×

AMRO ย้ำ รัฐบาลไทยควรลงทุนมุ่งเป้าหมายระยะยาว-ปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อดันศักยภาพเศรษฐกิจกลับไปโต 3-4%

25.05.2024
  • LOADING...

Dr.Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) แนะรัฐบาลไทยควรใช้จ่ายทางการคลังกับเป้าหมายระยะยาว เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับทักษะของกำลังแรงงาน และการลงทุนด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภคแบบครั้งเดียว

 

ทั้งนี้ Dr.Hoe Ee Khor ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค รวมไปถึงมุมมองต่อนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ต้องใช้ต้นทุนราว 5 แสนล้านบาท

 

“โดยทั่วไป หากคุณกระตุ้นการบริโภคแบบครั้งเดียว (One-Off) ก็จะเกิดผลลัพธ์แบบ (One-Off) แต่หากใช้จ่ายเงินกับโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถปรับปรุงเศรษฐกิจให้มีศักยภาพเติบโตในระยะยาวได้” Dr.Hoe Ee Khor กล่าว

 

พร้อมทั้งยังมองว่า ในปีนี้ การบริโภคภาคครัวเรือนของไทยจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป สะท้อนว่า ครัวเรือนอาจไม่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมในแง่ของการใช้จ่าย

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ การบริโภคของภาคเอกชนโตเกือบ 7% และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.5%YoY ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

 

ชี้ว่าลงทุนระยะยาวช่วยดันศักยภาพเศรษฐกิจกลับไปโต 3-4%

 

“นอกเหนือจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มทักษะกำลังแรงงาน ไทยควรเร่งลงทุนด้านเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงกลางของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ” Dr.Hoe Ee Khor กล่าว

 

โดยหากรัฐบาลหันไปลงทุนกับเป้าหมายระยะยาวๆ Dr.Hoe Ee Khor เชื่อว่า ระดับการเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP Growth) จะกลับมาอยู่ที่ 3-4% ต่อปี

 

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักตอนนี้คาดว่า Potential GDP Growth ของไทยลดลงราวครึ่งเปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่ 2.5% ต่อปีเท่านั้น

 

แนะรัฐบาลเร่งสร้างพื้นที่ทางการคลัง (Policy Space)

 

Dr.Hoe Ee Khor ยังแนะว่า รัฐบาลไทยควรกลับมาเร่งสร้างพื้นที่ทางการคลังที่หายไปเนื่องจากการระบาดใหญ่ ผ่านการรัดเข็มขัด (Fiscal Consolidation) และลดค่าใช้จ่ายทางการคลังที่ไม่จำเป็น

 

“การทำเช่นนี้จะทำให้การขาดดุลทางการคลังลดลง และจะสามารถสร้างพื้นที่ทางการคลังขึ้นใหม่ได้เมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากสิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในทันที นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้น เมื่อเวลานั้นมาถึง ไทยจะต้องมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอ”

 

 

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคกำลังฟื้นท่ามกลางความเสี่ยง

 

AMRO คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียน+3 จะโตที่ 4.5% ในปี 2567 จาก 4.3% ในปี 2566 และโตอีก 4.2% ในปี 2568 แม้จะมีความท้าทายและความเสี่ยงมากมาย เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

 

การส่งออก (Export Sector) ที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งน่าจะดำเนินต่อไปจนถึงช่วงปลายปีนี้ ท่ามกลางการบริโภคในสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ซึ่งหมายความว่าจะมีการนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากภูมิภาคอาเซียน+3 มากขึ้น

 

ภาคบริการ (Service Sector) ที่ยังคงฟื้นตัวแข็งแกร่งโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ดังนั้นในฝั่งอุปสงค์ภายนอก (External Demand) ในปีนี้จะแข็งแกร่งกว่าปีที่แล้ว เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศต่างๆ (Domestic Demand) ก็ยังคงมีความยืดหยุ่น

 

การลงทุน (Investment) คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปีนี้เช่นกัน

 

สำหรับประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน หลังจาก GDP ขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566 เนื่องมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยในปี 2567 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.9% จากนั้นจะเติบโตต่อไปโดยแข็งแกร่งขึ้นเป็นประมาณ 3.1% ในปีหน้า

 

โดยเหตุผลหลักมาจากการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะฟื้นตัว ท่ามกลางการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวค่อนข้างแข็งแกร่ง

 

จับตาภูมิรัฐศาสตร์ ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทย

 

ท่ามกลางเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่นในหลายพื้นที่ รวมถึงในเมียนมาและตะวันออกกลาง อาจเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งพึ่งพิงต่างประเทศ (External Sectors) ค่อนข้างสูง เช่น การส่งออกและท่องเที่ยว 

 

Dr.Hoe Ee Khor มองว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาต่อเศรษฐกิจไทยคงไม่ใหญ่มาก ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ที่ชายแดน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่าอาจมาจากการแตกย่อย (Fragmentation) ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน 

 

“หนึ่งในความเสี่ยงจากการหาเสียงของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือการเกิดขึ้นของวาทกรรมประชานิยมมากมาย ตัวอย่างเช่น มาตรการขึ้นภาษีสินค้าหลายรายการจากจีนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนว่านักการเมืองสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อจีนมากขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ผลกระทบมาถึงไทยยังค่อนข้างน้อย”

 

ดังนั้น Dr.Hoe Ee Khor มองว่า อีกความเสี่ยงสำคัญคือ ต้องจับตาดูว่าผู้ใดจะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ในอีกทางหนึ่ง “ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจทำให้บรรษัทข้ามชาติจำนวนมากเลือกทำกลยุทธ์ China Plus One ด้วยเหตุนี้ บริษัทเหล่านี้จำนวนมากจึงย้ายที่ตั้งไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยด้วย” Dr.Hoe Ee Khor กล่าว

 

ทั้งนี้ China Plus One คือกลยุทธ์ของจีนที่พยายามจะรักษาสถานะ ‘โรงงานของโลก’ โดยการกระจายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

 

ไม่ห่วงบาทอ่อน มองสอดคล้องกับภูมิภาค

 

ท่ามกลางความไม่แน่นของทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เงินบาทในปีนี้มีความผันผวน และอ่อนค่าไปกว่า 7% ตั้งแต่ต้นปี

 

อย่างไรก็ดี Dr.Hoe Ee Khor มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในปีนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าห่วงนัก เนื่องจากฐานะต่างประเทศ (External Position) ของไทยยังแข็งแกร่งมาก ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็สูง ดังนั้นเราจึงไม่ได้กังวลว่า การไหลออก (Outflow) จะนำไปสู่ปัญหาในแง่ของดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) พร้อมทั้งชี้ว่า ไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่ทุกประเทศก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่เงินบาทตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ‘มากกว่าเดิม’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขล่าสุดต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอ่อนแอเกินคาด แม้ว่าดุลเดินสะพัด (Current Account) จะดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่กดดัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกอ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้

 

เปิดมุมมอง ‘เงินบาท’ ในช่วงที่เหลือของปี

 

ในระยะข้างหน้า Dr.Hoe Ee Khor คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะยังคง ‘อ่อนค่าอยู่’ เนื่องจากตัวเลขล่าสุดบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับสูงนานขึ้น และอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย หากอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป นั่นจะเป็นแรงกดดันต่อทุกสกุลเงินให้ยังอ่อนค่าอยู่ ไม่ใช่แค่เงินบาท 

 

ดังนั้น Dr.Hoe Ee Khor มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินบาทโดยเฉพาะ หรือตราบเท่าที่เงินบาทเคลื่อนไหวตามสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ‘สูงกว่าที่ควรจะเป็น’ อยู่แล้ว

 

“ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ถูกต้องสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะทำคือ เพียงอดทนต่อค่าเงินที่อ่อนค่าลงในขณะนี้” Dr.Hoe Ee Khor กล่าว

 

AMRO มอง ‘แบงก์ชาติ’ ไม่มีเหตุผลต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

 

Dr.Hoe Ee Khor อธิบายว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ดังนั้น สำหรับบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จึงมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงกว่าประเทศไทยมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า

 

“ตอนนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% และอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่า 1% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) จึงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค”

 

ดังนั้น Dr.Hoe Ee Khor จึงมองว่า ไม่มีเหตุผลที่ ธปท. จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก เพราะจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้คือ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้

 

ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงเกิน 90% ของ GDP และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง จึงมีแรงกดดันให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้าง เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ดี Dr.Hoe Ee Khor มองว่า เครื่องมือที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยคือ การใช้นโยบาย Macroprudential จะมุ่งเน้นที่การกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบองค์รวม ต่างจาก Microprudential ที่เน้นการกำกับดูแลสถาบันการเงินเป็นรายๆ ไป

 

“วิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือ การยกระดับ Macroprudential Policy ให้เข้มงวดขึ้น ให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือนอย่างเข้มงวดมากขึ้น”

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising