×

วาโย ก้าวไกล แจงไทม์ไลน์ปลาหมอคางดำ ชี้ ปลาที่เอกชนนำเข้า-เลิกวิจัย จนพบระบาดครั้งแรกสอดคล้องกัน

โดย THE STANDARD TEAM
26.07.2024
  • LOADING...

วานนี้ (25 กรกฎาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายปิดญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วนการระบาดของปลาหมอคางดำใน 17 จังหวัด เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

 

วาโยอภิปรายว่า โดยสรุปของเหตุการณ์นี้ เรากล่าวได้ว่าในประเทศไทยไม่เคยมีปลาสายพันธุ์นี้เข้ามาก่อน มีครั้งแรกเมื่อบริษัทเอกชนขอนำเข้ามาวิจัยในปี 2549 ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (BIC) โดยมีเงื่อนไข ก่อนที่จะเข้ามาในแผ่นดินไทยครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2553 ต่อมาไม่นานเมื่อเดือนมกราคม 2554 เอกชนผู้ทำวิจัยประกาศเลิกทำวิจัย แต่หลังจากนั้นภายในปีเดียวกัน จากรายงานกรมประมง ในปลายปี 2554 มีประชาชนพบปลาหมอคางดำแถวคลองรอบศูนย์วิจัย หลังจากนั้นก็เริ่มแพร่ระบาดในจังหวัดใกล้เคียง

 

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า สรุปแล้วปลาที่ระบาดอยู่นี้หลุดมาจากการวิจัยหรือไม่ เมื่อตนสืบค้นต่อไปก็พบงานวิจัยที่เคยทำและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2565 ไว้แล้ว เป็นการเก็บตัวอย่างจากปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบพันธุกรรมปลาที่เก็บได้ในบ่อพักของห้องแล็บเอกชนในปี 2560 ด้วย พบผลสรุปการศึกษาว่าระยะห่างทางพันธุศาสตร์หรือความใกล้ชิดของดีเอ็นเอมีต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าแต่ละประชากรย่อยของปลาไม่มีความแตกต่างทางพันธุกรรม เป็นการยืนยันที่มาของการแพร่ระบาด โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์และการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอคางดำในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน

 

วาโยอภิปรายต่อไปว่า จากการศึกษาโดยกรมประมงที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2565 มีข้อเสนอแนะออกมาว่าการระบุแหล่งต้นกำเนิดยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีตัวอย่างดีเอ็นเอตอนต้นมาเปรียบเทียบ จึงแนะนำว่าควรเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของสัตว์น้ำที่นำเข้ามา เพื่อเป็นตัวอย่างอ้างอิงในทุกครั้ง สำหรับสัตว์น้ำที่มีความเสี่ยง

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปสืบค้นอีกจะพบว่ามติคณะกรรมการ BIC ครั้งที่ 2/2553 ที่อนุญาตให้เอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำอย่างมีเงื่อนไขนั้น ปรากฏเงื่อนไขทั้งหมด 4 ข้อ กล่าวคือ

 

  1. ให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ปลาตาย 3 ตัว ซึ่งเป็นการเก็บดีเอ็นเอโดยเฉพาะ
  2. เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ให้ผู้ขอนำเข้าแจ้งผลการทดลองแก่กรมประมง
  3. ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์ทดลองหลุดรอดไปในธรรมชาติ
  4. กรณีผลทดลองได้ผลไม่ดี ผู้นำเข้าไม่ประสงค์ใช้ปลาต่อไป ขอให้ผู้นำเข้าทำลายและเก็บซากเอาไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ

 

แม้จากข่าวสารที่ปรากฏ บริษัทเอกชนจะระบุว่ามีเพียง 2 เงื่อนไขที่ได้รับจากกรมประมง คือ การให้เก็บตัวอย่างครีบ และเรื่องของการทำลาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชน แต่แม้แต่ 2 เงื่อนไขจาก 4 ข้อที่ว่ามานี้ ตนและคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า ปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ได้พยายามหาข้อมูลตัวอย่างครีบที่มีดีเอ็นเอ เพื่อตอบโจทย์เชื่อมโยงว่าปลานี้มาจากไหนกันแน่ ตนและคณะอนุกรรมาธิการฯ กลับไม่ได้รับคำตอบใดจากทั้งกรมประมงและบริษัทเอกชน

 

จึงเป็นที่มาของวันที่ 25 กรกฎาคม เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว จึงต้องฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างไร ที่ต้องให้ความสำคัญกับครีบปลาก็เพราะกฎหมายกำหนดว่าห้ามนำเข้าปลาโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่การอนุญาตนี้เป็นการอนุญาตแบบมีเงื่อนไข หากผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม ก็ย่อมเท่ากับไม่ได้รับอนุญาต ทั้งการให้ตัดครีบปลาและให้ทำลายซากปลา เมื่อบริษัทเอกชนไม่ได้ทำทั้งคู่ แบบนี้เท่ากับได้รับอนุญาตหรือไม่

 

วาโยอภิปรายต่อว่า จากกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ แม้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 จะยังคลุมเครือว่าจะนำมาใช้ได้หรือไม่ และยังมีการกำหนดโทษที่ต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับผลกระทบในปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่เรื่องการระบาด แต่ยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และอนาคตของลูกหลานไทย แต่ก็ยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้ผู้ก่อความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป

 

“ตอนนี้ทุกมาตรการที่รัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นความพยายามรับซื้อ หรือการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่นๆ ล้วนใช้เงินภาษีของพวกเราและประชาชนทั้งนั้น ถ้ามันมีผู้ที่ควรจะต้องรับผิดชอบ เขาควรจะต้องเป็นคนจ่ายเงินนี้แทนพวกเราทั้งหมด” วาโยกล่าว

 

วาโยกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอำนาจรักษาการตาม พ.ร.บ. นี้คือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พูดถึงเรื่องนี้แม้แต่ครั้งเดียว และแม้เราไม่สามารถหาหลักฐานครีบของปลาตั้งแต่ต้นได้ แต่ถ้าลองย้อนเส้นเวลากลับไปตั้งแต่ประเทศไทยไม่เคยมีปลาหมอคางดำเข้ามาก่อน จนมาถึงปลายปี 2553 เอกชนนำเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาถึงต้นปี 2554 เลิกทำวิจัย และในปลายปี 2554 เจอปลาหมอคางดำครั้งแรกในแหล่งน้ำที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เดียวกัน

 

บวกกับการที่งานวิจัยบ่งบอกว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีแหล่งที่มาเดียวกัน และเจอครั้งแรกที่ตำบลยี่สาร คนเอาเข้ามาครั้งแรกก็ที่ตำบลยี่สาร ย่อมมีเหตุอันควรเชื่อได้อย่างยิ่ง ถ้าเป็นคดีอาญา ประชาชนฟ้องเอง ศาลไต่สวนอย่างไร ก็ย่อมว่ามีมูล แต่ตอนนี้ยังไม่มีเจ้าภาพแม้แต่คนเดียวที่จะออกมาต่อสู้เพื่อเงินภาษี สิ่งแวดล้อม และอนาคตลูกหลานของเรา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X