นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์ปัจจุบันหากโควิด-19 มีการระบาดระลอกที่ 3 ย่อมทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะงัก จากสัญญาณการฟื้นตัวทั้งการบริโภค และการท่องเที่ยวเมื่อเดือนมีนาคม 2564
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามว่าการบริโภคในเดือนเมษายน 2564 อาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่หลายฝ่ายคาดว่าการบริโภคจะฟื้นตัวขึ้น จากการเดินทางและการกระจายรายได้สู่ต่างจังหวัดในช่วงเทศกาล ซึ่งอาจลดลงจากความกังวล หรือการงดการเดินทาง
“ตอนนี้เราอาจต้องปรับตัวสู่โหมดตั้งรับ ซึ่งถ้าไม่มีการระบาดเฟส 3 มาตรการของรัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้สูงน่าจะเริ่มออกมาเพิ่มเติม”
ทั้งนี้ กลุ่มที่มีการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม บางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่เชื่อว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการที่ไม่ปิดเมือง และจะพยายามลดความเสี่ยงในบางจุด บางกิจกรรมลง และเชื่อว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่กระทบต่อการเปิดประเทศปีนี้
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ยังไปได้ดี เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ได้อานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังขยายตัวที่ 2.7% แต่อาจจะมีการปรับคาดการณ์หลังช่วงสงกรานต์ว่า การระบาดระลอกนี้จะยาวนานแค่ไหน
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การระบาดรอบ 3 นี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะควบคุมได้เร็วแค่ไหน โดยต้องติดตามสถานการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า หากควบคุมสถานการณ์ได้คาดว่าการระบาดจะสิ้นสุดใน 1-2 เดือน
“เดือนเมษายนเห็นความกังวลมากขึ้น ดังนั้นการฟื้นตัวจะชะงักไปแน่ๆ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ซึ่งการระบาดรอบนี้คนมองว่าใกล้ตัวมากขึ้น ใกล้กรุงเทพฯ มากขึ้นทำให้คนไม่กล้าออกจากบ้าน และต้องใช้เวลาสักพัก”
ทั้งนี้ มองว่ารัฐควรมีความชัดเจนกับมาตรการรับมือโควิด-19 รอบ 3 และควรมีแผนที่ชัดเจน การกระจายวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
อย่างไรก็ตามคาดว่าการเปิดประเทศไทยอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า หากไม่สามารถควบคุมการระบาดระลอก 3 ได้ โดยทางธนาคารกรุงเทพมองว่าสิ้นปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1 ล้านคน (ในพื้นฐานการเริ่มฉีดวัคซีน AstraZeneca ในเดือนมิถุนายน 2564)
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อมีการระบาดระลอก 3 จะกระทบต่อความเชื่อมั่น การบริโภค และการเดินทางจะลดลง โดยมองว่าอาจจะใช้ระยะเวลานานกว่าโควิด-19 เฟส 2 แต่ผลกระทบขึ้นอยู่กับรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้เร็วแค่ไหน
ผลกระทบในทางตรงคือ เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการดูแล ซึ่งต้องติดตามว่าจะกระทบต่อกลุ่มใด และจะยาวนานเท่าไร และผลทางอ้อมคือ การลงทุนในประเทศที่อาจจะชะลอ หรือดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
ขณะเดียวกันโควิด-19 รอบ 3 นี้จะกระทบทั้งปี 2564 จากเดิมที่คาดว่าไตรมาส 2/64 จะเริ่มฟื้นทั้งการท่องเที่ยวและอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ที่ต้องติดตามคือการกระจายการฉีดวัคซีนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนวัคซีนถูกกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจมาก (เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19)
อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โควิด-19 รอบ 3 คาดว่าจะกระทบในระยะสั้นราว 1 เดือนในส่วนการบริโภค บรรยากาศการใช้จ่ายแผ่วลง แต่เชื่อว่าเดือนถัดไปจะปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากการระบาดระลอกก่อนที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในเดือนถัดมา
อย่างไรก็ตามมองว่ากลุ่มที่ยังเจอผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่คือ กลุ่มการเดินทางในประเทศ ขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ขณะที่การเปิดประเทศมองว่ารัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเพิ่มเติม โดยคาดว่าปี 2564 นี้จะมีนักท่องเที่ยวราว 1-3 ล้านคน ซึ่งกว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ยังต้องใช้เวลา ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวยิ่งต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้ขยายตัวได้ในสถานการณ์นี้