×

เปิดสาเหตุปี ‘62 ดัชนีการแข่งขัน WEF ของไทยตกอันดับ สวนทางเวียดนามขยับขึ้น 10 อันดับ

09.10.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปี 2562 World Economic Forum (WEF) รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยแม้คะแนนจะเพิ่มขึ้น 0.6 คะแนน แต่อันดับลงมาอยู่ที่ 40 จากเดิมที่อยู่อันดับ 38 จาก 141 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ขึ้นแท่นที่ 1 ของโลก แซงหน้าสหรัฐฯ ส่วนคู่แข่งของประเทศไทยอย่างประเทศเวียดนามปรับขึ้น 10 อันดับมาอยู่ที่ 67
  • WEF ชี้ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือ ขาดทักษะ การแข่งขันในประเทศเอื้อบริษัทใหญ่ สภาพแวดล้อมของหน่วยงานต้องมีความโปร่งใส และความสามารถทางนวัตกรรมยังต่ำ

เมื่อประเทศไทยเชื่อมโยงกับทั่วโลกมากขึ้น หากไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้ เศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย แต่เมื่อ World Economic Forum (WEF) รายงานว่า ปี 2562 ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของไทยอันดับตกลง แม้ว่าจะได้คะแนนเพิ่มขึ้น 

 

สาเหตุและทางออกของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร 

 

รื้อ 4 สาเหตุใหญ่ลดความสามารถทางการแข่งขันของไทย

 

 

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี 2562 นี้ จากรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ 68.1 คะแนน จากปี  2561 อยู่ที่ 67.5 คะแนน แต่อันดับของไทยตกลงมาอยู่ที่ 40 จาก 141 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปี 2561 ที่ผ่านมา ไทยอยู่ในอันดับที่ 38 

 

จากรายงาน ประเทศไทยมีจุดเด่นใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค 2. ระบบการเงิน 3. สาธารณสุข โดยคะแนนอยู่ในระดับสูงที่ 80 คะแนนขึ้นไป 

 

การรายงานครั้งนี้ประเทศที่โดดเด่นคือ ประเทศสิงคโปร์ ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยครองอันดับ 1 ของโลกในปี 2561 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศเวียดนามขยับขึ้นสูงถึง 10 อันดับสูงที่สุดในโลก มาอยู่ที่ 67 ของโลกจากปี 2561 อยู่ที่อันดับ 77 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะหยุดนิ่งหรือมุ่งก้าวให้ทันคนอื่นไม่ได้แล้ว ดังนั้น มาดูข้อมูลเชิงลึกจากรายงานนี้ว่า จุดอ่อนของไทยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่

 

1. ทักษะ (Skills) โดยคะแนนด้านนี้ลดลงมาอยู่ที่ 62.3 คะแนน (จากปีก่อนที่ 63 คะแนน) ทั้งนี้ อันดับยังลดลงมาอยู่ที่ 73 ของโลก จากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 66 ของโลก ซึ่งคะแนนที่ลดลงมาจากทักษะของผู้จบการศึกษาแย่ลง และการสอนให้ติดเชิงวิพากษ์ยังไม่ดี

2. การแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ของไทยได้คะแนนอยู่ในระดับต่ำที่ 53.5 คะแนน ซึ่งแสดงว่า การดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน และทำให้การแข่งขันในตลาดผิดเพี้ยนในระดับสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้คะแนนระดับสูง

3. สภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Instisutions) ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ 54.8 คะแนน ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ 55.1 คะแนน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะต่อยอดเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันยังมีความโปร่งใสไม่ดีนัก

4. ความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) แม้ว่าจะมีคะแนนสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 43.9 คะแนน จากปี 2561 อยู่ที่ 42.1 คะแนน แต่ไทยยังไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้เอง ซึ่งอาจกระทบต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ในระดับต่ำ  

 

“ความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประเทศอย่างเดียว แต่เกิดจากการเปรียบเทียบการพัฒนาของประเทศอื่นๆ แม้ว่าระดับความสามารถของประเทศเพิ่มขึ้น แต่บริบทของเศรษฐกิจโลกก้าวพัฒนาไปมากกว่า จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งขันด้วย”

 

ทางออกของประเทศไทย? 

การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยต้องทำทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เช่น การเพิ่ม Skills เพื่อสร้างคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้า โดยประเทศไทยต้องเพิ่ม Critical Thinking in Teaching หรือการวิเคราะห์เชิงใช้วิจารณญาณให้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ความรู้ในตำราอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นการวิพากษ์และข้อเสนอแนะที่ทำให้ดียิ่งขึ้น

 

ยกตัวอย่างประเทศที่ได้คะแนนหมวดนี้สูง เช่น ฟินแลนด์ ซึ่งเน้นทั้ง Skill of Future Workforce และ Skill of Current Workforce การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล ฯลฯ

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คะแนนเรื่องน้ำดื่มไม่ปลอดภัย ประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปัญหาที่บริษัทขนาดใหญ่มีอำนาจควบคุมตลาดในระดับสูง โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้คะแนนในระดับสูง ซึ่งทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้นมีส่วนร่วมกับตลาดได้สูงขึ้น 

 

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising