×

จับตา หุ้นร้อน ปี 2565 หวือหวาลดลง หลัง ตลท. จ่อยกระดับมาตรการเข้มข้นขึ้น

13.01.2022
  • LOADING...
หุ้น

จับตา หุ้นร้อน ปี 65 หลังจากที่ปี 2564 นับเป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้นำมาตรการกำกับการซื้อขายออกมาใช้เพื่อดับความร้อนแรงในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนทั้งใน SET และ mai โดยเฉพาะความหวือหวาของหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ทั้งราคาและมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เคลื่อนไหวผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยทีมข่าว THE STANDARD WEALTH สำรวจพบว่า ตลอดทั้งปี 2564 ตลท. ต้องตัดสินใจใช้มาตรการจับขังเพื่อดับความร้อนแรงของหุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติ ทั้ง 3 ระดับ มากถึง 153 หลักทรัพย์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 378% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่มีเพียง 32 หลักทรัพย์เท่านั้น

 

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของมาตรการดับร้อนดังกล่าวก็พบว่า ในปีที่ผ่านมาหุ้นจำนวน 153 หลักทรัพย์ ล้วนเป็นหุ้นที่ถูก ตลท. ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ซึ่งกำหนดให้สมาชิกหรือโบรกเกอร์ต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น ทำให้ลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ 

 

ขณะเดียวกัน ตลท. ยังได้ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 คือ ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีกขั้น เพื่อดับความร้อนแรงของหุ้นเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีจำนวนถึง 29 หลักทรัพย์ จากปี 2563 ที่มีเพียงแค่ 1 หลักทรัพย์เท่านั้น

 

นอกจากนี้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 ห้าม Net Settlement ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance ซึ่งถือเป็นมาตรการเข้มงวดระดับสูงสุดก็ถูกนำออกมาใช้อีกเช่นกันถึง 9 หลักทรัพย์ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่ไม่เคยได้นำมาตรการระดับ 3 ออกมาใช้เลย

 

ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้มาตรการดับร้อนที่เพิ่มขึ้นมามากเกือบ 400% นี้ บ่งชี้ว่าในปี 2564 ตลาดหุ้นไทยมีการซื้อๆ ขายๆ แบบเก็งกำไรเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงเก็งกำไรที่เข้ามาในหุ้นขนาดกลางและเล็ก

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และนำไปสู่ภาวะผู้คนตกงาน พบว่าเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็คือ ผู้คนหันมาหารายได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือเก็งกำไร

 

“นับตั้งแต่โควิดระบาดเมื่อปี 2563 คนทั่วโลกตกงานกันจำนวนมาก รัฐบาลของแต่ละประเทศประกาศล็อกดาวน์ ให้เงินช่วยเหลือประชาชนของตัวเอง เมื่อไม่มีรายได้ พวกเขาก็เอาเงินเหล่านี้มาหารายได้ในตลาดหุ้นเพื่อเลี้ยงตัวเอง มันเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีตัวอย่างที่ชัดเจนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยก็เหมือนกัน”

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น สรพลกล่าวว่า ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการแพร่ระบาดโควิด พบว่าเริ่มมีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาในหุ้นขนาดกลางและเล็กมากขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องสูงมาก เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายต่อวันที่จะอยู่ในระดับ 8-9 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่บางวันทะลุหลักแสนล้านบาท

 

“ปีที่ผ่านมาหุ้นใหญ่เล่นลำบาก เวลาที่หุ้นขึ้น ต่างชาติก็ขาย คนส่วนมากเลยหันมาเล่นหุ้นขนาดกลางและเล็กกัน หุ้นพวกนี้เมื่อคนเข้าไปเล่นมากๆ ราคาก็มา วอลุ่มก็มา ระบบของตลาดก็จะส่งสัญญาณเตือน และก็จะถูกใช้มาตรการต่างๆ เข้ามากำกับดูแล

 

ถ้ามองว่าปี 2564 มีหุ้นถูกมาตรการกำกับการซื้อขายมากขึ้นเพราะอะไร ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเพราะภาพรวม Sentiment มันดีกว่าปี 2563 คนไม่กลัวโควิดแล้ว คนได้รับเงินเยียวยา มีสภาพคล่องมากขึ้น ก็เข้ามาหารายได้จากตลาดหุ้น เล่นหุ้นที่ไม่ต้องใช้เงินมากแต่สามารถทำกำไรได้”

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปี 2565 สรพลมองว่าจะมีความยากลำบากมากกว่าปี 2564 เนื่องจากมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง การปรับลด QE อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบหดหาย ดังนั้นการเข้าไปลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็กจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

 

ด้านชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น พบว่าสภาพคล่องในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นมาก เพราะนักลงทุนคลายความกังวลความรุนแรงของโควิด และหันมาหาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

 

“วอลุ่มตลาดปีที่แล้วสูงมาก นักลงทุนซื้อขายกันเกือบแสนล้านบาท ส่วนใหญ่ซื้อหุ้นเล็กทั้งนั้น ดูได้จากดัชนีตลาด mai บวกขึ้นไปกว่า 73% แต่ SET ขึ้นไปได้แค่ 14% เพราะคนอยากได้ผลตอบแทน คนกล้าที่จะเสี่ยงเลยเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นเล็กมากขึ้น”

 

ชาญชัยกล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าจำนวนหลักทรัพย์ที่จะถูกกำกับด้วยมาตรการซื้อขายจะลดลง อันเป็นผลจากกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นมากขึ้นของ ตลท. เพื่อลดการเก็งกำไร รวมทั้งคาดว่าเมื่อมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% จะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายและแรงเก็งกำไรลดลงด้วย

 

ก่อนหน้านี้ ตลท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นไทยจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเสนอปรับปรุงด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการซื้อขาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนที่จะซื้อหลักทรัพย์ที่มีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และเพื่อจำกัดอำนาจซื้อ เป็นการยกระดับการกำกับดูแลให้เหมาะกับสภาพการซื้อขายที่ร้อนแรงขึ้นในปัจจุบัน แบ่งเป็นข้อเสนอปรับปรุง ดังนี้

 

 

ผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นพบว่า ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ซึ่ง ตลท. อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าจะสามารถบังคับใช้มาตรการใหม่ได้ภายในต้นปี 2565

 

ขณะที่ เบญจพล สุทธิ์วนิช รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชียเวลท์ กล่าวว่า ปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะลดความร้อนแรงลง เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงมากแล้ว ดังนั้นการเข้าไปลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่ถูกตลาดเตือนให้ระมัดระวัง ก็ไม่ควรไล่ราคา รวมทั้งนักลงทุนต้องเลือกใช้กลยุทธขายล็อกกำไรเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นด้วย

 

หุ้น

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising