×

คุยกับ ‘วิบูลย์’ คำต่อคำ ภาษีทรัมป์ทุบธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แรงแค่ไหน? “ไทยต้องเคลียร์ให้ชัด ว่าเราเป็นเทคพาร์ตเนอร์สหรัฐฯ”

08.04.2025
  • LOADING...

Reciprocal Tariff หรือมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ที่เก็บไทยในอัตรา 36% กระทบทางตรงต่อสินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากดูใน 7 ประเภทสินค้าไทยที่เสี่ยงสูง อันดับต้นๆ ที่ส่งออกไปมากที่สุดคือ เซมิคอนดักเตอร์ ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยพึ่งพาสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูงราว 34% ของการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดโลก 

 

THE STANDARD WEALTH พูดคุยกับ ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเลขาธิการ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดทำแผนกลยุทธ์พัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ ถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่า ปัจจุบันไทยส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐฯ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 28% ของการส่งออกของไทย แน่นอนว่าเป็นที่กังวลว่าสิ่งที่จะตามมาในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะมีของที่ส่งออกไปแล้ว 

 

ขณะเดียวกัน ผลกระทบระยะสั้น คาดว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจต่อการชะลอการซื้อจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าตอนนี้จะคำนวณราคากันอย่างไร ทั้งคนซื้อและคนขาย

 

ไทยไม่ควรใช้มาตรการโต้กลับเหมือนอย่างจีนและสหภาพยุโรป (EU) ทางออกคือ ‘เจรจา’

 

เมื่อถามว่ามองการรับมือของแต่ละประเทศในขณะนี้อย่างไร ดร.วิบูลย์ มองว่า โลกมีแค่ 2 Scenario (สถานการณ์) คือ Retaliation (มาตรการตอบโต้) และ ​Negotiation (การเจรจาต่อรอง) ถ้าเรามองหลายประเทศบนโลกใบนี้ก็ไม่พ้น 2 Tactics (ยุทธวิธี) นี้ อย่างประเทศใหญ่ก็ใช้ Tactics ตอบโต้ไปเรียบร้อยแล้ว

 

ส่วนประเทศไทยคงไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้มาตรการโต้กลับเหมือนอย่างจีนและสหภาพยุโรป (EU) ได้ ซึ่งคงต้องใช้วิธีการเจรจาต่อรอง เพียงแต่ข้อสำคัญคือ 

 

“เราเองต้องไม่แพนิก ตอนนี้โลกอยู่ในรูปแบบ ใครกะพริบตาก่อนคนนั้นแพ้ ซึ่งในขณะเดียวกันจริงๆ แล้วสหรัฐฯมีแรงกดดันภายในเช่นกัน”

 

อย่างเมื่อวานที่ผ่านมา (7 เมษายน) ก็มีการขอให้ยกเลิกคำสั่งระหว่างเท็กซัสกับแคนาดา ให้สามารถค้าขายกันได้อย่างเดิม ซึ่งไม่แน่ใจว่าผลออกมาเป็นอย่างไร แต่นั่นก็หมายความว่าสหรัฐฯ รับแรงกดดันในประเทศไม่น้อย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ไทยไม่ต้องรีบลดราคาเหมือนที่เวียดนาม ชี้เวียดนามทำอาเซียนขาดความเป็นหนึ่งเดียว

 

ดร.วิบูลย์ มองมาตรการลดภาษี 0% เวียดนามว่า “สิ่งที่เราควรทำคือวางแผนการเจรจาให้ดี แต่ยังไม่ต้องรีบลดราคาของเราเหมือนที่เวียดนามทำ ซึ่งเวียดนามทำก็ทำเอาอาเซียนปั่นป่วนเหมือนกัน เพราะแทนที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว แต่มีคนรีบก่อน ก็เลยทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนเสียน้ำหนักไปเยอะเลย เราต้องใจเย็นๆ”

 

นั่นคือไทยต้องฟอร์มการเจรจาวาง Strategy (กลยุทธ์) ให้ดีก่อนที่จะค่อยๆ เริ่ม เพราะยังไง Damage (ความเสียหาย) มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว เราบุ่มบ่ามไปกว่านี้ หรือคิดให้ดีในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าดาเมจไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราควรคิดให้รอบคอบก่อนที่จะเข้าหาหรือเจรจาสหรัฐฯ น่าจะถูกต้องกว่า”

 

เมื่อถามว่าแม้เวียดนามจะลดภาษีให้สหรัฐฯ ทันที 0% แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าเป็นเกม ซึ่งแท้จริงแล้วสหรัฐฯ ต้องการดึงการลงทุนเข้ามามากกว่า มองอย่างไรนั้น ดร.วิบูลย์ ชี้ว่า สหรัฐฯ ต้องการ 3 อย่าง 

 

  1. Cash (เงินสด) เพราะจะเห็นได้จากโดนัลด์ ทรัมป์ ลดภาษี (Tax) คนรวย และลดภาษีเงินได้ให้กับ Middle class (ชนชั้นกลาง) ดังนั้นการลดภาษีเงินได้ทำให้ประเทศขาดรายได้ไปเยอะ ต้องเติมเต็มรายได้จากแหล่งภาษีด้านอื่นอย่างเช่นภาษีนำเข้า หรือ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers -NTB) 
  2. สหรัฐฯ ต้องการสกัดจีนโดยเฉพาะ ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ ปีเตอร์ นาวาร์โร เป็นสายแอนตี้จีน จะเห็นได้ว่าการวางมาตรการทางภาษีทั่วโลก คือหนึ่งใน Tactic ที่ไม่ต้องการให้จีนขยับหรือย้ายฐานผลิตไปจุดที่ต้องการส่งออกมายังสหรัฐฯ ได้ ตรงนี้ชัดเจนมาก
  3. ต้องการให้ย้ายฐานผลิตกลับมายังสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะได้สิ่งที่ต้องการหรือไม่นั้น ดร.วิบูลย์ กล่าวว่า “จากข้อมูลที่ผมได้มา ดูเหมือนว่าสิ่งที่จะไม่ได้แน่ๆ นั่นคือ ความหวังที่ไปขู่จีน ดูเหมือนจีนจะไม่กลัว จีนเองได้ Turn to be ตั้งแต่สมัย US independent เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ณ จุดนี้จึงค่อนข้างแน่ใจว่า ความหวังที่จะใช้ Tactic นี้ไปบีบจีนไม่น่าจะเวิร์ก ส่วนการได้เงินสดน่าจะทำได้ แต่การได้ฐานการผลิตกลับมาสหรัฐฯ ตรงนี้ไม่น่าจะง่าย”

 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็น Global chain “ย้ายฐานผลิตกลับไปสหรัฐฯ ไม่ง่าย”

 

เมื่อถามว่าเพราะอะไร? เพราะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็น Global Chain เชื่อมโยงกันหมด เหมือนห่วงโซ่ที่คอนเน็กต์กันอย่างมหาศาลมากเสียจนเป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯ จะสามารถยกเครื่องแล้วย้ายฐานการผลิตภายในระยะเวลาประธานาธิบดีคนหนึ่งดำรงตำแหน่ง ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่า ถ้าทรัมป์ต้องการ Miracle ไปเจรจาต่อรอง ขณะที่อุตสาหกรรมไฮเทคก็มองว่าเป็นเรื่อง Miracle เหมือนกัน ที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่สหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางในการเจรจาของรัฐบาลควรจะเป็นอย่างไรนั้น มองว่าอันดับแรก เราต้อง Position ประเทศไทยว่า เราไม่ใช่ Trade Surplus (เกินดุล) ผมพูดเฉพาะในโซนอิเล็กทรอนิกส์ จุดยุทธศาสตร์ไทยไม่ใช่ Trade Surplus 

 

หมายความว่า เมื่อทรัมป์มีคีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่า Trade Surplus ใช้คำนี้กับจีนด้วยซ้ำไป แต่เราไม่ได้อยู่ใน Position นี้ ตรงกันข้ามอิเล็กทรอนิกส์ เรากลับ Enablers Economic (กระตุ้นเศรษฐกิจ) ให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป 

 

ชี้เป้าเจรจา ชูจุดแข็ง “ไทยเป็นเทคพาร์ตเนอร์ 7 บริษัทเทคสหรัฐฯ” และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

 

โดยเฉพาะเราผลิตชิ้นส่วนส่งให้บริษัท 7 นางฟ้า จริงๆ มากกว่านั้น และเราก็รู้ว่าทุกวันนี้ “สหรัฐฯ ขับเคลื่อนด้วย 7 นางฟ้า” 

 

ปัจจุบันไทยเองก็เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนทางตรงทางอ้อมให้กลุ่ม 7 นางฟ้า นั่นหมายความว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของ Enablers สหรัฐฯ และอย่าไปกลัว ถ้า Enablers โดนเหยียบเบรก ปลายทางก็โดนเหยียบเบรกเหมือนกัน

 

“เราต้องรู้จุดแข็งในใจก่อนจะไปเจรจา และแน่นอนว่าไม่มีของฟรีในโลก เราจะไปต่อรองอะไร เราต้องมีของไปให้เขา ซึ่งควรจะต้องเริ่มต้นจากเล็กไปหาใหญ่ อย่าเพิ่งไปตูม 0% ก็ไม่เห็นได้อะไรกลับมา เมื่อคืนก็เห็นการประกาศของ ปีเตอร์ นาวาร์โร ว่ายังไม่พอ ซึ่งการจะนำของไปแลกก็เห็นด้วยกับ อ.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ว่าเราก็ควรจะเริ่มจากถั่วเหลือง ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแค่นี้อาจจะยังไม่พอ คงไปต้องขยับไปสูงกว่านั้น”

 

อีกสิ่งหนึ่งที่อิเล็กทรอนิกส์ควรทำคือ เราควรฟอร์มเซมิคอนดักเตอร์ Dialogue ทั้งภาครัฐและเอกชน 

 

ทุกวันนี้คุณก็รู้ว่าเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรยื่นผลประโยชน์คือ ฟอร์มเซมิคอนดักเตอร์ระหว่าง 2 ชาติขึ้น ในลักษณะที่รัฐและเอกชนร่วมกันทำ อย่างเช่น เจโทร ที่มี ‘ออโตโมบิล Dialogue’ ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น”

 

ดร.วิบูลย์ ทิ้งท้ายว่า เมื่อเรารู้ว่าเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของสหรัฐฯ และไทยเองก็มีบทบาทสำคัญเป็นอุตสาหกรรมซัพพลายเชนของอเมริกา ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือฟอร์มในโมเดลคล้ายๆ เจโทรขึ้นมา ก็จะสามารถเอื้อ เป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้เกิดการเจรจาง่ายขึ้น นอกเหนือจากแค่การเสนอว่าเราให้อะไรเขาได้บ้าง 

 

ฉะนั้นเราต้องวางตัวให้ชัด ส่วนเรื่องเลือกข้างเรามักจะถูกตั้งคำถามบ่อย ซึ่งอย่างไรเราก็หนีไม่พ้น ในส่วนนี้เราต้องเคลียร์ให้ชัด ว่าเราเป็นเทรดและเทคพาร์ตเนอร์ของสหรัฐฯ 

 

ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา โลกของการค้าขายอิเล็กทรอนิกส์ จีนเป็นผู้ขายอิเล็กทรอนิกส์ ไทยเป็นซัพพลายเออร์ ส่วนสหรัฐฯ เป็นลูกค้า ดังนั้น “เรามองว่าตรงนี้เราควรต้องเลือก Buyer ไว้ก่อน”

 

ภาพ: เสกสรรค์ โรจนสกุล / THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising