เรื่องความมั่นคงทางอาหารถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่มีการหารือกันในที่ประชุม World Economic Forum: WEF ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปีนี้ โดยบรรดาผู้นำนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐต่างหวั่นเกรงว่า วิกฤตการณ์อาหารโลกที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นกำลังเร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ จนอาจเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามการค้าในวงกว้าง
ทั้งนี้ สัญญาณเตือนของภาวะขาดแคลนอาหารและราคาที่แพงขึ้นเริ่มมีปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว แหล่งข่าววงในจากรัฐบาลอินเดียเปิดเผยกับทางสำนักข่าว Reuters ว่า ทางการอินเดียเตรียมสั่งจำกัดการส่งออกน้ำตาลเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำตาลในประเทศแพงขึ้น
ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก จะยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันสำหรับประกอบอาหารจำนวนมาก และแทนที่ด้วยการกำหนดราคาสูงสุดสำหรับวัตถุดิบสำหรับโรงกลั่นในท้องถิ่น หลังจากที่เพิ่งมีคำสั่งจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม
และล่าสุดคือมาเลเซีย สั่งระงับการส่งออกเนื้อไก่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป หลังมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
กีตา โกปินาธ รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า ความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต้องมีการหารืออย่างเร่งด่วน และในมุมมองส่วนตัว โกปินาธยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้าแล้ว
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาจากนโยบายที่หลายประเทศนำมาใช้ ทั้งห้ามส่งออกอย่างเด็ดขาด หรือจำกัดจำนวนส่งออก ทำให้เห็นแนวโน้มของการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น จนหลายฝ่ายในที่ประชุม World Economic Forum ลุกขึ้นเรียกร้องให้นานาประเทศหันมาเจรจาพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อหลีกเลี่ยงชนวนเหตุที่อาจทำให้เกิดสงครามการค้า
เจย์ คอลลินส์ รองประธานฝ่ายการธนาคาร ตลาดทุน และที่ปรึกษาของ Citigroup กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้นำของโลกที่จะนั่งโต๊ะเจรจาด้วยความสงบ และหารือเกี่ยวกับวิธีที่จะจัดการการค้าและการลงทุนด้านอาหาร
โกปินาธเตือนว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพ และจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงสำหรับประเทศยากจน ยกตัวอย่างเช่น ผู้อยู่อาศัยในประเทศแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan) ในแอฟริกาที่ 40% ของการบริโภคจะหมดไปกับค่าอาหาร
ผู้แทนจาก IMF เตือนว่า ขณะนี้มีประเทศมากกว่า 20 ประเทศที่จำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ย ซึ่งกำลังซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อสูงและทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง”
ทั้งนี้ แต่เดิมราคาอาหารโลกมีการขยับปรับขึ้นอยู่แล้วในปีนี้ ทว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่รัฐบาลเครมลินระบุว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางการทหารยิ่งทำให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยูเครนและรัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก โดยเฉพาะยูเครนที่ได้ฉายาว่าตะกร้าขนมปังแห่งยุโรป
เดวิด บีสลีย์ กรรมการบริหารโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ World Food Programme กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านอาหารที่ไม่ธรรมดา และสงครามยูเครนก็ทำให้ต้นทุนอาหาร ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า
บีสลีย์ระบุว่า จำนวนคนที่ ‘อดอยาก’ ได้เพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านคนเป็น 276 ล้านคนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
อีริก ฟายวาล์ด ซีอีโอของ Syngenta Group กล่าวว่า การเกษตรต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการกับความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการเพาะปลูกให้เข้ากับทุกสภาพอากาศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ซึ่งภายใต้แนวทางดังกล่าว หมายความว่า เอกชนต้องเดินหน้าลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐ
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเร่งให้รัฐบาลทั่วโลกเจรจาหาข้อแลกเปลี่ยนทางการค้าที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการจำกัดการส่งออกอาหาร และหาทางจัดการกับการลดขยะอาหารที่เกิดขึ้น เพื่อให้การผลิตและการบริโภคอาหารเป็นไปอย่างยั่งยืน
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/world/food-crisis-fuels-fears-protectionism-compounding-shortages-2704866
- https://www.bbc.com/news/business-61560543
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP