วันนี้ (16 พฤษภาคม) เวลา 11.00 น. ที่อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย We Watch จัดงานแถลงข่าว ‘ผลสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 2566’ โดยผู้แถลงการณ์ได้แก่ พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน, กฤต แสงสุรินทร์ และ ณัฐชลี สิงสาวแห
พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า We Watch มีจำนวนอาสาสมัครสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งจำนวนกว่า 9,000 คน สังเกตในหน่วยเลือกตั้งราว 11,622 หน่วย จำนวน 350 เขต ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครได้รับการฝึกอบรมให้ถูกต้องตามกฎของ กกต. และกฎหมาย อาสาสมัครที่เป็นประชาชนทั่วไป เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในเวลา 08.00 น. จนไปถึงขั้นตอนของการนับคะแนน
กฤตกล่าวถึงบรรยากาศในการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไป ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งในการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 จากจำนวน 28 ครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย สัญญาณการตื่นตัวของประชาชนมาจากการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนออกมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน
กฤตกล่าวเสริมว่า ความกังวลในขั้นตอนการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตภูมิลำเนาเพื่อนับคะแนน และมีปัญหาของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมได้ ในกรณีที่ลงทะเบียนไว้ 200,000 คน อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่พบความรุนแรงขั้นวิกฤต We Watch ไม่พบรายงานความรุนแรงระหว่างการใช้สิทธิ แต่พบการติดตามอาสาสมัครจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครถ่ายภาพและสังเกตการณ์
ณัฐชลีกล่าวถึงกฎหมายและการจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้เกิดขึ้นครั้งจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ดังนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งผลต่อการกำหนดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดยนอกเหนือจากข้อกำหนดแล้วในหลายกรณีส่งผลต่อการใช้สิทธิของประชาชน ดังนี้
- กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี
- การตัดสิทธิพลเมืองหลากหลายกลุ่ม เช่น นักบวช ผู้ป่วยทางจิต และผู้ต้องขัง
- การใช้ระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ หมายเลขผู้สมัครและหมายเลขพรรคไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชน
- การเสียสิทธิของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิหลากหลายสาเหตุในวันดังกล่าว
- ระยะเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มดำเนินงานและบริหารประเทศได้ล่าช้า
ณัฐชลีกล่าวเสริมว่า กระบวนการลงคะแนนมีข้อสังเกตและกังวลหลายประการที่จะสามารถยกระดับให้การเลือกตั้งในทุกระดับในอนาคตเพื่อลดข้อบกพร่องต่อการจัดการเลือกตั้งได้มากขึ้น We Watch และประชาชนผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งมีข้อกังวลต่อการจัดการเลือกตั้งเป็นพิเศษ โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้
- ปัญหาประสิทธิภาพในการจัดการหน่วยเลือกตั้ง เช่น สถานที่ลงคะแนนไม่เอื้ออำนวยต่อผู้พิการ คนสูงอายุนั่งรถเข็น ฯลฯ บางหน่วยเลือกตั้งพบว่าทางขึ้นคูหาเลือกตั้งเป็นพื้นยกระดับสูง อีกทั้งไม่มีทางลาดที่ใช้สำหรับรถเข็นคนพิการ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในบางหน่วยจากหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และชลบุรี นอกจากนั้นยังมีข้อกังวลปัญหาว่าด้วยความเป็นกลาง เช่น พบป้ายหาเสียงติดอยู่ที่กระดานปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง และระบบการรายงานผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การรายงานผลที่ล่าช้าและมีจำนวนคลาดเคลื่อนจากที่ประกาศไว้
- การละเลยหลักการลงคะแนนเป็นความลับ ในหลายพื้นที่พบว่าด้านหลังคูหาไม่มีกระดานทึบหรือกำแพงมาบังด้านหลังคูหา อาจทำให้มีการสอดส่องการลงคะแนนได้ ลักษณะเช่นนี้เกิดในบางหน่วยของกรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ
- ข้อผิดพลาดของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น กรณีที่พบรายชื่อบุคคลที่ไม่รู้จักอยู่ในทะเบียนบ้านของตน หรือรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิม แม้ว่าผู้นั้นย้ายที่อยู่เป็นเวลานานแล้ว
- ความผิดปกติของเอกสารสำคัญที่ต้องเปิดเผยต่อประชาชน เช่น รายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส. 5/5) ซึ่งจะระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- ความกังวลต่อความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เช่น ความเป็นกลาง เช่น กรณีป้ายหาเสียงอยู่ข้างหรือใกล้หน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าหน้าที่ทำบัตรเลือกตั้งขาด
- พบการรายงานจำนวนมากว่าคณะกรรมการในหลายหน่วยเลือกตั้งไม่เข้าใจหลักการของความโปร่งใสและสิทธิในการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งของประชาชน ส่งผลให้การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเต็มไปด้วยอุปสรรค
We Watch มีข้อเสนอแนะต่อ กกต. ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปว่า กกต. ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาดและชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารประเทศ และเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน กกต. ควรเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบผลการเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเร็วที่สุด