บางครั้งการได้พบกับคนที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้เจอกับคู่ครองที่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่กำหนดว่าคนสองคนจะมีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับความเข้ากันระหว่างฉันและเธอ เพราะแท้จริงแล้วคู่ที่ดูไม่สมบูรณ์แบบ อาจมีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบได้เหมือนกัน
ด็อกเตอร์ อารอน เบน-ซีเอฟ (Aaron Ben-Zeév) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา ผู้เขียนหนังสือ The Arc of Love: How Our Romantic Lives Change over Time ระบุว่าเราสามารถประเมินความรัก ความโรแมนติกได้จาก 2 สิ่ง นั่นคือมาตราวัดที่ไม่สัมพันธ์กัน (The Non Relational Scale) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทั่วไปของคน และมาตราวัดแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสม (The Relational Scale of Suitability) ซึ่งวัดความเข้าใจกันและกันที่เป็นเอกลักษณ์
มาตราวัดที่ไม่สัมพันธ์กัน มักใช้วัดคุณลักษณะที่แสดงความเป็นตัวตนของฝ่ายตรงข้าม เช่น อารมณ์ขัน ฐานะ เป็นต้น วิธีนี้มีข้อดีคือ ง่าย และให้ผลลัพธ์ที่เรามักคล้อยตาม ต่างกับมาตราวัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสม (หรือการวัดความเข้ากัน) ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งทางสิ่งแวดล้อมและตัวบุคคล เราอาจชื่นชมคนฉลาด แต่ถ้าระดับ IQ แตกต่างกันมากเกินไปก็อาจเข้ากันไม่ค่อยได้ เช่นเดียวกับฐานะและเงินทอง การมีเงินในบัญชีเยอะเป็นสิ่งที่ดีก็จริงอยู่ แต่เขาคนนั้นอาจไม่ซื่อสัตย์ เพราะเงินเปิดโอกาสให้คนคนนั้นเลือกคู่ครองได้เยอะ ยิ่งไปกว่านั้น คนที่มีเงินอาจพุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มพูนสมบัติให้มากขึ้น โดยใส่ใจคนรอบข้างและการสร้างครอบครัวเป็นรอง
นอกจากนั้นคุณลักษณะของคู่ครองก็เป็นเรื่องสำคัญต่อความรัก โดยเฉพาะเมื่อปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในระยะยาว ดังนั้นคนที่มองหาคู่ครองจึงควรมองหาอะไรที่ลึกซึ้ง มากกว่าแค่ความน่าดึงดูดในตัวของเขาคนนั้น เพื่อประคองความรักความสัมพันธ์ในระยะยาว
ด็อกเตอร์อารอนยังระบุอีกว่า ความเข้ากันอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญในช่วงที่ความรักเพิ่งเบ่งบาน เพราะในช่วงเวลานั้น คนทั้งสองอาจยังมองไม่ออกจากข้อมูลที่มีของกันและกันว่าจะเข้ากันได้ในระยะยาวไหม โดยข้อมูลนั้นมาจากการทำความรู้จักกันและกันและเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่ได้รู้จักกันมากขึ้น การวัดหรือการให้คะแนนก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น ผู้หญิงที่มีคนรักที่อารมณ์ไม่อ่อนไหว (อาจจะดู The Notebook แล้วน้ำตาไม่ไหลเช่นเธอ) อาจกังวลเรื่องที่คนรักของเธอดูแข็งกระด้างขึ้นเรื่อยๆ แต่เธออาจพบว่านิสัยส่วนอื่นๆ ของเขากลับชดเชยส่วนด้อยนี้ได้ ซึ่งนักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Trait Adaptation’ เป็นสิ่งที่ทำให้คะแนนส่วนที่ด้อยกลับมองเป็นกลางมากขึ้นด้วยคะแนนส่วนดีอื่นๆ
ผู้เขียนหนังสือได้สรุปไว้ว่า มาตราวัดทั้งสองนี้ทำให้เกิดประเด็นต่างๆ ในแง่ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระยะยาว แต่ท้ายสุดแล้วในการเลือกคู่ครองนั้น การหาคนที่แลดูเหมาะสมกัน ยากที่จะตัดสินได้จากมาตราวัดที่ไม่สัมพันธ์กัน เช่น มองว่าอาจเข้ากันได้ด้วยความขี้เล่น ตลก หรือฐานะดี เป็นต้น เพราะแท้จริงแล้วการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของคนทั้งสองต่างหาก ที่จะบอกได้ว่าทั้งคู่เข้ากันได้ในระยะยาวหรือไม่ ทำให้มาตราวัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
หรือพูดง่ายๆ คือ อย่ารอช้า จงลองเปิดใจคบดู คุณถึงจะรู้ได้นั่นเอง
ภาพ: New Line Cinema
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: