วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ผู้ผลิตพลังงานสะอาดรายใหญ่ของประเทศไทย เดินหน้าขยายธุรกิจรับเมกะเทรนด์ด้านพลังงานหมุนเวียน จ่อเข้าประมูลงานเพิ่มในช่วงปลายปี เพื่อผลักดันรายได้ 3 ปีแตะ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 2 พันล้านบาท เพื่อนำเงินไปสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งแนวดิ่ง (Organic Growth) และแนวกว้าง (Inorganic Growth)
บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างดี ในฐานะผู้นำด้านพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 1.088 พันล้านบาท
WEH ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมในโคราชและชัยภูมิ โดยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หรือ กฟผ. เป็นหลัก ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งและบริหารจัดการโรงไฟฟ้ารวม 717 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น 8 โครงการ ประกอบด้วย
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม FKW กำลังผลิต 103.5 MW เริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2555
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม KR2 กำลังผลิต 103.5 MW เริ่ม COD ปี 2556
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม WTB กำลังผลิต 60 MW เริ่ม COD ปี 2559
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม T1 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม T2 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม T3 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม NKS กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม T4 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ไตรมาส 1/62
โดยทั้ง 8 โครงการนี้ครองสัดส่วนมากกว่า 42% ของโควตาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ และได้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเข้าระบบแล้วถึง 1,800 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี
พลังงานลมถือเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างมาก ซึ่ง WEH สามารถบริหารจัดการกักเก็บและสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้
มุ่งขยายกำลังการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มแก่องค์กรและ Stakeholder
ปัจจุบัน WEH กำลังเตรียมความพร้อมยื่นเสนอขายไฟฟ้าพลังงานลม 9 โครงการ กำลังการผลิต 810 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ โดย WEH ประเมินว่า ในช่วงปลายปี 2565 จะมีโครงการเปิดให้ยื่นประมูลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
WEH มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 WEH มีรายได้รวม 9,972 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 10,985 ล้านบาท ในปี 2564 ขณะที่ความสามารถการทำกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50% และ WEH ได้จ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นในปี 2564 ทุกไตรมาสรวม 30.50 บาทต่อหุ้น
ส่วนผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกปี 2565 WEH มีรายได้รวม 5.1 พันล้านบาท โดยรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณลมลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนรายได้อื่นสูงกว่าปีที่แล้วมาจากกำไรจากเงินลงทุนในระยะสั้นที่ยังไม่รับรู้ 470 ล้านบาท ส่วนในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้นลดลง 110 ล้านบาท หรือ 13% และสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ถึง 4.9 พันล้านบาท
ปักธงปั้นรายได้ 3 ปี ทะยานสู่ 1.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลังปี 2565 WEH คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของทุกปีที่เป็นไฮซีซันของธุรกิจ ขณะเดียวกัน WEH ยังได้อานิสงส์จากราคาค่าไฟของปี 2565 ที่ปรับสูงขึ้นจากค่า Ft ที่ประกาศจาก EGAT สูงขึ้นประมาณ 6% จากปีก่อน
และในปี 2565 WEH ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ที่ 5-7% หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และในระยะ 2-3 ปี WEH วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท
รุกธุรกิจใหม่ เสริมพอร์ตรายได้ในอนาคต
นอกจากนี้ WEH ยังมีแผนขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้แก่ ด้านสุขภาพและความงาม โดยล่าสุด WEH ได้เข้าไปลงทุนใน บมจ.ณุศาศิริ หรือ NUSA โดยลงทุนผ่านบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ WEH
รวมถึงได้ศึกษาธุรกิจอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงยุโรปตะวันออก
โดย WEH เตรียมออกหุ้นกู้ระยะยาวชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.75% ต่อปี เสนอขายไม่เกิน 2 พันล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนศึกษาความพร้อมการขยายแผนธุรกิจพลังงานและลงทุนในธุรกิจอื่นๆ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
สำหรับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ณ ปัจจุบัน ยังเป็นแผนที่อยู่ในการดำเนินธุรกิจของ WEH โดยบริษัทมีโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเข้าจดทะเบียนอยู่แล้วเกือบ 100% อย่างไรก็ตาม WEH มองว่าปัจจุบันยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากโครงการของบริษัทได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว โดย WEH ประเมินว่า หากได้โครงการใหม่ๆ และสามารถ COD ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า จึงจะนำแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาพิจารณาอีกครั้ง