×

ศุภวุฒิชี้ นโยบายการเงินตึง ถ่วงทำเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แนะแบงก์ชาติต้องกำหนดตัวเลขเป้าเงินเฟ้อให้ชัดเจน และต้องทำให้ได้

05.07.2024
  • LOADING...
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประธานสภาพัฒน์เปิดปมปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญที่ไทยกำลังเผชิญ พร้อมแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นถึงระยะปานกลางของเศรษฐกิจไทย แบงก์ชาติต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน

 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่กำลังเผชิญในปัจจุบันมีดังนี้

 

  1. ปัญหากลุ่มประชากรวัยเด็กและวัยทำงานจะมีจำนวนทยอยลดลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะลดลงประมาณกลุ่มละ 2-3 ล้านคนภายในช่วง 15 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งคำถามต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มคุณภาพการศึกษา, การเพิ่มคุณภาพการ Reskill และ Upskill ถือเป็นประเด็นที่ยังไม่มีการพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาขึ้นมาอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

  1. ปัญหาประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่กำลังจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 12 ล้านคนเป็น 20 ล้านคนภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการดูแลด้านสุขภาพ รวมทั้งต้องมีระบบสาธารณสุขรองรับในเรื่องนี้ เพราะในอนาคตอาจมีการขยายระยะเวลาการเกษียณการทำงานจากอายุ 60 ปีเป็น 70 ปี

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกด้านที่จะตามมาคือ ความเสียเปรียบในด้านการผลิต เนื่องจากประชากรของไทยมีจำนวนวัยทำงานที่ลดลงจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการส่งออกเป็นหลัก โดยสินค้าส่งออกที่มาจากกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องหันกลับมาดูว่าประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือในเรื่องนี้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากผลกระทบของปัญหาโลกร้อนและปัญหาด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อีกด้วย 

 

นโยบายการเงินตึง ถ่วงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

 

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นถึงระยะปานกลางของเศรษฐกิจไทยยังคงยืนยันว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทยขณะนี้ตึงเกินไป จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายใน กดดันให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำหรือมีขนาดทางเศรษฐกิจที่เล็ก โดยมีหลักฐานยืนยันออกมาจำนวนมาก อย่างเช่น ข้อมูลการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสะท้อนว่ามีการผลิตสินค้าและบริการของไทยที่ออกมาเกินความต้องการภายในประเทศ 

 

เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีกำลังซื้อไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการนำสินค้าออกไปขายสุทธิในต่างประเทศ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

 

อีกด้านหนึ่ง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังสะท้อนข้อมูลด้วยว่า มีการลงทุนภายในประเทศที่น้อยกว่าการออมในประเทศ โดยมีเงินไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 

 

“คำถามคือ ทำไมเราไม่พยายามขยายอุตสาหกรรม ขยายโอกาสการลงทุนภายในประเทศให้เพียงพอ ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะสามารถช่วยได้ เพราะที่ผ่านมาเงินเฟ้อของประเทศไทยต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาในศตวรรษนี้ ซึ่งไม่เหมือนกับในอดีตที่เงินเฟ้อของไทยเคยสูงกว่าสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่แล้ว”

 

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึงอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากมีความต้องการซื้อเงินบาทในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ไม่มีผู้ขายเงินบาทออกมาให้กับผู้ที่ต้องการซื้อ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ค่าเงินบาทก็จะมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น แต่หากไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จำเป็นต้องการขายเงินบาทออกมา

 

ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องมีการขายเงินบาทออกเพื่อซื้อเงินดอลลาร์กลับเข้าไป ส่งผลให้มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงสะท้อนว่าเงินบาทที่มีอยู่ในระบบมีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งหมายถึงนโยบายการเงินที่ตึงเกินไปจะส่งผลให้เงินบาทหาได้ยากขึ้น ซึ่งหลักฐานต่างๆ ที่ออกมาจะชี้ได้ว่า นโยบายการเงินไม่ผ่อนปรน เพียงพอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในให้ขยายตัวไปได้มากกว่านี้

 

กรอบเป้าเงินเฟ้อต้องตั้งตัวเลขชัดเจนและต้องทำได้

 

ส่วนประเด็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยังมีแนวทางความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลัง ดร.ศุภวุฒิ มีความเห็นว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อสามารถปรับเปลี่ยนได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการเสนอให้ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง 

 

อีกครั้งมีความเห็นว่า หากต้องการให้ตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับใด ก็ควรมีการกำหนดระบุตัวเลขให้ชัดเจน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายอยู่ในช่วง 1-3% ซึ่งหาก ธปท. ต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ 2% เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ธปท. ก็ควรกำหนดตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% โดยไม่จำเป็นต้องรอให้อัตราเงินเฟ้อตกเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อที่วางไว้ แล้วจึงทำหนังสือส่งมาชี้แจงสาเหตุกับกระทรวงการคลังในภายหลัง 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 2% โดยหากดูข้อมูลย้อนหลังในอดีตช่วงปี 2010-2020 ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของไทยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 1.37% เท่านั้น แล้วมีสาเหตุอย่างไรที่ ธปท. จะไม่ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อขยับขึ้นไปที่ระดับ 2%

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนและ SMEs น่าห่วงกว่าหนี้สาธารณะ

 

สำหรับสถานการณ์หนี้ในประเทศไทย ดร.ศุภวุฒิ มีความเห็นว่า ในมุมของหนี้สาธารณะของรัฐบาลไทย หากถามว่ามีโอกาสที่จะเป็นปัญหาได้หรือไม่ มองว่ามีโอกาสเกิดปัญหาได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วยังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ มาก เช่น กรณีของญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึงระดับ 260% แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่ประสบกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและประเด็นอื่นๆ ส่วนฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาก็มีสัดส่วนหนี้สหรัฐฯ สูงถึงระดับประมาณ 100% ของ GDP 

 

โดยหากพิจารณาหนี้สาธารณะของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60% ของ GDP เปรียบเทียบกับหนี้ภาคประชาชนหรือหนี้ครัวเรือนซึ่งสูงถึงระดับ 90% ของ GDP ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจ SMEs ปัจจุบันมีหนี้เสีย (NPL) กับยอดหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 20% ของหนี้กลุ่มดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าปัญหาหนี้หลักปัจจุบันจะอยู่ที่ปัญหาของหนี้ภาคครัวเรือนและ SMEs มากกว่าปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาช่วยในปัญหาของหนี้ทั้งสองกลุ่มนี้

 

โดยเฉพาะปัจจุบันมีปัญหาของหนี้ครัวเรือนในภาครถยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาราคารถยนต์มีการปรับตัวลดลงแรงแบบผิดปกติจากระดับสูงสุดจากข้อมูลของราคารถยนต์ใช้แล้ว โดยราคาปรับลดลง 25.86% เปรียบเทียบจากราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่มาจากเฉพาะกลุ่มรถ EV เท่านั้น แต่มาจากภาพรวมของราคารถยนต์เฉลี่ยที่ปรับลดตัวลง ปัญหาตลาดรถยนต์ที่ตกต่ำค่อนข้างมาก ทำให้ประชาชนรู้สึกยากจนลง (Negative Wealth Effect) รวมถึงสถาบันการเงินที่มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นด้วย

 

เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเสี่ยงฟื้นตัวต่ำ

 

นอกจากนี้มีมุมมองว่า เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีความเสี่ยงที่จะฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ค่อนข้างมาก จากผลกระทบของ Negative Wealth Effect ดังกล่าว ซึ่งมีข้อบ่งชี้ (Indication) คือ ราคารถยนต์ใช้แล้วที่ปรับตัวค่อนข้างแรง รวมทั้งที่อยู่อาศัยที่ขายไม่ออก กดดันให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับขึ้นได้ค่อนข้างยาก หรือบางส่วนอาจต้องมีการปรับลดราคาขายลงมาด้วย ซึ่งที่อยู่อาศัยถือเป็นสินทรัพย์ก้อนใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชน

 

ส่วนนโยบายการคลังที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นข้อมูลว่ารัฐบาลมีรายได้ที่ต่ำเกินไป หรือประมาณ 34% ของ GDP ขณะที่ในส่วนของรายจ่ายดีขึ้นอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP ดังนั้นจึงควรหาแนวทางในการจัดหารายได้เข้ามาให้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีวิธีที่ทำได้ แต่จะต้องนำไปเข้าสู่กระบวนการคิดหาวิธีต่อไป 

 

อีกด้านหนึ่งคือ การผลักดันให้ GDP เติบโตได้เร็วขึ้น โดยหาก GDP รวมกับอัตราเงินเฟ้อ จะสามารถเติบโตได้ประมาณ 5% ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลมีโอกาสเติบโตขึ้นในระดับ 6-7% ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่รายได้ของรัฐบาลจะเติบโตได้ในอัตราที่มากกว่าอัตราการเติบโตของ GDP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X