ตลาดหุ้นไทยชั่วโมงนี้ ไม่มีประเด็นไหนร้อนแรงไปกว่าเรื่องของ ‘Short Selling’ หรือการขายชอร์ตหุ้น ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในวงกว้าง ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยย่ำแย่มากที่สุดในโลก
จุดสำคัญจริงๆ ของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การทำ Short Selling ปกติ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Naked Short Selling’ และเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับตลาดหุ้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ประเทศอย่างสหรัฐฯ ก็มีกฎที่ชื่อว่า Regulation SHO ที่คอยป้องกันไม่ให้เกิดการทำ Short Selling
หรือล่าสุดเกาหลีใต้ก็ตัดสินใจแบนการทำ Short Selling ชั่วคราว เพื่อตรวจสอบธุรกรรม Naked Short Selling ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานกำกับของเกาหลีใต้ก็พบว่ามีการทำ Naked Short Selling จริงๆ ผ่านสองสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง HSBC และ BNP Paribas
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ก.ล.ต. จับมือ ตลท. ยกระดับตรวจจับ Naked Short Sell ลุยสอบทุกธุรกรรมแบบเรียลไทม์ หากพบผิดพร้อมฟัน
- เริ่มวันนี้! ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุยเปิดข้อมูลรายวัน Program Trading เพิ่มเติมจากข้อมูล Short Selling-NVDR
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งหลากหลายมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกำกับอย่างสำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ฝ่ายนักลงทุน ทั้งรายใหญ่ รายย่อย หรือฝ่ายบริษัทหลักทรัพย์ ที่พยายามอธิบายและงัดข้อมูลมาตอบข้อสงสัยที่เกิดขึ้น
จากเรื่องราวทั้งหมด ผมคิดว่าบทสรุปสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาคำตอบคือ ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ กำลังดำเนินไปอย่างเป็นธรรมกับนักลงทุนทุกกลุ่ม (เท่าที่กฎเกณฑ์เขียนไว้ในปัจจุบัน) แล้วหรือไม่? และเราสามารถที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์และกระบวนการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้มากขึ้น
ครั้งนี้ผมอยากพาทุกคนไปสำรวจมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม และสรุปสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้พัฒนาตลาดหุ้นไทย
Short Selling และ Naked Short Selling
ก่อนอื่นผมอยากใช้พื้นที่ในการอธิบายคำว่า Short Selling และ Naked Short Selling สำหรับใครที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับสองคำนี้มากนัก
Short Selling คือการขายหุ้นโดยที่ตัวเองไม่ได้ถืออยู่ในมือแต่แรก แต่สามารถทำได้โดยการขอยืมหุ้นจากผู้อื่นมาเพื่อขาย ก่อนจะซื้อหุ้นดังกล่าวกลับไปคืนในอนาคต ถ้าหุ้นที่เรายืมมาขายมีราคาลดลง
โดยทั่วไปคนที่จะทำ Short Selling จะสามารถยืมหุ้นจากโบรกเกอร์ต่างๆ พร้อมเสียดอกเบี้ยค่ายืม ผ่านระบบที่เรียกว่า Stock Borrowing and Lending หรือ SBL ซึ่งโบรกเกอร์จะยืมหุ้นจากลูกค้าอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ลูกค้าที่ต้องการจะขายชอร์ต
ส่วน Naked Short Selling เป็นการขายชอร์ตโดยที่เราตัดกระบวนการ ‘ยืมหุ้น’ ออกไป เท่ากับว่าคนที่จะขายชอร์ตแบบ Naked สามารถทำได้โดยง่ายกว่า เพียงแค่มีวงเงินในบัญชีมากเพียงพอ
แล้วทำไม Naked Short Selling ถึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ นั่นก็เพราะผลกระทบในด้านลบต่อตลาด เช่น การบิดเบือนราคาหุ้น ด้วยการสร้าง ‘แรงขายเทียม’ และอาจทำให้ความผันผวนของราคาหุ้นสูงขึ้น หรือความเสี่ยงต่อตลาดโดยรวม หากท้ายที่สุดแล้วนักลงทุนที่ทำ Naked Short Selling ไม่สามารถที่จะหาหุ้นมาส่งมอบให้กับผู้ที่รับซื้อหุ้นจากการขายชอร์ต รวมถึงความเสี่ยงต่อบริษัทที่ตกเป็นเป้าของการทำ Naked Short Selling
ทำไมนักลงทุนคิดว่า Short Selling คือสาเหตุที่ทำให้ SET แย่สุดในโลก
ดัชนี SET ของหุ้นไทยในปี 2566 เรียกได้ว่าย่ำแย่ที่สุดในโลก หลังจากที่ร่วงลงมา 15-16% จากที่เคยอยู่เกือบ 1,700 จุด ลงมาเหลือประมาณ 1,400 จุด
สิ่งที่น่าสังเกตในมุมมองของ อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนเน้นคุณค่า มองว่าการเคลื่อนไหวของหุ้นไทยในบางวันค้านกับสิ่งที่ควรจะเป็นตามหลักเหตุผล เช่น “วันที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ลดลง ตลาดหุ้นเอเชีย ยุโรป สหรัฐฯ เขียวเป็นปีกแมลงทับ แต่หุ้นไทยกลับแดง
“ตอนนี้มีการชอร์ตหุ้นบางตัวมากจนผิดปกติ หุ้นบางตัวถูกชอร์ตมากถึง 58.2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งวัน ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ว่าหุ้นบางตัวงบออกมาแย่ ราคาร่วงเกิน 15% ขณะที่บางตัวงบออกมาดี ราคาร่วง 7% จนมีกระแสที่นักลงทุนจะนัดกันหยุดเทรด”
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า มูลค่า Short Selling แต่ละวันในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ราว 5 พันล้านบาท แต่ปัญหาคือสภาพคล่องที่หายไปจากตลาดรายย่อย ไม่ว่าจะด้วยการไปลงทุนต่างประเทศหรือสภาวะของตลาด
“พอวอลุ่มบางลงทำให้การชอร์ต ซึ่งปัจจุบันมูลค่าเฉลี่ยยังอยู่ที่เดิมราว 5 พันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อตลาดมากขึ้น แต่มูลค่าการชอร์ตในช่วงนี้ยังคงต่ำกว่าช่วงพีคตอนโควิด ที่ตัวเลขสูงถึง 8 พันล้านบาท คิดเป็น 13-14% ของมูลค่าซื้อขายต่อวัน”
หุ้นไทยย่ำแย่สุดในโลกเพราะกำไร บจ. แย่
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บอกว่าเหตุผลหลักที่ทำให้หุ้นไทยย่ำแย่กว่าประเทศอื่นๆ โดยรวม คือกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยที่แทบไม่เติบโตเลยตั้งแต่ปี 2556
“อีกประเด็นสำคัญคือ การคาดการณ์กำไรบริษัทตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้โตขึ้นเลย และในปีนี้หุ้นไทยก็ถูกปรับลดคาดการณ์กำไรของนักวิเคราะห์ลงมาประมาณ 10%
“จริงๆ แล้ว Short Selling ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้หุ้นไทยปรับตัวลง เพราะการทำ Short Selling เป็นการขายแล้วซื้อคืน แต่ Net Selling เป็นการขายและออกไปจากตลาดเลย”
ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ (Net Selling) ในหุ้นไทยไปเกือบ 8 แสนล้านบาท และจากการศึกษาที่ผ่านมาจะเห็นว่า เดือนใดที่ต่างชาติซื้อสุทธิค่อนข้างมาก หุ้นจะขึ้นได้ดี แต่เดือนใดที่กลายเป็นขายสุทธิ หุ้นไทยก็จะลง
ทำไมหลายคนปักใจเชื่อว่ามี Naked Short Selling
ความเห็นจาก เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ นายกสมาคม Thai VI ต่อสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนหลายคนยังรู้สึกไม่เชื่อมั่น และยังเชื่อว่าอาจมีการทำ Naked Short Selling อยู่จริง เป็นเพราะคำยืนยันของฝ่ายกำกับที่บอกว่า ‘ไม่พบ’ Naked Short Selling แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจมี เพียงแต่ตรวจไม่พบ
“ผมมีเพื่อนส่วนหนึ่งที่ทำงานกับกองทุน ซึ่งให้ข้อมูลว่าโดยปกติแล้วเมื่อโบรกเกอร์สั่งขายหุ้น มักจะไม่มีการตรวจสอบกับ Custodian
“สิ่งที่หลายคนสงสัยในตอนนี้คือ คนที่ทำ Naked Short Selling ในแต่ละวัน อาจสั่งขายหุ้นตั้งแต่ช่วง ATO กดราคาหุ้นลงไป 5-10% พอสิ้นวันก็รับหุ้นคืนเท่ากับที่ขายไป และรับกำไรส่วนต่างในแต่ละวัน โดยไม่ต้องมีหุ้นอยู่ในมือก่อน”
แหล่งข่าวในแวดวง Proprietary Trader รายหนึ่งกล่าวว่า หนึ่งในข้อสังเกตที่ทำให้เชื่อว่ามี Naked Short Selling ในตลาด คือการที่หุ้นใหญ่บางตัวที่เคยมีปริมาณหุ้นในฝั่งขาย (Offer) ประมาณ 1-2 ล้านหุ้นต่อช่อง ตอนนี้กลับเพิ่มมา 4-5 เท่า
“ประเด็นคือคุณเอาหุ้นจากไหนมาขายได้ขนาดนั้น”
แหล่งข่าวผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ให้ข้อมูลว่า “ที่ผ่านมามีผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายเข้าไปรับซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองในช่วงที่กำลังร่วงลงมาแรง หลังจากนั้นจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเขารับซื้อมากจากโบรกเกอร์รายใด และพยายามตรวจสอบว่าใครเป็นคนขายออกมา แต่สุดท้ายก็ไม่พบ จนกลายเป็นหนึ่งในข้อสงสัยว่ามันคือการทำ Naked Short Selling หรือไม่”
ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ร่วมยันหลายครั้ง ไม่พบ Naked Short Selling
ระหว่างที่นักลงทุนกำลังตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วมีใครที่กำลังทำ Naked Short Selling ในตลาดหุ้นไทยอยู่หรือไม่
แรงกดดันจากนักลงทุนในตลาด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ต้องออกมาแถลงข่าว 2-3 ครั้ง ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่าไม่พบการกระทำที่เป็นความผิด ซึ่งก็คือการทำ Naked Short Selling เกิดขึ้นในปีนี้ จากการตรวจสอบธุรกรรมเป็นรายวันแบบเรียลไทม์
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้นักลงทุนมั่นใจว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระบบการตรวจสอบในเรื่อง Short Sell ที่เข้มงวด เช่น ธุรกรรม SBL ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสอบถามไปยังโบรกเกอร์ที่นักลงทุนยืมหุ้นเพื่อมาชอร์ต ว่ายืมถูกต้องหรือไม่ โดยให้ส่งเอกสารยืนยันก่อนที่จะมีการขายหุ้นออก เนื่องจากต้องการเห็นคำสั่งว่าเป็นการซื้อขายหุ้นปกติ หรือเป็นคำสั่งขายลักษณะการยืมหุ้นมาขายชอร์ต
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บอกว่า “การตรวจสอบธุรกรรม Naked Short Selling ทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ด่านแรกตลาดหลักทรัพย์ฯ หากพบการ Short Selling ต้องตรวจสอบว่ามีหุ้นจริงหรือไม่ หรือผิดปกติหรือไม่ หากพบความผิดจะส่งมาให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบแบบเชิงลึกต่อไป ในฐานะหน่วยกำกับมองว่า Naked Short Selling มีโอกาสจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดต้องตรวจให้เจอ และสามารถเอาผิดลงโทษได้”
ส่วนกรณีที่นักลงทุนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยว่ามีนักลงทุนต่างชาติที่ทำ Naked Short Selling ในตลาดหุ้นไทย โดยอ้างว่าฝากหุ้นไว้ใน Custodian ต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการถือหุ้นอยู่จริง
สำนักงาน ก.ล.ต. ยืนยันว่าสามารถดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้อย่างแน่นอน โดยการร่วมมือทำงานกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินงาน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศว่าจะเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายในแต่ละวันเพิ่มเติม คือการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโดยใช้โปรแกรม (Program Trading) เพิ่มเติมจากข้อมูลที่เผยแพร่อยู่แล้ว คือการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม, ธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling) และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR: Non-Voting Depository Receipt)
Algo Trading และ HFT กับพฤติกรรมในตลาดที่เปลี่ยนไป
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงสุดประมาณ 40% ของตลาด ลดลงมาเหลือประมาณ 30% ส่วนกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นคือ นักลงทุนต่างชาติ มาเป็นประมาณ 52%
ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง คือส่วนแบ่งตลาดของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งในตลาด ซึ่งในอดีตแต่ละบริษัทจะมีส่วนแบ่งรายละไม่ถึง 10% แต่ล่าสุด บล.KKPS มีส่วนแบ่งกระโดดขึ้นมาเป็น 21% ตามมาด้วย บล.KGI และ บล.JPM รายละประมาณ 7-8%
ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นของบางบริษัทหลักทรัพย์เป็นผลจาก Algo Trading และ HFT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่สามารถใช้กลยุทธ์แบบเดิมในการซื้อขายได้อีกต่อไป
ณัฐชาตกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า Robot และ HFT เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้รายย่อยถูกขับไล่ออกไป เพราะในอดีตรายย่อยจะอาศัยการแกว่งของราคาหุ้นที่ค่อนข้างสูง แต่ HFT ทำให้กรอบการแกว่งแคบลงอย่างมาก และกระทบต่อการเก็งกำไร
“เมื่อก่อนหุ้นลงแรงไม่ได้แย่มาก ถ้าตามมาด้วยการเด้งของราคา แต่การลงแรงช่วงหลังไม่ได้เด้งแรงเท่ากับในอดีต ก่อนหน้านี้พอหุ้นลงแรงหลายคนชอบ เพราะมีโอกาสเลือกซื้อของถูก แต่ปัจจุบันต่างออกไป
“นักลงทุนควรยึดกับพื้นฐานเป็นสำคัญ สุดท้ายถ้ากำไรดีขึ้น หุ้นจะไม่มีทางยืนอยู่ต่ำได้ตลอด และราคาจะปรับเข้าหาจุดสมดุล”
ส่วนกรณีที่นักลงทุนรายย่อยอาจลดสัดส่วนลงเรื่อยๆ ผู้ที่น่าจะกระทบคือโบรกเกอร์ที่มีสัดส่วนลูกค้ารายย่อยมาก แต่ในมุมของดัชนีหุ้นไทย ณัฐชาตเชื่อว่าจะไม่ถูกกระทบ เพราะท้ายที่สุดหากพื้นฐานหุ้นไทยดีขึ้น ตลาดสามารถอาศัยนักลงทุนกลุ่มใดก็ได้ที่มองเห็นราคาที่เหมาะสม
แหล่งข่าว Prop Trader อีกรายหนึ่งกล่าวว่า โดยปกติแล้ว Prop Trader ที่เน้นการเก็งกำไรระยะสั้นภายในวัน จะอาศัยการสังเกตพฤติกรรมการซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาด ผ่านการเฝ้าหน้าจอเทรดตลอดทั้งวัน
“ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เริ่มเห็นว่าพฤติกรรมในตลาดเปลี่ยนไป ถึงขนาดที่ทำให้ Prop Trader ประมาณ 20% ลาออกไป ส่วนตัวคิดว่าการทำ Short Selling ที่ทำโดย Robot ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นลง แต่ทำให้พฤติกรรมในตลาดเปลี่ยนไป
“ก่อนหน้านี้เทรดเดอร์จะบ่นกันถึงการเข้ามาของ Robot เพราะทำให้เกมยากขึ้น แต่ทุกคนก็เข้าใจเพราะไม่ได้ผิดกติกาอะไร สิ่งที่เจอในตลาดช่วงที่ผ่านมา คือซื้อหุ้นแล้วเจอแรงขายใส่ตลอด ซึ่งถ้าเป็นแรงขายจาก Naked Short จริง จะยิ่งทำให้เสียเปรียบกว่าเดิมหลายเท่า”
ข้อเรียกร้องจากนักลงทุนถึงฝ่ายกำกับ
ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง StockRadars มองว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องเร่งทำคือ ‘ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน’ ส่วนหนึ่งสามารถทำได้จากการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลการ Short Selling ของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม หรือข้อมูลการซื้อขายของ Robot (ซึ่งล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็กำลังเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น)
ในฐานะนักลงทุน เฉลิมเดชเสนอว่า การตรวจสอบ Custodian ควรทำอย่างจริงจัง หรืออาจกำหนดให้นักลงทุนทุกคนที่ต้องการจะทำธุรกรรม Short Selling ต้องสามารถพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อนว่ามีหุ้นที่ยืมมาก่อนจริง
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์น่าจะเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะตัวแทนจากนักลงทุน และตัวแทนจากบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นสองกลุ่มหลักที่มีส่วนได้เสียในตลาด
แหล่งข่าว Prop Trader มองว่า ปัจจุบัน Robot อาจเรียกได้ว่าเป็นนักลงทุนอีกประเภท ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาในการเพิ่มการรายงานข้อมูลการซื้อของนักลงทุนประเภทที่ 5 คือ Robot เพื่อให้นักลงทุนในตลาดได้รับข้อมูลที่มากขึ้น