SCB EIC ประเมินว่า ความตึงเครียดไทย-กัมพูชาอาจกระทบเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ขณะที่ KResearch ชี้ไทยส่งออกไปกัมพูชาราว 1.4 แสนล้านบาทในปี 2567 จึงอาจส่งผลกระทบ ‘หมื่นล้านบาท’ ต่อเดือน ชี้การค้าชายแดนเริ่มติดลบตั้งแต่เดือนมิถุนายน
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความตึงเครียดระหว่างชายแดนไทยและกัมพูชาขณะนี้อาจผลกระทบผ่านเศรษฐกิจไทยได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ การค้าชายแดน ความเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
โดย ‘ด้านการค้าชายแดน’ ซึ่งไทยมีมูลค่าส่งออกไปกัมพูชาราว 1.4 แสนล้านบาทในปี 2567 คิดเป็นผลกระทบราวหมื่นกว่าล้านบาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์
ณัฐพร ยังตั้งข้อสังเกตว่า ภาคธุรกิจไทยก็มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อเดือนก่อน โดยหากไปดูข้อมูลการส่งออกชายแดนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะเห็นว่า การส่งออกไปกัมพูชาผ่านการค้าชายแดนติดลบแล้ว
ขณะเดียวกัน ก็เห็นได้ว่า ภาคธุรกิจมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว จากการเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกไปกัมพูชาผ่านประเทศลาวแทน เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกผ่านลาวเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าแม้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ภาคธุรกิจก็ยังพยายามรักษาการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป
เมื่อเปรียบเทียบความเสียหายกับกรณีความขัดแย้งเขาพระวิหารในปี 2554 ณัฐพร มองว่า ความตึงเครียดรอบนี้อาจกระทบความเชื่อมั่น (Sentiment) มากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากมีการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องจับตาดูว่า คนไทยที่ทำธุรกิจในกัมพูชาจะต้องกลับมาไทยเพื่อความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นจึงอาจกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity) ด้วย
ในด้าน ‘ภาคอุตสาหกรรม’ ณัฐพร มองว่า หากโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณชายแดนก็อาจไม่ได้มีผลกระทบ เห็นได้จากกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่ได้อยู่บริเวณชายแดนก็ยังปกติอยู่
ส่วนผลกระทบใน ‘ภาคการท่องเที่ยว’ แม้นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาจะไม่ได้มีสัดส่วนสูงมาก แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนก็อาจซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวไทยที่กำลังเผชิญแรงกดดันอยู่แล้ว สอดคล้องกับข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่เริ่มชะลอตัว
KResearch คงประมาณการ GDP ไว้ที่ 1.4% จับตาตัวเลขท่องเที่ยว-ผลการเจรจาภาษี
ณัฐพรย้ำว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินขนาดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งในครั้งนี้ต่อ GDP โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการการขยายตัวของ GDP ไทยปี 2567 ไว้ที่ 1.4% โดยให้น้ำหนักปัจจัยสำคัญไว้ที่ผลการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ในวันที่ 1 สิงหาคม และตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหากต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 34.5 ล้านคน อาจส่งผลต่อการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในรอบถัดไป
“สถานการณ์ความตึงเครียดไทยและกัมพูชาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราติดตามใกล้ชิด แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่อาจนำไปสู่การปรับลดประมาณการ GDP เทียบกับเรื่องภาษีศุลกากร (Tariff) และจำนวนนักท่องเที่ยว โดยหากจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ต่ำกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการไว้จะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากในการปรับลดประมาณการ GDP ลง” ณัฐพรกล่าว
SCB EIC มองปมความขัดแย้งยังไม่กระทบเศรษฐกิจภาพใหญ่ ห่วงยืดเยื้อความเสียหายหนักขึ้น
ดร. ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เผยว่า SCB EIC ประเมินไว้ว่า ความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ‘ไม่มากนัก’ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชายแดนอาจได้รับผลกระทบมากกว่า นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์อีกว่า ผลกระทบสามารถส่งผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณชายแดน
โดย SCB EIC อธิบายว่า การค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ของสัดส่วนนี้ก็เป็นการค้าชายแดน
สำหรับ ‘ด้านการลงทุน’ สถานการณ์ความตึงเครียดนี้อาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน แม้การลงทุนของไทยในกัมพูชาจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก (ประมาณ 17% ของการลงทุนไทยในต่างประเทศ) แต่ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางกระแสชาตินิยม ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจลงทุนของธุรกิจไทยในกัมพูชามีความลำบากมากขึ้น
ด้าน ‘ภาคการท่องเที่ยว’ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่นหรือจีน อาจได้รับผลกระทบใน ‘วงจำกัด’ โดยส่วนใหญ่จะกระทบกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ‘โดยตรง’ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่นิยมท่องเที่ยวเป็นภูมิภาค หรือมาไทยและเดินทางต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ในส่วนของ ‘ตลาดแรงงาน’ SCB EIC ประเมินว่า ตลาดแรงงานอาจจะกระทบบ้าง และแต่ก็คงทดแทนได้ เนื่องจากแรงงานกัมพูชาในไทยมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งได้รับใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ การได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าในไทยยังคงเป็นปัจจัยจูงใจให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในประเทศไทยต่อ หากความขัดแย้งไม่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม หากกระแสชาตินิยมเพิ่มขึ้น อาจทำให้แรงงานในภาคก่อสร้าง เกษตรกรรม หรือภาคบริการบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับ
กระนั้น ตลาดแรงงานไทยก็ยังพึ่งพาแรงงานเมียนมาเป็นหลักถึง 73% ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้อาจเข้ามาทดแทนแรงงานกัมพูชาได้ แม้จะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านบ้าง
ดร. ฐิติมา กล่าวว่า SCB EIC ยังคงประมาณการการเติบโตของ GDP ไทยในปี 2568 ที่ 1.5% โดยยังมองว่าความขัดแย้งกับกัมพูชายังเป็น ‘ความเสี่ยงด้านต่ำ’ และยังไม่รวมอยู่ในกรณีฐานของประมาณการเศรษฐกิจ แต่จะจับตาพัฒนาการของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อนานคล้ายกับกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหารในอดีต อาจส่งผลกระทบผ่านช่องทางทางเศรษฐกิจต่างๆ ยาวนานกว่า
ภาพ: Niphon Subsri / Shutterstock