หลังจากที่วันนี้ (22 เมษายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงชี้แจงกรณี เลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ ประเด็นกำแพงภาษี โดยให้เหตุผล ว่า จากสถานการณ์ 10 กว่าวันที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เกิดกับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลจึงมีการหารือ เพราะสิ่งที่เรามองว่าชัดเจน วันนี้อาจไม่ชัดเจนเท่าที่กับที่เคยคิด ดังนั้นคณะทำงานจึงขอขยับกำหนดเวลาในการพูดคุยกับทางสหรัฐฯ และหารือเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด
“สาเหตุการเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ ขอรอดูสถานการณ์ก่อน ดูประเทศอื่นเจออะไรบ้าง รีบเกินไปไม่ดี ช้าเกินไปไม่ได้ และคาดว่า สหรัฐฯ ก็กังวลแต่ละประเทศแทรกแซงค่าเงิน ”
มองสหรัฐฯ ต้องการที่จะเจรจากับคู่ค้าหลักกลุ่มแรกก่อน ใน 6 กลุ่มก่อนเจอไทย
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย, นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ให้สัมภาษณ์กับ “THE STANDARD WEALTH” ว่า ขอให้ความเห็นในนามส่วนตัวว่า กรณีที่สหรัฐฯ ขอเลื่อนการเจรจาในประเด็นนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทีมไทยแลนด์ที่เดิมกำหนดวันเจรจาไว้เป็นวันที่ 23 เมษายนนี้ เนื่องจากประเมินว่าสหรัฐฯ ต้องการที่จะเจรจากับคู่ค้าหลักกลุ่มแรกก่อน ใน 6 กลุ่ม ได้ ยุโรป, แคนาดา, เม็กซิโก, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย รวมทั้งจีน ที่มีการประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ออกมา จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั้งหมดที่มีจำนวน 15 ประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการเจรจาระหว่างทั้ง 6 กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ดังกล่าวข้างต้นถือว่า “มีเงื่อนไขที่มีความซับซ้อนมากกว่า” เมื่อเปรียบเทียบจากทั้งหมดประเทศคู่ค้าหลักที่เหลืออีก 8 ประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตา 23 เม.ย. ไทยถึงคิวต่อรองภาษีทรัมป์ ย้อนดู 5 แนวทางเจรจา เปิดชื่อเบื้องหลัง
- เช็กลิสต์อุตสาหกรรมไหนอ่วม หลังทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าไทยสูง 37% ส.อ.ท. ถกด่วน
- สรุปไทม์ไลน์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีอะไรไปบ้าง จับตา 2 เม.ย. สหรัฐฯ ประกาศตอบโต้
- นับถอยหลัง ‘วันปลดแอก’ สหรัฐฯ! ทรัมป์รีดภาษีเขย่าโลก สะเทือนการค้าไทย
เนื่องจากต้องมีเงื่อนไขการเจรจาที่มีความซับซ้อนทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Tariff, มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non Tariff) การค้า รวมทั้งมิติอื่นๆ ล้วนมีความเกี่ยวข้องอีกหลายมิติ จึงคาดว่าจะมีการใช้ระยะเวลาในการเจรจาที่ค่อนข้างมาก
“ดังนั้น คาดว่าสหรัฐฯ มีความพยายามที่จะเจรจากับทั้ง 6 กลุ่มประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ดังกล่าวเพื่อให้มีความชัดเจนก่อนประเทศที่เหลือเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน ”
สำหรับประเทศไทย มองว่าอยู่ในกลุ่มประเทศคู่ค้าที่มีความซับซ้อนที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทั้ง 6 กลุ่มประเทศค้าขนาดใหญ่ดังกล่าว สหรัฐฯ จึงอาจต้องการเจรจาเป็นกลุ่มที่สอง
ดร.ชนินทร์ ตั้งสมมติฐานของสถานการณ์ มาตรการตอบโต้ภาษี (Reciprocal Tariffs) ไว้ดังนี้
- มหาอำนาจทางเศรษฐกิจกับทางการทหารของโลก คือ จีนกับสหรัฐฯ จะไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงภายในปีนี้ได้สำเร็จ
- สหรัฐฯ จะพยายามเร่งการเจรจาการค้าคู่ค้าหลักกลุ่มแรกก่อนใน ใน 6 กลุ่ม ได้ ยุโรป, แคนาดา, เม็กซิโก, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย ให้บรรลุข้อตกลงให้สำเร็จก่อน เพราะสหรัฐฯ จะเจรจาการค้ากับจีนไม่สำเร็จภายในปีนี้
“ยกตัวอย่างการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป (EU) ก็ไม่ง่าย เพราะ EU มีสมาชิก 27 ประเทศ เพราะยุโรปเสนอให้แพ็กเกจไปให้สหรัฐฯ 10 ข้อ สหรัฐฯ ขอเพิ่มมาอีก 5 ข้อ ตัวแทน EU ไม่สามารถตกลงได้ทันที เพราะต้องกลับไปหารืออีก 27 ประเทศ จึงต้องเวลานานกว่าจะสรุปได้”
ทั้งนี้ มีความเชื่อว่าทีมไทยแลนด์ของรัฐบาลจะสามารถนัดกำหนดวันเจรจากับสหรัฐฯ ใหม่ได้ภายในกรอบระยะเวลา 90 วัน ที่สหรัฐฯขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ Reciprocal Tariffs หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ทำเตรียมข้อเสนอ (Proposal) 5 แนวทางที่เตรียมบินไปเจรจากับสหรัฐฯ
อีกทั้ง รัฐบาลไทยได้ส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ แล้วว่าต้องการนัดวันเจรจา และคาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะได้รับข้อมูล Proposal จำนวน 5 แนวทางของรัฐบาลไทยแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะมีการเจรจาแบบเป็นทางการ
อ่านเกมสหรัฐฯ! ยกกรณี Worst-Case เจรจาช้า ลดภาษี 36% ไม่ได้ ธุรกิจไทยเสี่ยง?
ดังนั้น ยังมีความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ว่ามีโอกาสที่จะเห็นการลด Reciprocal Tariffs ลงมาต่ำกว่าระดับ 36% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่มีโอกาสในการนำเข้าวัตถุดิบทั้งข้าวโพดกับกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพื่อเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ มาช่วยสร้างความสมดุลกับการค้าระหว่างกันได้
อย่างไรก็ดี กรณีเลวร้าย ( Worst-Case) หากไทยไม่สามารถตกลงกับสหรัฐฯ ได้ ส่งผลให้มีการใช้อัตราภาษี Reciprocal Tariffs ของไทยมีผลใช้ที่ 36% ยอมรับว่าคงต้อง ‘ทำใจ‘ ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามปรับตัวช่วยเหลือตัวเอง ดังนี้
- การเร่งผลักดันหรือตลาดใหม่ๆ รวมทั้งมุ่งในตลาดส่งออกเดิมที่เติบโตได้ดีอยู่แล้วเพื่อมาทดแทนตลาดสหรัฐฯ
- บริหารควบคุมสต็อกสินค้าในระยะสั้นไม่ให้มีมากเกินไป
เอกชนไทยยืนยันร่วมงาน ‘SelectUSA’ ที่สหรัฐฯ หวังหารือกับนักธุรกิจ อเมริกันโดยตรง เพื่อขยายลงทุน
ดร.ชนินทร์ ยังกล่าวถึง งาน 2025 SelectUSA Investment Summit ที่จะจัดขึ้น จัดขึ้นในวันที่ 11-14 พฤษภาคม ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ภาคเอกชนไทย ยังคงกำหนดการร่วมไปเดินทางตามกำหนดการเดิม
ทั้งนี้ 2025 SelectUSA Investment Summit เป็นงานการลงทุนเพื่อขยายกิจการและต่อยอดการลงทุนในสหรัฐอเมริกา จัดขึ้นในวันที่ 11-14 พฤษภาคม ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5,000 รายจาก 96 ประเทศมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมกับตัวแทนมลรัฐจากทั่วสหรัฐอเมริกา
นอกเหนือจาก Investment Summit ณ กรุงวอชิงตัน ยังมีงาน “Spin-off events” ซึ่งจัดโดยเจ้าหน้าที่จากมลรัฐต่างๆ เพื่อพบปะกับนักลงทุน สตาร์ทอัพ ในงานเพื่อขยายเครือข่ายการลงทุน
ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “ยอมรับว่าในฐานะภาคเอกชนมีความกังวลต่อกรณีที่สหรัฐฯ ขอเลื่อนการเจรจาในประเด็น Reciprocal Tariffs กับทีมไทยแลนด์ที่เดิมกำหนดวันเจรจาไว้เป็นวันที่ 23 เมษายนนี้”
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องรอติดตามความชัดเจนของกำหนดการนัดการเจรจาใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับทีมไทยแลนด์อีกครั้ง
“ตอนนี้ข้อมูลข่าวสารที่ออกมายังมีความสับสนอยู่ ขอรอดูความชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีการนัดหมายเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ใหม่วันไหน เพราะในฝั่งเอกชนก็ยังรอผลลัพธ์การเจรจาว่าจะออกมาอย่างไร เพราะเราเสนอความเห็นไปหมดแล้วซึ่งอยู่ในแผนเจรจาที่ภาครัฐแถลงออกมาใน 5 แนวทางก่อนหน้านี้” ดร.พจน์ กล่าว
ส.อ.ท. ชี้ สหรัฐฯ เลื่อนเจรจาไทย กระแสปรับ ครม. ไม่กระทบ-ยังมีเวลา
อภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สำหรับการเจรจาสหรัฐฯ ที่เลื่อนออกไปนั้น ในมุมเอกชนมองอีกมุมคือ ปัญหาของไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญของสหรัฐฯ
“หากไทยได้รับคิวแรกที่เจรจา ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ต้องเร่งหารือ ซึ่งไทยยังมีเวลา เพราะยังมีอินโนเวชันที่ไทยยังมีซัพพลายที่ต้องเจรจาเพิ่มเติม ทำให้เราอาจมีโอกาสเจรจามากขึ้น ”
ส่วนกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะกังวลในเรื่องของการเจรจาภาษีสหรัฐฯ หรือไม่นั้น นายอภิชิต กล่าวว่า ในส่วนภาคการเมืองกับราชการที่มีหน้าที่เจรจาอยู่แล้ว จึงต้องแยกส่วนกัน ซึ่งการเมืองอาจจะกระทบบ้าง
วันนี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับการปรับภาษีนำเข้าศุลกากรที่ประเทศไทยจะโดนขึ้นที่ 36% ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ และเมื่อเทียบในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศที่ผลิตสินค้าเดียวกัน อย่างเวียดนามที่โดนถึง 46% ไทยก็อาจจะมีแต้มต่อ ดังนั้น ในช่วงฝุ่นตลบ ก็ต้องรอดูก่อน
“เรายังไม่ได้มองถึงขนาดที่ไม่สามารถหารือกันได้ ไม่ได้มองนั้น เพราะทีมเจรจาหลักทั้ง 2 ท่าน โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความเข้มแข็ง และพยายามทำแผนเจรจาไว้เป็นอย่างดีแล้ว” อภิชิตกล่าว
ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวลดลง จาก 93.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นผลจาก 5 เหตุการณ์สำคัญ ประกอบด้วย
- เหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจในประเทศ
- การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% ทำให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ชะลอตัวลง
- ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดหลักที่ลดลง นักท่องเที่ยวจีน (-44.92%YoY) และมาเลเซีย (-16.57%YoY)
- ยอดส่งออกรถยนต์ลดลง จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพื่อรอความชัดเจนภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยอดส่งออกลดลง 8.34%YoY กระทบอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
- กำลังซื้อในภูมิภาคยังคงเปราะบาง ราคาสินค้าเกษตรข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ปรับตัวลดลง
BOI Roadshow สหรัฐฯ ดึงนักลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์ เทคโนโลยี AI ในไทย
อย่างไรก็ตาม ระหว่างสัปดาห์นี้ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับคณะทำงานจากไทย หารือกับบริษัทชั้นนำของอเมริกา เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ และการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทย ที่มลรัฐซีแอตเทิล และ วอชิงตัน
โดยองค์กร/บริษัทที่ได้พบหารือในครั้งนี้ เช่น SEMI สมาคมผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ระดับนานาชาติ, บริษัท Nvidia ผู้นำด้านเทคโนโลยี AI, บริษัท Microsoft ผู้นำด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี AI, บริษัท Benchmark Electronics
ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ รวมทั้งกลุ่ม Startup ในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น บริษัท Wayfinder Biosciences ผู้ผลิตยารักษามะเร็ง, บริษัท Sygnomics ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มในการวินิจฉัยวิธีรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล, บริษัท Pioneer Square Labs ซึ่งเป็น VC และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ในการประกอบธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า 1 ใน 5 แนวทางเจรจาสหรัฐฯ คือ “ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ” ภาครัฐสนับสนุนการขยายการลงทุนของเอกชนไทยในสหรัฐฯ ภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน
- โครงการลงทุน LNG ในรัฐอลาสก้า
- ลงทุนในฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่
ปัจจุบัน เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ กว่า 70 แห่ง 20 มลรัฐ สร้างงาน 16,000 คน ลงทุนรวม 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุ ไทยตั้งเป้าลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 50% ภายใน 5 ปี