีฬา ดนตรี ภาษาต่างประเทศ และศิลปการแสดง ให้เด็กสามารถเลือกเองได้หลากหลาย บรรจุเติมลงในตารางเรียนแต่ละวัน และรวมอยู่ในค่าเทอมแล้ว
  • เป็นโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษแห่งแรกในโลกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก COBIS องค์กรชั้นนำด้านการศึกษาแห่งสหราชอาณาจักร ได้ภายในปีแรกที่เปิดการเรียนการสอน  

คุณคิดว่าหากคุณเติบโตมาในยุคนี้ที่โลกหมุนเวียนมาถึงศตวรรษที่ 21 อย่างไม่ทันตั้งตัว ถ้าคุณเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องรับมือกับเทคโนโลยี และรูปแบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงความน่าสนใจหลากหลายของแขนงการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ คุณพร้อมจะสนุกไปกับมันไหม

 

ครั้งนี้ THE STANDARD ได้พูดคุยกับสองนักการศึกษา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์ของการเรียนในหลักสูตรนานาชาติอังกฤษในไทยว่าตอบสนอง หรือช่วยสร้างสรรค์การเรียนรู้ของเด็กในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดสำหรับนักเรียนได้อย่างไร

 

Wellington College

แพรว-ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 

“หลังจากเปิดมาได้ครบปี เราจะเห็นฟีดแบ็กจากเด็กในโรงเรียนได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะจากลูกตัวเอง เขามีความสุขที่ได้มาโรงเรียนทุกวัน ได้เป็นตัวของตัวเอง เพราะที่นี่มีกิจกรรมให้ทำเยอะ ทั้งกิจกรรมเสริมทางวิชาการ เสริมทักษะที่หลากหลาย ดนตรี กีฬา ภาษา ศิลปการแสดงแขนงต่างๆ เรียกว่าเป็นชั่วโมง ‘Enrichment’ ที่เพิ่มมาในตารางเรียนให้เด็กเลือกเองเลย ไม่ใช่ผู้ปกครองหรือครูมาเลือกให้ เราแนะนำได้ แต่เด็กๆ จะเลือกเองในสิ่งที่ตัวเองชอบและสนุก สิ่งเหล่านี้ได้ผ่านการคิดมาแล้วว่าเหมาะสมกับแนวทางการพัฒนาเด็ก เราออกแบบหลักสูตรโดยนักการศึกษาเฉพาะทางจริงๆ เพราะเวลลิงตันให้ความสำคัญกับกิจกรรมพอๆ กับวิชาการ” แพรว-ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สายเลือดนักการศึกษาที่เคยเป็นทั้งอาจารย์ และมีประสบการณ์บริหารสถาบันการศึกษามากว่า 20 ปี ผู้ริเริ่มโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยเธอหวังให้เป็นมาตรฐานโรงเรียนอินเตอร์หลักสูตรอังกฤษในไทย ซึ่งลูกชายคนโตเองเรียนระดับซีเนียร์อยู่ที่สถาบันแห่งนี้ในอังกฤษ ส่วนลูกสาวคนเล็กก็เรียนในโรงเรียนใหม่ของคุณแม่ในฐานะนักเรียนรุ่นบุกเบิก

 

Wellington College

 

“เพราะเราเชื่อว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องหาให้เจอว่าอะไรคือสิ่งที่เขาสนใจ ผ่านการสังเกตการเลือกของเขา แม้แต่การเลือกที่นั่งในโรงอาหารและอาหารที่เลือก ทุกอย่างคือการสังเกตของครู ครูที่นี่จึงรู้จักเด็กทุกคน และนำข้อมูลของเด็กแต่ละคนมาแชร์กันเพราะเราทำงานเป็นทีม” ดร.ดาริกาเล่าถึงการดูแลเด็กตลอดปีแรกของโรงเรียนด้วยน้ำเสียงจริงจังแบบคุณครู แต่ทว่าเป็นกันเองเหมือนเพื่อนคุยกัน 

 

สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่เวลลิงตันได้วางแนวทางไว้ คือปรัชญา I ห้าตัวที่พร้อมจะทำให้ผู้สอน ผู้ดูแลนักเรียน และนักเรียนได้พัฒนากระบวนการคิด และศักยภาพอย่างสูงที่สุด และรอบด้านที่สุด เริ่มต้นจาก I ตัวแรกของเวลลิงตันนั่นก็คือ Inspiration หรือแรงบันดาลใจที่ครูมีหน้าที่มอบให้แก่เด็ก ผ่านการโค้ชชิ่งโดยทีมครูที่ได้รับการเทรนกันมาเป็นอย่างดี แต่เขาทำกันอย่างไรล่ะ

 

Wellington College

มร.คริสโตเฟอร์ นิโคลส์-ครูใหญ่

 

มร.คริสโตเฟอร์ นิโคลส์ ชาวอังกฤษที่เคยเป็นทั้งครู หัวหน้าครู และครูใหญ่ของโรงเรียนอังกฤษชั้นนำในหลายประเทศอย่างอังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และโปแลนด์ ก็เน้นย้ำเรื่องนี้ว่า “การโค้ชเด็กแต่ละคนให้ค้นพบแรงบันดาลใจของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ครูเป็นบุคคลสำคัญ นอกจากผมจะคัดครูมาอย่างเข้มข้น บินไปอังกฤษดูวิธีการสอนของผู้สมัครถึงในห้องเรียนที่เขากำลังสอนอยู่ด้วยตัวเองแล้ว เรายังเชิญครูจากเวลลิงตันที่อังกฤษมาเทรนให้ และมี Teacher Training ทุกสัปดาห์ ครูต้องรู้ว่าจะสอนเด็กที่เก่งหรืออ่อนอย่างไร ซึ่งวิธีการสอนเด็กแต่ละคนต่างกัน ต้องเตรียมการสอนมาก่อนเข้าห้อง ซึ่งเป็นเรื่องยากกว่าการสอนตามหนังสือมาก แต่ก็นั่นล่ะ สิ่งนี้เป็นงานของคนที่เป็นครูต้องทำ

 

“นอกจากนี้การร่วมมือกันระหว่างครูและพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ครูจะรู้จักเด็กได้ดีขึ้นผ่านการพูดคุยกับพ่อแม่เป็นการส่วนตัว เราจึงจัดวันคุยกับผู้ปกครองทุกเทอม และสนับสนุนให้ครูกับพ่อแม่ได้คุยกันบ่อยๆ อาจจะแค่สองสามนาทีทางอีเมลหรือทางโทรศัพท์ หรือการนัดมาคุยกันก็ได้ ไม่ใช่แค่เวลาลูกมีปัญหา แม้แต่ตัวผมเองซึ่งเป็นครูใหญ่ ผู้ปกครองก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้เช่นกัน”

 

Wellington College

 

สำหรับปรัชญา I ตัวที่สองของเวลลิงตันคือ Independent ซึ่งเห็นได้ชัดเจนผ่านการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของตึกเรียน ทั้งในระดับชั้นจูเนียร์จนถึงชั้นบนสุดที่ปรับให้เป็นพื้นที่ของระดับซีเนียร์ Year 7 (อายุ 11 ปี) ที่เพิ่งเปิดใหม่ในปีการศึกษานี้ ล้วนเอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

“เรามีพื้นที่ส่วนกลางที่เรียกว่า Learning Studio ซึ่งถ้าเป็นระดับจูเนียร์ก็คือพื้นที่เล่นนอกห้องเรียนตลอดทางเดินของตึก เพราะสำหรับเด็กจูเนียร์ การเล่นคือการเรียนรู้ เขาอยากเล่นเพราะเขามีแรงจูงใจที่อยากรู้อยู่ในตัว พอเขาโตขึ้นเป็นระดับซีเนียร์ เราก็ไม่อยากให้แรงจูงใจในการเรียนรู้ในตัวเขาหายไป พื้นที่ส่วนกลางของเด็กซีเนียร์อาจไม่ได้มีของเล่นหรือเกมมากมายเหมือนจูเนียร์ แต่เราทำพื้นที่ทำงานแบบ Co-working Space คือทั้งนักเรียนและครูก็จะใช้พื้นที่นี้ร่วมกัน นักเรียนนั่งทำการบ้านหาข้อมูลต่างๆ พร้อมกับได้เห็นการทำงานของครูไปด้วย หรือขอคำแนะนำจากครูได้ทันที และยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองก่อนไปถึงระดับชั้นที่สูงขึ้นไป ซึ่งโดยทั่วไปการฝึกเด็กให้ Independent แบบนี้ มักจะเริ่มที่อายุ 15-16 ปี แต่เราได้เตรียมเด็กไว้ก่อน พอถึงอายุเท่านั้นเขาก็จะไปได้ไกลและเร็วกว่าเพื่อน” ครูใหญ่กล่าว

 

Wellington College

Wellington College

Wellington College

Wellington College

 

ความทันสมัยของห้องแล็บวิทยาศาสตร์ สตูดิโอซ้อมการแสดง ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนภาษาต่างๆ และอื่นๆ ที่โรงเรียนชั้นนำพึงมี สิ่งที่น่าสนใจมากในพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเด็กซีเนียร์ก็คือ ห้องประชุมที่เรียกว่าห้องฮาร์กเนส (Harkness) ซึ่งครูใหญ่บอกว่ามันคือที่ซึ่งเด็กจะรู้จักฝึกกระบวนการคิดและการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูจะกำหนดหัวข้อทางสังคมในแง่มุมต่างๆ ให้เด็กไปศึกษาหาข้อมูลมาถกกันที่ห้องนี้ เป็น Discussion-Based Learning อาจมีครูอยู่หรือไม่มีก็ได้ ฟังแล้วทำให้เรานึกถึงผู้ที่มักมีไอเดียเจ๋งๆ ในที่ประชุม และสามารถนำเสนอให้ผู้อื่นเข้าใจและคล้อยตามได้ขึ้นมาเลย

 

Wellington College

 

“ในระดับอุดมศึกษา เรายิ่งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาจารย์ต้องไม่มานั่งสอนคอนเทนต์แล้ว เพราะถ้าถามฝั่งผู้ประกอบการ เขาไม่สนใจหรอกว่าคุณจะบวกลบคูณหารได้แม่นยำไหม เขาอยากรู้แค่คุณคิดวิเคราะห์ได้ไหม พรีเซนต์ไอเดียของคุณให้เข้าใจได้หรือเปล่า ทำ Excel เป็นไหม ฉะนั้นเราถึงต้องเตรียมเด็กของเราตั้งแต่ต้นน้ำ คือระดับจูเนียร์ให้รู้จักค้นหาข้อมูล นำมาคิดวิเคราะห์ ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดและการนำเสนอไอเดียในห้องเรียนแบบฮาร์กเนสนี้” แพรวกล่าวเสริม

 

Wellington College

 

ในมุมมองครูใหญ่ การเรียนรู้ด้วยตัวเองและบทบาทของครูที่เปลี่ยนจากผู้ส่งต่อข้อมูลมาเป็นผู้พัฒนากระบวนการคิดให้เด็ก เกิดขึ้นมานานแล้วที่ประเทศอังกฤษ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงและระมัดระวังให้มากกว่านั้นคือ ‘การให้เด็กเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย’ ทางโรงเรียนจึงสร้างสมดุลการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการหาข้อมูลกับการเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือแบบรูปเล่ม โดยยังมีห้องสมุดที่มีฟังก์ชันสุดสนุกพร้อมสไลเดอร์และถ้ำส่วนตัว กับหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่าน เพราะเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ เวลาอ่านหนังสือ เราได้จดจ่อมากกว่า ไม่เหมือนการอ่านบนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีสิ่งมารบกวนได้ง่าย เช่น อีเมลหรือข้อความเด้งขึ้นมา และการจดจ่อจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีกว่านั่นเอง

