ความคืบหน้าของนโยบาย Entertainment Complex คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2024 โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาจัดทำร่างกฎหมาย ควบคู่กับการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ปรับปรุงร่างกฎหมาย และเสนอคณะรัฐมนตรี
หากย้อนไปในช่วงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน คณะรัฐมนตรีได้ประชุม โดยกระทรวงคมนาคม ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย, กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณ ‘ท่าเรือคลองเตย’ ในส่วนที่ปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ว่างหรือเป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร และปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
โดยให้จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจน เหมาะสม และแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สาธารณะของชาวกรุงเทพฯ
ถึงแม้วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของพื้นที่ แต่ก็มีกระแสข่าวว่า มีการผลักดันเสนอให้ใช้พื้นที่ท่าเรือคลองเตยเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุน ‘Entertainment Complex’
ในเวลานี้อยู่ในช่วงรอยต่อรัฐบาล แม้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ว่า จะสนับสนุนนโยบายนี้ในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร
ผุดสถานบันเทิงครบวงจรภายใต้ชื่อ ‘The Royal Siam Haven’
จึงเห็นข่าวคราวการประกาศเปิดตัวโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ ‘ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ที่จะสร้าง Entertainment Complex หรือสถานบันเทิงครบวงจร ภายใต้ชื่อ ‘The Royal Siam Haven’ มูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท สร้างความฮือฮาไม่น้อย
โดยบริษัทชั้นนำระดับโลกก็ออกมาประกาศว่าพร้อมจะลงทุนในไทย และสมาคมฯ จะเป็นหนึ่งในผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบันเทิงครบวงจรตามแผนของรัฐบาล
หอการค้าไทยเผยผลสำรวจ: กรณีศึกษา ลาสเวกัส มาเก๊า สิงคโปร์
ด้าน ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainmemt Complex) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า ‘ผลสำรวจยังไม่ชัดเจน’ ว่าจะสนับสนุนให้เปิดสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งหากรัฐบาลจะเดินหน้า จะต้องให้ความรู้กับประชาชน เพราะผลสำรวจส่วนใหญ่ 41% ยังไม่เห็นด้วย
ขณะที่เมื่อศึกษาตัวอย่างของประเทศที่อนุญาตให้เปิดคาสิโนถูกกฎหมาย เช่น ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา, มาเก๊า, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่ารายได้จากคาสิโน เช่น ลาสเวกัส ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์, มาเก๊า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และเวียดนาม 5 พันล้านดอลลาร์
มูลค่าเหล่านี้เป็นเงินที่เป็นรายได้เข้าประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และประเทศที่เปิดคาสิโนถูกกฎหมายก็ไม่มีภาพลักษณ์ของการพนันที่รุนแรง เนื่องจากเวลาที่คนไปเที่ยวสิงคโปร์และเวียดนามก็ไม่ได้บอกว่าจะไปคาสิโน แต่คาสิโนเป็นเพียงผลพลอยได้จากการท่องเที่ยว
ส่วนประเทศไทยหากเปิดสถานบันเทิงครบวงจรก็จะทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ภายใต้สถานบันเทิงครบวงจรในบริบทของประเทศไทยที่คาดว่าจะประกอบด้วยบริการต่างๆ เช่น คาสิโน, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรมหรู 5 ดาว, ร้านอาหารและบาร์, ศูนย์การประชุม, สวนสนุก, สวนน้ำ, สถานที่แสดงโชว์ และอื่นๆ แต่ต้องศึกษาผลกระทบรอบด้าน
กรณีศึกษา หากเปิดในพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ผลกระทบเชิงบวก-ลบ
โดยผลกระทบเชิงบวก-ลบ หากรัฐบาลวางแผนเปิด คาดว่าจะมีพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ท่าเรือคลองเตย (กทม.), พื้นที่บางกะเจ้า (สมุทรปราการ), พื้นที่ EEC, เชียงใหม่ และภูเก็ต คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2576
ผลกระทบทางบวกที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
- การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
- การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการท่องเที่ยว การสร้างงาน
- กระจายรายได้ในภาคบริการ รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้รัฐผ่านภาษีและค่าธรรมเนียม
ผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น
- ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจใต้ดิน
- ผลกระทบต่อหนี้สินครัวเรือน
- ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่อาจเพิ่มขึ้น ตลอดจนต้นทุนทางสังคมจากปัญหาการติดการพนัน
ทุนใหญ่ LVS-MGM พร้อมลงทุน หากกฎหมายเปิดทาง
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้สื่อมาเก๊ารายงานว่า Rob Goldstein ประธานบริหาร Las Vegas Sands (LVS) ยืนยันว่าสนใจลงทุนคาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย ภายใต้โครงการสถานบันเทิงครบวงจร Entertainment Complex
โดย Goldstein มองว่าการเปิดคาสิโนในประเทศไทยอาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าในญี่ปุ่น สอดคล้องกับนักวิเคราะห์บางรายที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า ไทยจะเปิดให้บริการได้ในปี 2029 ก่อนหน้าญี่ปุ่นจะเปิด MGM Osaka ที่มีกำหนดการเปิดให้บริการในปี 2030
อีกทั้งสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า MGM Resorts International และ Galaxy Entertainment Group ก็อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพการเปิดคาสิโนในไทยเช่นกัน
นอกจากนี้ Maybank ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน รายงานว่า Genting Singapore อาจเข้าร่วมประมูลเพื่อประกอบกิจการคาสิโนในไทยอีกด้วย
รายงานข่าวระบุว่า การทำให้คาสิโนซึ่งเป็นศูนย์รวมความบันเทิงในประเทศไทยถูกกฎหมายนั้น นอกจากจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว คาดว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยต่อหัวจะเพิ่มขึ้น 52% อยู่ที่ 65,050 บาท (ราว 1,790 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อทริปในไทย
เบื้องต้นข้อเสนอของรัฐบาลไทยมีการเสนอการจัดเก็บภาษีรายได้จากการเล่นเกมขั้นต้น (GGR) ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ (ร้อยละ 17)
Fun Economy ความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ด้านความคืบหน้าของกฎหมาย เมื่อเร็วๆ นี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ระบุว่า ปัจจุบันสถานบันเทิงครบวงจรตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมในกลุ่ม Fun Economy ซึ่งเติบโตรวดเร็ว สามารถต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมกีฬา สถานบันเทิง และธุรกิจการจัดประชุมและจัดนิทรรศการ (MICE)
อย่างไรก็ตาม การนำธุรกิจคาสิโนและการพนันถูกกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบ ต้องมีมาตรฐานภายใต้การควบคุมของกฎหมาย และจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง
“Fun Economy เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ทั้งโลกอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 14% ของ GDP ทั้งโลก นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมหาศาล และเกี่ยวข้องกับอีกหลายอุตสาหกรรม”
โดยหากดูมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2022 สถานบันเทิงครบวงจรทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2028
เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าในทุกมิติแล้ว หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะพลิกโฉมท่าเรือคลองเตย เนรมิต ‘เมืองแห่งคาสิโน’ หรือเป็นแค่ฝันที่คนไทยอาจได้…ไม่คุ้มเสีย?