ท่อส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ LNG ที่ผูกขาดความสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 1998 เริ่มกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และกำลังเป็น ‘ไพ่’ ใบสำคัญในการต่อรองเจรจาภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ขุมทรัพย์พลังงานขั้วโลกเหนือแห่งนี้ ผลักดันให้พันธมิตรทางการค้าไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และอีกหลายประเทศในเอเชีย พิจารณาลงทุนในโครงการพลังงานขนาดใหญ่ รวมถึง ‘ไทย’
“แม้ต้องข้ามเทือกเขา 3 แห่งและแม่น้ำ 800 สายมายังญี่ปุ่นและเส้นทางเอเชีย”
Alaska LNG พัฒนาโดย AGDC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐอลาสก้า มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซในเชิงพาณิชย์จากพื้นที่ ‘North Slope’ ที่ได้รับอนุญาตส่งจากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงานของรัฐบาลกลาง
โครงการนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การสร้างท่อส่งก๊าซความยาว 800 ไมล์ข้ามรัฐ โรงงานแปรรูปก๊าซ และโรงงานแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวเพื่อการส่งออก
โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็สนใจที่จะลงทุน แม้ว่าจะล้มเหลวมาแล้วหลายครั้งก็ตาม ทว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องหาวิธีที่จะดึงประเทศในเอเชียอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม “โดยใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ให้สำเร็จ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์…
- ‘ญี่ปุ่น’ ส่งผู้แทนการค้าถกสหรัฐฯ เป็นชาติแรก เปิดไพ่ซื้อก๊าซ LNG เพิ่ม ลงทุนอีกล้านล้าน…
- ปลัดพลังงาน-ปตท. เยือนสหรัฐฯ ลุยเจรจานำเข้าก๊าซแหล่ง Alaska LNG 3-5 ล้านตันต่อปี
‘อลาสก้า’ ซ่อนขุมทรัพย์น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 หรือ 27 ปีที่แล้ว สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า Marubeni วางแผนศึกษาความเป็นไปได้กับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ
สำหรับการผลิต LNG ในแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตอนเหนือของอลาสก้า นั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างท่อส่งไปยังชายฝั่งแปซิฟิก ซึ่งก๊าซจะแปลงให้เป็นของเหลวและส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
ในเวลานั้น การผลิตควรจะเริ่มต้นในปี 2007 แต่โครงการนี้ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
แหล่งข่าวรายหนึ่ง ที่รายงานแผนของ Marubeni ระบุว่า เวลาผ่านไปนานหลายปี วันนี้รู้สึกราวกับเคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อ LNG ของอลาสก้าถูกหยิบยกขึ้นมาในการประชุมสุดยอดระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ และทรัมป์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
Alaska LNG ทางเลี่ยง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ลำเลียงพลังงานสู่ตลาดเอเชีย?
เมื่อพูดถึง “ขุมทรัพย์” เทียบกับแหล่งพลังงานญี่ปุ่น เรียกได้ว่า โครงการนี้ แต่ละปีจะมีกำลังการผลิต 20 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของการบริโภคทั้งหมดของญี่ปุ่น
”แน่นอนว่า แนวคิดนี้มีประโยชน์มากมาย แม้ได้มีการหยิบยกซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทว่า อลาสก้าไม่ได้มีแค่ฉลามวาฬขาวหรือหุบเขาน้ำแข็ง แต่กลับซ่อนไปด้วยน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกล้นเหลือ”
ก๊าซธรรมชาติเหลวที่สกัดได้จากที่นั่นจะใช้เวลาเดินทางถึงญี่ปุ่นถึง 7 วัน ซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งเดียวของการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวจากอ่าวเม็กซิโกผ่านคลองปานามา และไม่จำเป็นต้องผ่านจุดคอขวดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ช่องแคบฮอร์มุซ หรือทะเลจีนใต้
แต่ผู้ที่ทราบเรื่องนี้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ “เป็นความท้าทาย” เนื่องจากบริเวณเนินเหนือตั้งอยู่บนมหาสมุทรอาร์กติกซึ่งมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด
“การขนส่งก๊าซธรรมชาติไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาต้องใช้ท่อส่งก๊าซยาว 1,300 กิโลเมตร ซึ่งแหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าต้องข้าม “เทือกเขา 3 แห่งและแม่น้ำ 800 สาย”
อีกทั้ง โครงการนี้คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์ และราคาอุปกรณ์และวัสดุก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการตอบสนองที่ไม่สู้ดีจากบริษัทเอ็กซอน โมบิล บริษัทโคโนโคฟิลลิปส์ และบริษัทพลังงานอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ใน ‘North Slope’
“ในแง่การค้าขาย คงไม่มีใครอยากซื้อ LNG ในราคาที่สูงกว่า แม้ว่าการทำเช่นนี้จะมีประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานก็ตาม”
ประธานฝ่ายการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ทัตสึโอะ ยาสึนางะ กล่าวในการแถลงข่าวว่า “เราจะประเมินอย่างรอบคอบว่า LNG นั้นมีความสามารถในการทำกำไรและยั่งยืนหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม การหยิบยก Alaska LNG เข้าไว้ในการเจรจาภาษีศุลกากร ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ทำให้สถานการณ์ ‘มีความซับซ้อนมากขึ้น’
อีกหนึ่งข้อต่อรองที่ต้องกลับมาพูดถึง อีกมิติ จะพบว่า ในปี 2024 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ ที่ 7 ล้านล้านเยน (49,000 ล้านดอลลาร์)
“คาดว่าการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของทรัมป์จะกระทบถึงล้านล้านเยน การชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเหล็ก สารเคมี และวัสดุอื่นๆ เช่นกัน”
ไม่ใช่แค่นั้น ทรัมป์ยังประกาศภาษี “ตอบโต้” แยกต่างหากสำหรับพันธมิตรทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่นอีกด้วย เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของญี่ปุ่นอาจลดลง 0.6%
การซื้อ LNG ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนในโครงการอลาสก้าเป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่ญี่ปุ่นใช้ในการเจรจาภาษีศุลกากร รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ LNG กับความเป็นไปได้ในการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
เบื้องหลังที่ทรัมป์อยากได้กรีนแลนด์ เพราะ LNG?
มีข้อมูลน่าสนใจว่า ก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ถูกค้นพบของโลก 30% อยู่ใต้ทะเลอาร์กติก ทำให้ทรัมป์แสดงความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ โดยอาจพิจารณาทรัพยากรในอาร์กติกและวางเป็น ‘เส้นทางเดินเรือเชิงยุทธศาสตร์’
ขณะเดียวกัน รัสเซียเป็นผู้นำในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเส้นทางเดินเรือในอาร์กติก โดยผลิต LNG ในภูมิภาคทางตอนเหนือของอาร์กติก และขนส่งเชื้อเพลิงไปยังยุโรปและเอเชียโดยใช้เรือตัดน้ำแข็ง
เมื่ออาร์กติกกลายเป็นสมรภูมิการครอบงำด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย “การพัฒนา LNG ในอลาสก้าอาจมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น”
“ทำให้สหรัฐใช้ LNG อลาสก้า เพื่อต่อรองภาษี และเพื่อความมั่นคงด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเยือนเอเชียในเดือนมีนาคม “Mike Dunleavy” ผู้ว่าการรัฐอลาสก้าได้ลงนามในจดหมายแสดงเจตจำนงกับประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ของไต้หวัน เพื่อขาย LNG เกาะแห่งนี้ปีละ 6 ล้านตัน
ไต้หวันไม่สามารถหันหลังให้กับสหรัฐอเมริกาได้ง่ายๆ เมื่อพิจารณาถึงภัยคุกคามของวิกฤตที่กำลังปะทุขึ้นในช่องแคบไต้หวัน
“มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจผูก LNG จากอลาสก้าเข้ากับประเด็นต่างๆ เช่น การซื้ออุปกรณ์ป้องกันประเทศและการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศในการติดต่อกับญี่ปุ่น”
ทั้งนี้ พลังงานและการป้องกันประเทศเป็น ‘เหรียญสองด้าน’ เมื่อโลกต่างแสวงหาการค้าเสรี อุปทานและอุปสงค์ของพลังงาน และราคาจะถูกกำหนดโดยตลาด ทว่า ทรัมป์เป็นผู้เขย่าสงครามการค้าให้ปะทุอีกครั้ง
“ท่ามกลางดีลแหล่งพลังงาน ที่นับวันจะมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีความสำคัญทั้งเชิงยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน”
Alaska LNG มีความสำคัญกับไทย
ถามว่า Alaska LNG เกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร นั้น กระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ปตท. กฟผ. เดินทางไปเจรจาโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวที่อลาสก้า
เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเยือนไทยของ Mike Dunleavy ผู้ว่าการรัฐอลาสก้า เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งสหรัฐอเมริกา ได้เสนอข้อริเริ่มความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG เพิ่มเติมจากความร่วมมือเดิมที่ไทยได้มีการนำเข้าน้ำมันและรับซื้อ LNG จากสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
จากการสำรวจและหารือได้ข้อสรุปเบื้องต้น พบว่า “แหล่งอลาสก้าถือเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ มีปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วในพื้นที่ North Slope กว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่สามารถผลิตและส่งออก LNG ได้กว่า 40 ล้านตันต่อปี”
อีกทั้งส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียได้อย่างสะดวกผ่านทางมหาสมุทรแปซิฟิกในราคาที่แข่งขันได้
“เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซต่ำ และสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ภายใน 10-15 วัน ในขณะที่ขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางใช้ระยะเวลาถึง 25-30 วัน” ประเสริฐ กล่าว
ความร่วมมือเชิงธุรกิจของภาคเอกชนไทย-สหรัฐฯ ด้านพลังงาน ในช่วงปี 2022-2024 ที่ผ่านมา ปตท. มีการซื้อ LNG จากสหรัฐ ประมาณ 60 cargoesเป็นปริมาณ 1 ล้านตันจากหลายแหล่ง เช่น Corpus, Christi, Cameron LNG, Freeport
ขณะที่ ล่าสุด คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองว่า โครงการ Alaska LNG มีความน่าสนใจ เนื่องจากระยะทางใกล้กว่าแหล่งอื่นในสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่น ทันสมัย
“อนาคต ปตท. อาจจะเข้าไปซื้อแต่จะไม่เข้าไปลงทุน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. มีความร่วมมือกับสหรัฐในหลายโครงการ มีการลงทุนไปแล้วกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น โครงการในรัฐเท็กซัส อลาสก้า มีการทำสัญญาซื้อขายด้านปิโตรเคมี ปิโตรเลียม รวมถึงการซื้อน้ำมันดิบ ประมาณ 10% อีกด้วย”
ท้ายสุด คงกระพันย้ำว่า ไทย โดยบริษัท ปตท. ยังคงตั้งเป้าวิชั่นเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค ให้สำเร็จ
ภาพ: Harvey Meston / Archive Photos / Getty Images, Blue Poppy / Getty Images, Construction Photography / Avalon / Contributor / Getty Images
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/Alaska-LNG-white-whale-of-US-Japan-ties-key-to-tariff-talks?fbclid=IwZXh0bgNhZW0BMQABHmn85LXWn2-rdFVO7F0nDcTi7QasyiDCUh7AgJG_BDSb_-6ea0mAbFBnPXxK_aem_GcSoJYf9q336DNsqDSN6Ug
- https://alaska-lng.com/project-overview
- https://www.reuters.com/business/energy/biden-admin-greenlights-lng-exports-alaska-project-document-2023-04-14/