วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยปี 2024 ขยายตัว 2.5% เร่งตัวขึ้นจากปี 2023 ที่ขยายตัว 2.0%
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัว ‘ต่ำที่สุด’ ในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมดที่มีการเปิดเผยตัวเลข GDP อย่างเป็นทางการ
โดยเศรษฐกิจอาเซียนประเทศอื่นๆ ขยายตัวดังนี้
- เวียดนาม 7.1%
- ฟิลิปปินส์ 5.6%
- มาเลเซีย 5.1%
- อินโดนีเซีย 5%
- สิงคโปร์ 4%
- ไทย 2.5%
ทำไม เศรษฐกิจไทย โต ‘รั้งท้าย’ อาเซียน ต้องปรับอย่างไร?
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยโตล้าหลังเพื่อน มาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร ปัจจัยเชิงโครงสร้าง และการเติบโตที่ยังเหลื่อมล้ำ
สำหรับ ‘ปัจจัยเชิงโครงสร้าง’ หรือศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ (Potential GDP Growth) ของไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ เนื่องมาจากสังคมสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และการขาดการลงทุน
“แม้จะเห็นว่ายอดการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ของไทยเข้ามาเยอะ แต่ของประเทศอื่นโตแรงกว่าเรานะ ถ้ามองดูเรายังน่าดึงดูดก็จริง แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น” ดร.อมรเทพ กล่าว พร้อมทั้งแนะว่า ไทยยังสามารถเพิ่มการลงทุนได้ผ่านการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ การดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ
อีกปัจจัยที่ทำให้ไทยโตต่ำกว่าเพื่อนคือ การเติบโตที่ยังเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมายังคงเติบโตในระดับกลางและระดับบนเท่านั้น ท่ามกลางเหตุน้ำท่วม และปัญหาในภาคการเกษตร เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังอ่อนแอมาก จึงมองได้ว่ามาตรการแจกเงินอาจจะช่วยเข้ามาประคองปัญหานี้ในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ในต่างจังหวัดควบคู่กันไปด้วย
“แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งด้านการบริการ ค้าปลีก และท่องเที่ยว แต่จุดอ่อนของไทยยังอยู่ที่ภาคการผลิต ซึ่งเป็นตัวดึงดูด FDI และมีตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ซึมยาวอาจไม่เพียงพอให้ฟื้นเศรษฐกิจไทยได้”
ดร.อมรเทพ ยังเตือนว่า หากไทยไม่แก้ปัญหาต่างๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP Growth) อาจลดลงต่อเนื่อง ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยก่อนหน้านี้ Potential GDP Growth ของไทยเคยอยู่ที่ 7% แต่วันนี้ไม่ถึง 3% แล้ว ใน 5 ปีข้างหน้าอาจอยู่ที่ 2.5% และลงไปอีกเรื่อยๆ
เมื่อสัปดาห์ก่อนธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า อัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2011-2021 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2022-2030 หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูงด้วย
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต