×

สรุป! ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-ผู้พิการจะรับเงิน 10,000 บาทอย่างไร และต้องลงทะเบียนหรือไม่

19.09.2024
  • LOADING...

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) สำเร็จแล้ว ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 และคนพิการที่ได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาทอยู่แล้วตามฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จะได้รับสิทธิใน ‘โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-ผู้พิการ’ (ชื่อเดิม: ดิจิทัลวอลเล็ต) โดยไม่ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ อีก

 

โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจะได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

 

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่

 

  1. บัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน
  2. ยกเว้นกรณีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และไม่สามารถผูก PromptPay ได้ จะโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง

 

ทั้งนี้ คนพิการที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุหรือมีบัตรประจำตัวคนพิการแบบเก่า (แบบเล่ม) โดยยังไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนมีบัตรแบบใหม่ แต่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) สำเร็จแล้ว ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จะถูกรวมอยู่ในกลุ่มนี้และได้รับเงินผ่านบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน

 

ผู้พิการจะได้รับเงินผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่

 

  1. ช่องทางที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการอยู่ในปัจจุบัน (ทั้งที่รับเงินผ่านบัญชีเงินฝากและที่รับเงินสดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

 

  1. กรณีคนพิการไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ 1. จะโอนเงินผ่านบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ

 

กรณีคนพิการที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ หรือผู้ได้รับเงินเบี้ยความพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ

 

บุคคลดังกล่าวจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะได้รับโอนเงินตามโครงการฯ อย่างไรก็ดี ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ

 

การผูกบัญชี PromptPay กับเลขประจำตัวประชาชน

 

สามารถผูกบัญชีกับธนาคารใดก็ได้ที่มีบัญชีเงินฝาก โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นธนาคารของรัฐ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการผูกบัญชี PromptPay กับเลขประจำตัวประชาชนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ

 

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการควรตรวจสอบบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือบัญชีเงินฝากธนาคารให้มีสถานะปกติ (Active) เพื่อพร้อมรับเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

 

ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง

 

รอบจ่ายเงินซ้ำจะดำเนินการภายในวันที่ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ และภายในวันที่ผูกบัญชี PromptPay กับเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่

 

 

ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการจ่ายเงินซ้ำครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ

 

โฆษกกระทรวงการคลังเน้นย้ำในหลักที่ว่า คนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะได้รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือรับเงินสดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านช่องทางที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการอยู่เดิม

 

ขณะที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องมีบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน โดยมีช่องทางตรวจสอบการมีอยู่หรือผูกบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนได้หลายช่องทาง เช่น ผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) และแอปพลิเคชันของธนาคาร

 

อย่างไรก็ดี หากเป็นผู้พิการบางกลุ่มที่มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จแล้วภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ขอให้ตรวจสอบเพิ่มว่าบัตรประจำตัวคนพิการของตนเองหมดอายุหรือไม่ หรือเป็นผู้มีบัตรประจำตัวคนพิการแบบเก่า (แบบเล่ม) ที่ยังไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนเพื่อมีบัตรแบบใหม่กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยหากเป็นกลุ่มดังกล่าวนี้จะโอนเงิน 10,000 บาทให้ตามสิทธิของกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะต้องมีบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนด้วย ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า กลุ่มดังกล่าวนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย

 

เปิดช่องทางตรวจสอบผลการจ่ายเงิน

 

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการสามารถตรวจสอบผลการจ่ายเงินในวันถัดไปหลังจากวันที่จ่ายเงินผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

 

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

 

  1. เว็บไซต์ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ2567.cgd.go.th (ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป)
  2. เว็บไซต์ govwelfare.cgd.go.th (ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป)
  3. แอปพลิเคชัน ‘รัฐจ่าย’ (ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง)
  4. Call Center กรมบัญชีกลาง โทร. 0 2270 6400 ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

  1. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โทร. 0 2109 2345 ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-17.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
  2. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร. 0 2109 2345 กด 1 หรือ 5 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

ผู้พิการ

 

  1. เว็บไซต์ govwelfare.dep.go.th/check
  2. ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  3. Call Center กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โทร. 0 2354 3388 ต่อ 701-702 (หน่วยงานออกบัตรประจำตัวคนพิการ) หรือศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
  4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่คนพิการรับเงินเบี้ยความพิการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X