 

เห็นกิจกรรมเยอะแยะมากมายขนาดนี้ คำถามหนึ่งที่ต้องตามมาคือ ‘แล้วเรื่องวิชาการนั้นจะสำคัญน้อยลงไปไหม’ คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือปรัชญา I ตัวต่อไปนั่นคือ Intellectual ที่พ่อแม่มักกังวลว่า โรงเรียนที่เน้นกิจกรรมมากจะได้วิชาการด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ครูใหญ่ตอบให้หายสงสัยได้น่าสนใจว่า “ผมเคยถามผู้ปกครองว่าทำไมถึงส่งลูกมาเรียนโรงเรียนนานาชาติ ไม่ไปเข้าโรงเรียนทั่วไป พวกเขาตอบว่าไม่อยากให้ลูกเรียนวิชาการมาก นัยคือไม่อยากเห็นลูกคร่ำเคร่งเรียนแบบไม่มีความสุข ซึ่งสำหรับเวลลิงตัน เราคาดหวังเด็กให้เป็นเลิศทางวิชาการ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ และต้องมีความสุขในการเรียนด้วย เป็นมนุษย์ที่รู้จักสมดุลชีวิต ซึ่งเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเวลลิงตันอังกฤษ เราสามารถขอให้ครูที่นั่นมาสอนที่นี่ ทุกชั้นปีซีเนียร์ที่เปิดใหม่ เราก็จะมีครูที่พร้อมอยู่แล้ว ผมถึงมั่นใจมากในเรื่องความแข็งแกร่งทางวิชาการ ที่แม้แต่เด็กเวลลิงตันของอังกฤษ เราก็สู้ได้ ดังที่ผมเคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ตอนสัมภาษณ์กับเวลลิงตันอังกฤษเมื่อสองปีที่แล้วว่า ผมตั้งใจทำให้เด็กเวลลิงตันกรุงเทพฯ เก่งกว่าเด็กของเขาให้ได้

 

“แต่เราจะไม่ให้การศึกษาเด็กแบบ Spoon Feeding Education เพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่พอเข้าไปเรียนแล้วต้องดรอป เราจะทำให้เด็กสอบเข้าได้ในคณะที่เหมาะกับตัวเอง คือไม่ยากและไม่ต่ำกว่าความสามารถจริงๆ ของเด็ก” ครูใหญ่กล่าว

 

Wellington College

 

ปรัชญาอีกตัวที่น่าสนใจมากๆ เช่นกันนั่นคือ Individual หรือความเป็นตัวของตัวเอง เป็น I ตัวที่สี่ในการพัฒนาเด็กของเวลลิงตัน ครูใหญ่อธิบายว่าคือการสอนให้เด็กเข้าใจตัวเอง เคารพตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเองในทางที่ถูก มีหลายวิธีที่โรงเรียนใช้ปลูกฝังเด็กในเรื่องนี้ และทางหนึ่งคือหลักการ Wellbeing ซึ่งเวลลิงตันเป็นโรงเรียนแรกในอังกฤษที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยสอนให้เด็กรู้ทันอารมณ์ตัวเอง รู้จักตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ

 

ส่วน I ตัวสุดท้ายก็คือ Inclusive คือการสอนให้เคารพผู้อื่น ในโรงเรียนเอกชนแพงๆ อย่างนี้ เป็นเรื่องง่ายมากที่ผู้ปกครองและเด็กๆ จะหลงลืมไปว่าเราโชคดีแค่ไหน เราได้เรียนในโรงเรียนสวยๆ กินอาหารดีๆ ไปพักผ่อนท่องเที่ยววันหยุด ชีวิตมันดีไปหมด เราอาจไม่สามารถไปแก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ แต่เราสามารถสอนให้เด็กของเราเคารพคนอื่น เห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา นึกถึงผู้อื่น เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีต่อกัน ไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว 

 

Wellington College

 

ฉะนั้น I ตัวสุดท้ายนี้ก็คือการเห็นคุณค่าของผู้อื่น แต่กิจกรรมที่ส่งเสริมเรื่องนี้จะมีมากในกลุ่มเด็กโตระดับซีเนียร์ขึ้นไป สำหรับเด็กเล็กจูเนียร์ตอนนี้เราสอนในเรื่องทักษะการสื่อสาร มารยาท เพื่อเตรียมเขาในเรื่องทักษะทางสังคม สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนได้ทุกกลุ่ม” ครูใหญ่ปิดท้ายปรัชญาตัวสุดท้ายของเวลลิงตัน

 

แผนการขยายโรงเรียนในปีถัดไปคือการเปิดหอประชุมใหม่ความจุ 600 ที่นั่ง เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกของเด็กๆ ในโรงเรียนได้อย่างเต็มรูปแบบ จากนั้นจะทยอยเปิดระดับซีเนียร์แต่ละชั้นปีพร้อมๆ กับตึกใหม่อีกสองตึก 

 

“เราจะรอเด็กที่เราสอนมาตั้งแต่ระดับเล็กๆ นั้นโตขึ้นมาอยู่ในระดับซีเนียร์ตามวิถีแบบเวลลิงตัน ถ้าเปิดทุกระดับชั้นทันทีและรับเด็กใหม่หมด มันจะยากที่เราจะดำเนินการเรียนการสอนแบบที่เราอยากเป็นได้ ฉะนั้นการค่อยๆ เปิดซีเนียร์ทีละระดับน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด” ครูใหญ่อธิบาย สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ผลีผลามขยายโรงเรียน แต่คงคุณภาพการเรียนการสอน และนึกถึงนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่แปลกใจที่ COBIS องค์กรชั้นนำด้านการศึกษา จะรับรองให้เวลลิงตันเป็นโรงเรียนหลักสูตรอังกฤษที่ได้มาตรฐานตั้งแต่เพิ่งเปิดดำเนินการยังไม่ทันจบปีการศึกษาแรกของโรงเรียน ซึ่งครูใหญ่พูดถึงเรื่องนี้อย่างภูมิใจว่า

 

Wellington College

 

“มีโรงเรียนนานาชาติอังกฤษสมัครเป็นสมาชิก COBIS มากมาย ทางเวลลิงตันกรุงเทพฯ เองก็เช่นกัน แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะได้รับการรับรองมาตรฐาน (Accredited) เราเพิ่งเปิดโรงเรียนเมื่อปีที่แล้ว และผมก็อยากให้โรงเรียนนี้ผ่านการรับรอง จึงทำทุกอย่างตามมาตรฐาน เราจึงเป็นโรงเรียนอังกฤษแรกในโลกที่ผ่านการรับรองได้ตั้งแต่ปีที่เปิด ซึ่งผมพอใจมาก”

เพราะกรุงเทพฯ มีโรงเรียนดีๆ อยู่มากมาย คุณจะรอเวลาจนเป็นโรงเรียนที่ดีไม่ได้ คุณต้องเป็นโรงเรียนที่ดีตั้งแต่วันแรกที่เปิดเลยถึงจะประสบความสำเร็จ

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง : 

FYI
  • โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ สามารถเดินทางมาได้สะดวกด้วยแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลงที่สถานีทับช้าง
  • เปิดรับสมัครระดับซีเนียร์ Year 7 และ Year 8 (อายุ 11 ปี และ 12 ปี ในเดือนสิงหาคม) หากต้องการเยี่ยมชมโรงเรียนหรือสอบถามข้อมูล สามารถทำการนัดหมายได้ที่หมายเลข 0 2087 8888 
  • ทุกวันจันทร์และวันพุธ ทางโรงเรียนเปิดให้ผู้ปกครองสามารถมาพบกับครูใหญ่ ซึ่งจะนำเสนอการเรียนการสอน และพูดคุยพร้อมทั้งตอบคำถามผู้ปกครอง ตั้งแต่เวลา 9.00-10.00 น. และสามารถเยี่ยมชมโรงเรียนได้หลังจากนั้น
  • www.wellingtoncollege.ac.th
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising