บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ว่า ปัจจุบันเป็นจังหวะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- เป็นการช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนบางส่วน ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง
- ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ได้เริ่มใช้ ทำให้นโยบายทางการคลังยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงอาจเป็นจังหวะที่ ธปท. ลดดอกเบี้ยลงได้
- ความเสี่ยงจากการลดอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ‘ไม่ได้มีเยอะ’ เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญกับภาวะฟองสบู่
บุรินทร์คาดการณ์ด้วยว่า ธปท. จะนำตัวเลขมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากในตอนแรก ธปท. อาจมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าและเงินเฟ้อสูงกว่านี้
เพราะฉะนั้น หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ออกมาตามคาด แบงก์ชาติก็มีความยืดหยุ่น (Flexible) พอที่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม
ไทยเสี่ยงหลุดระดับศักยภาพ
บุรินทร์กล่าวอีกว่า ตัวเลข GDP ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า โมเมนตัมเศรษฐกิจ ‘อ่อนแอ’ ไปค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2566 ที่ดูน่ากังวลในหลายด้าน เช่น การลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐที่ลดลง ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหลุดจากระดับศักยภาพที่ราว 3-6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสภาพัฒน์แสดงให้เห็นว่า ในไตรมาส 4 ของปี 2566 การบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) ขยายตัว 7.4% ชะลอตัวลงจาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า
นอกจากนี้บุรินทร์ยังชี้ให้เห็นว่า อีกหนึ่งตัวชี้วัดการบริโภคของภาคเอกชนอย่างยอดขายสินค้าคงทน (Durable Goods) ก็เริ่มแผ่ว มีโมเมนตัมไม่ดี สะท้อนว่าคนคิดหนักในการใช้จ่ายกับสินค้าที่มีมูลค่าสูง
เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตราว 2.6% ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต หากรวมเข้าไปคาดว่าจะโตราว 3.1% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่
- การท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเกิน 30 ล้านคน แม้การใช้จ่ายต่อหัวลดลง
- การส่งออก แม้ในช่วงต้นปีไตรมาส 1 และ 2 มีความท้าทาย แต่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต 2% เนื่องมาจากฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว
- การลงทุนภาครัฐ จากความชัดเจนของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ
- ประเมินท่าทีแบงก์ชาติ พร้อมลดดอกเบี้ยแค่ไหน
สำหรับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า โอกาสที่ GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 จะติดลบ QoQ ‘ยังมีน้อยอยู่’ พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 น่าจะทรงตัว QoQ เนื่องจากแม้ยังไม่มีงบประมาณจากภาครัฐเข้ามา แต่ภาครัฐก็น่าจะยังเร่งเบิกจ่ายเงินที่เหลือจากปีงบประมาณ 2566 ต่อไปได้ ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐก็น่าจะยังไม่หดตัวรุนแรง ขณะที่การส่งออก QoQ ก็น่าจะยังขยายตัวต่อได้ แม้ว่าจะมีความกังวลต่อสถานการณ์ในทะเลแดงก็ตาม