ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับข่าวคลื่นความร้อน หรือ Heat Wave ที่กำลังแผ่ปกคลุมญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้อุณหภูมิของสองประเทศนี้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยที่ญี่ปุ่นเพิ่งวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 41.1 องศาเซลเซียสที่เมืองคุมากายะ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ก.ค.) ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของที่นั่น โดยคลื่นความร้อนนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 70 ราย ขณะที่อังกฤษก็มีแนวโน้มทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดตลอดกาลจากที่เคยวัดได้ 38.5 องศาฯ ในมณฑลเคนต์ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2003
คลื่นความร้อนคืออะไร
คลื่นความร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้สภาพอากาศร้อนผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการที่ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ รู้สึกว่าอากาศที่นั่นร้อนผิดปกติเป็นเวลานานต่อเนื่อง หรือพูดง่ายๆ ก็คือหากในหน้าร้อน เรารู้สึกว่าร้อนกว่าที่เคย หรือรู้สึกร้อนผิดปกติในหน้าหนาว ก็สามารถเรียกได้ว่าเกิด Heat Wave นอกจากนี้การที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ๆ ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากคลื่นความร้อนเช่นกัน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนว่าคลื่นความร้อนอาจเพิ่มอัตราความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด (Heatstroke) หรือโรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) ได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายล้มเหลวจนมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยที่ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยโรคลมแดดที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจากคลื่นความร้อนระลอกนี้แล้วกว่า 30,000 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ
แล้วคลื่นความร้อนเกิดจากอะไร
สำหรับประเทศไทยมีโอกาสเกิดคลื่นความร้อนจากความชื้นในทะเลที่พัดพาเข้ามาปกคลุมประเทศไทยในช่วงที่อากาศร้อนอยู่แล้ว ดังนั้นผู้คนอาจรู้สึกอบอ้าวจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ค่อนข้างสูง เพราะเหงื่อไม่สามารถระเหยออกจากร่างกายได้
ส่วนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเขตหนาวนั้น คลื่นความร้อนมักเกิดในช่วงฤดูร้อนที่มีความกดอากาศสูง ซึ่งที่สหราชอาณาจักรก็กำลังเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ โดยปัจจุบันหย่อมความกดอากาศสูงกำลังเคลื่อนตัวปกคลุมทั่วประเทศอย่างช้าๆ และอาจคงอยู่นานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์
การสังเกตปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในประเทศเขตหนาวอาจทำได้ง่ายกว่าประเทศเขตร้อน เพราะวัดได้จากอุณหภูมิที่สูงเกิน 32.2 องศาเซลเซียส (90 องศาฟาเรนไฮต์) เป็นเวลานานติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง และมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 80%
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในหลายพื้นที่ทั่วโลกปีนี้นั้น นักสิ่งแวดล้อมมองว่าปัจจัยหนึ่งอาจมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
สำหรับข้อพึงปฏิบัติเมื่อเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกตินั้น กรมควบคุมโรคแนะนำให้หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน ควรหลบอยู่ในตัวอาคารที่มีร่มเงาและดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจนเกินไป
อ้างอิง: