การต่อสู้ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้การบินไทยกับกระทรวงการคลังเริ่มมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังมีกลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์กับเจ้าหนี้หุ้นกู้รายย่อยยื่นเรื่องร้องให้ศาลไต่สวนว่ากระทรวงการคลังมีสิทธิ์ในการโหวตแก้แผนฟื้นฟูกิจการในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาหรือไม่ หลังจากแจ้งความจำนงแปลงหนี้เป็นทุนแบบ 100% ส่งผลให้หมดสถานะความเป็นเจ้าหนี้ โดยศาลจะมีคำตัดสินในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี กรรมการเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 4 ราย กับเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยของ บมจ.การบินไทย รวมตัวกันยื่นเรื่องร้องขอคัดค้านการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับต่อศาล ถึงมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ออกมาแล้ว เพื่อขอให้ศาลล้มละลายไต่สวน กรณีที่กระทรวงการคลังได้โหวตในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าสามารถทำได้หรือไม่
โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมของเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย ที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับ ดังนี้
- แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
- แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อเพิ่มข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
- เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน ได้แก่ ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และ พลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ของ บมจ.การบินไทย ประกอบด้วยผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน ดังนี้
- ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผน
- ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผน
- พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผน
ปัจจุบันผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหนึ่งในตัวแทนที่มาจากกระทรวงการคลัง หมายความว่าหากเป็นไปตามมติของเจ้าหนี้ในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ในรอบนี้ กระทรวงการคลังจะมีเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนเพิ่มเป็น 3 ใน 5 เสียง จากเดิมที่มี 1 ใน 3 เสียง
ชี้ ‘คลัง’ หลังแจ้งใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนแล้วหมดสถานะความเป็นเจ้าหนี้
ผศ. ดร.ประชา กล่าวต่อว่า ก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ กระทรวงการคลังซึ่งเดิมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย แจ้งความจำนงขอใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนแล้วทั้งจำนวนในสัดส่วนเต็ม 100% ก่อนวันประชุมดังกล่าว ตามแผนการปรับโครงสร้างทุนและเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ ส่งผลให้ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ นั้น กระทรวงการคลังไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทยแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ออกเสียงโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว
อีกทั้งฝ่ายกฎหมายของ บมจ.การบินไทย ยังลงความเห็นไปแล้วด้วยว่า กระทรวงการคลังไม่มีสิทธิ์โหวตลงคะแนน เพราะไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย แม้ในวันดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้รับเพิ่มทุนจดทะเบียนก็ตาม
ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี กรรมการเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย
จับตา 12 ธ.ค. นี้ ศาลชี้ขาด คลังมีสิทธิ์โหวตในฐานะเจ้าหนี้หรือไม่
ทั้งนี้ ให้ติดตามผลการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางที่มีนัดฟังผลการพิจารณาตัดสินที่กำหนดไว้วันที่ 12 ธันวาคมนี้ ว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมาอย่างไร โดยเบื้องต้นประเมินว่าผลคำตัดสินของศาลสามารถออกมาได้ 2 แนวทางหลัก ดังนี้
- กรณีที่ศาลตัดสินว่ากระทรวงการคลังมีสิทธิ์ในการโหวตพิจารณาแก้แผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับ ในฐานะเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย หากเป็นในกรณีนี้ก็จะดำเนินการตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
- กรณีที่ศาลตัดสินว่ากระทรวงการคลังไม่มีสิทธิ์ในการโหวตเห็นชอบในการพิจารณาแก้แผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับ ในฐานะเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย กรณีนี้อาจมีผลให้คำตัดสินแยกย่อยออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
2.1 อาจมีผลให้การประชุมเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่มีการเห็นชอบให้แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับเป็นโมฆะทันที
2.2 ศาลจะนับคะแนนเสียงในการโหวตของเจ้าหนี้ในการประชุมเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เฉพาะเสียงของเจ้าหนี้รายอื่นๆ ยกเว้นคะแนนเสียงที่มาจากโหวตของกระทรวงการคลัง ซึ่งกรณีนี้จะมีผลให้การโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ฉบับที่ 1 และ 2 จะยังมีมติเห็นชอบต่อไป เพราะในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้คะแนนเสียงเห็นชอบข้างมากในระดับประมาณกว่า 90% ดังนั้นแม้จะตัดคะแนนเสียงของกระทรวงการคลังออกไป ก็ไม่มีผลกระทบให้มติการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ดี กรณีนี้จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงมติแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ฉบับที่ 3 เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน อาจเปลี่ยนเป็นไม่เห็นชอบในวาระนี้
เนื่องจากในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในวาระนี้ เจ้าหนี้มีมติโหวตชนะด้วยเสียงข้างมากที่มีสัดส่วนเกิน 50% มาไม่มาก ดังนั้นหากมีการตัดคะแนนเสียงโหวตที่มาจากกระทรวงการคลังออกไป ก็มีความเป็นไปได้สูงที่วาระการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ฉบับที่ 3 จะได้เสียงข้างมากจากเจ้าหนี้ที่ไม่เห็นชอบ
“ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ก็ยอมรับว่าหากกระทรวงการคลังส่งตัวแทนมานั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ของการบินไทย ได้เป็น 3 ใน 5 คนเป็นเสียงข้างมาก ก็กังวลว่าจะมีการเข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการเพิ่มทุนของการบินไทย เพราะเป็นการดำเนินการที่แยกออกจากกัน” ผศ. ดร.ประชา กล่าว
ตั้งคำถาม ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายื้อเวลารับจดทะเบียนฯ’ ทำตามหน้าที่หรือไม่
ผศ. ดร.ประชา กล่าวต่อว่า การแปลงหนี้เป็นทุนตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ เปิดให้เจ้าหนี้แสดงเจตจำนงใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ากระทรวงการคลังแจ้งความจำนงว่าจะแปลงหนี้เป็นทุนสัดส่วน 100% ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน บมจ.การบินไทย ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามขั้นตอนของการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูฯ
แต่ปรากฏว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้ายื้อเวลาในการรับจดทะเบียนฯ ของ บมจ.การบินไทย ไว้เป็นระยะเวลา 4 วัน ซึ่งผิดไปจากขั้นตอนปกติที่จะใช้ระยะเวลาในการรับจดทะเบียนฯ เป็นหลักชั่วโมงหลังจากยื่นคำขอจดทะเบียนฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อ บมจ.การบินไทย ส่งผลให้ บมจ.การบินไทย ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กระทรวงการคลังถึงประมาณ 2 ล้านบาทต่อวัน ทั้งที่ไม่ควรต้องจ่าย เนื่องจากกระทรวงการคลังได้แจ้งความจำนงขอใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนไปเรียบร้อยแล้ว
กำหนดการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูฯ บมจ.การบินไทย
การบินไทยเล็งฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เหตุทำบริษัทเสียหาย
“ประเด็นที่ซีเรียสคือกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหน้าที่รับจดทะเบียนฯ หากเอกสารถูกต้อง หรือไม่รับจดทะเบียนฯ หากเอกสารไม่ถูกต้อง ไม่เกี่ยวข้องในการโหวตหรือสิทธิ์ในการโหวต ไม่มีสิทธิ์ยื้อเวลารับจดทะเบียนฯ ตามที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ขอมา ซึ่งเป็นเรื่องที่นายทะเบียนต้องออกมาชี้แจง ซึ่งคิดว่าทางการบินไทยควรฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย เพราะทำให้บริษัทเสียหาย จากประเด็นที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบที่ไม่ควรต้องจ่ายกับความชอบธรรมที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ทำตามหน้าที่” ผศ. ดร.ประชา กล่าว
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากตลาดทุนเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขณะนี้ บมจ.การบินไทย อยู่ระหว่างพิจารณาในการฟ้องร้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องไม่ทำตามหน้าที่ของนายทะเบียน เพราะมีการยื้อเวลาในการรับจดทะเบียนฯ ของ บมจ.การบินไทย จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการจ่ายดอกเบี้ยให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งหากได้ข้อสรุปจะมีการนำเสนอต่อคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ของ บมจ.การบินไทย ต่อไป
ภาพ: Aerial Mike / Shutterstock