ถ้านวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมามากมายช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง เหตุใดปัญหาต่างๆ ในโลกของเรายังมีมาให้แก้ไขไม่จบสิ้น หรือที่ผ่านมานวัตกรรมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานและเกิดประโยชน์ ณ ขณะนั้นมันอาจเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้แค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรืออีก 5 ปีข้างหน้า แล้วถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน รูปแบบของนวัตกรรมที่ว่าจะเป็นเช่นไร
นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลังจาก THE STANDARD ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาระดับนานาชาติ WATS Forum 2019 ที่จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) งานเสวนาที่เชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกจากสาขาต่างๆ 4 คนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของทุกสรรพสิ่งบนโลก หรือ For All Well-being ที่เกี่ยวโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งด้านความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) สถาปัตยกรรม (Architecture) เทคโนโลยี (Technology) และความยั่งยืน (Sustainability)
สิ่งที่ได้จากงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่การได้อัปเดตว่าโลกเรากำลังแวดล้อมไปด้วยนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น แต่เมื่อได้เห็นบุคคลและกลุ่มองค์กรเหล่านี้ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อโลก มันทำให้เราต้องย้อนกลับมาพินิจถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ว่า… เราทำอะไรเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นบ้างหรือยัง ถ้าคุณเองก็ยังนึกไม่ออก บทสรุปจากงานเสวนาในครั้งนี้น่าจะช่วยได้
ค้นหาความสามารถของตัวเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
เชื่อว่าทุกคนที่มาร่วมตัวในงานวันนั้นแม้จะต่างสาขาอาชีพ แต่จุดประสงค์เดียวกันที่มาอยู่ร่วมกันคือต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เมื่อ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ขึ้นมากล่าวเปิดงานและบอกถึงจุดประสงค์ในการจัดงานตามความมุ่งมั่นของ RISC ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันกระแสการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ฟังผ่านๆ ดูคล้ายเป็นการบอกวัตถุประสงค์ของงานทั่วไป “หวังว่าทุกท่านที่มาร่วมงานจะได้รับความรู้และแรงบันดาลใจในการค้นหาแนวทางที่จะนำความรู้ความสามารถของตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน”
ภายใต้คำว่า ‘ค้นหาความสามารถ…เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง’ เหมือนเป็นเชื้อเพลิงเล็กๆ ที่จุดประกายให้ทุกคนที่อยู่ในงานวันนั้นหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเองมีความสามารถอะไร ความรู้ที่เรามีจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
หรือเราทุกคนสามารถมีความสุขได้ตั้งแต่วินาทีนี้
คำถามที่อยากหาคำตอบตั้งแต่วินาทีที่ ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ขึ้นพูดบนเวที “ถ้าประชาชนทุกคนในประเทศมีความสุขจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างไร
“ประชาชนชาวภูฏานถึง 92% ยืนยันว่าพวกเขามีความสุขอย่างแท้จริง วัดค่าจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น อัตราการรู้หนังสือสูงขึ้น และความยากจนลดลง” ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ยืนยัน เชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่มองว่าทฤษฎีการสร้างประเทศที่เลือกความสุขของประชาชนก่อนความร่ำรวยดูจะเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินตัว
“กว่า 400 ปีที่แล้ว กษัตริย์พระองค์หนึ่งของเราเคยกล่าวไว้ว่า หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้ รัฐบาลนั้นก็ไม่สมควรดำรงอยู่อีกต่อไป” ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์ กล่าว
ฟังดูสมเหตุสมผลกับแนวทางการบริหารประเทศของภูฏานที่มุ่งเน้นความสำคัญกับความสุขมวลรวมประชากร (Gross National Happiness – GNH) มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) และใช้ความสุขของประชาชนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศนำไปสู่แนวทางการพัฒนาประเทศแบบองค์รวม คือพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสังคม พัฒนาคน และดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะความสุขนั้นไม่ใช่เพียงสิ่งที่แต่ละคนแสวงหา แต่ควรเป็นสิ่งที่รัฐส่งเสริมด้วย โดยผู้ปกครองจะต้องมีวิธีหยิบยื่นความสุขพื้นฐานและทำให้คนในประเทศมีความสุขก่อน เช่น สร้างสวัสดิการสาธารณะ การอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ประชาชนต้องกินดีอยู่ดี สร้างนโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ
ปัจจุบันภูฏานเริ่มใช้ GNH เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรธุรกิจอีกด้วย เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่แสวงหากำไรเท่านั้น ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุดและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หนึ่งในข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญคือต้องทำให้ประเทศมีพื้นที่ป่ามากกว่า 60% เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หรือการให้เกษตรกรใช้ไฟฟ้าพลังน้ำได้ฟรีเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานจากถ่านหิน ส่งผลให้ตอนนี้ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีค่าคาร์บอนติดลบ
จริงอยู่ที่ว่าทฤษฎีการบริหารประเทศของภูฏานอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับประเทศอื่นๆ แต่แนวคิดนี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ ไม่ใช่แค่การบริหารประเทศเท่านั้น แต่เราทุกคนสามารถเริ่มจากสถาบันเล็กๆ อย่างครอบครัว บริษัท หมู่บ้าน แล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้นพร้อมๆ กันก็ได้
นอกจากนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของ ‘ความสุข’ ว่าไม่ใช่ความสนุกสนานร่าเริง แต่เป็นความสบายใจและพอใจในสิ่งที่มี ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะมีความสุขตั้งแต่วินาทีนี้เลยไม่ได้
ไม่ว่าใครก็คู่ควรที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แม้แต่คนที่เป็นอัมพาต
ตอนที่พิธีกรกล่าวเปิดตัว รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ วิศวกรและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมหัวข้อที่จะพูดในครั้งนี้ ‘อุปกรณ์ควบคุมสมองที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้พิการ’ จู่ๆ ก็มีคำถามผุดขึ้นมาว่า นวัตกรรมผู้พิการเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตที่ยั่งยืนของคนปกติอย่างไร แต่เมื่อ รศ.ดร.ยศชนัน เปิดประเด็นด้วยคำถามที่ว่า จะเป็นอย่างไรหากเราหรือคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต คนเหล่านั้นจะใช้ชีวิตในร่างกายที่พังและสมองยังใช้งานได้ต่อไปอย่างไร “หากเราตาบอด สิ่งที่เราต้องการก็คือความสามารถในการมองเห็นอีกครั้ง และหากเราเป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย สิ่งที่เราต้องการที่สุดก็คือความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำงาน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา” นั่นทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่ รศ.ดร.ยศชนัน กำลังทำและต้องการจะบอกให้ทุกคนตระหนักรู้ บางทีการมีชีวิตที่ดีไม่ใช่เรื่องของเราแต่เพียงผู้เดียว แต่ชีวิตที่ดีของคนที่แวดล้อมรอบตัวส่งผลต่อเรามากกว่าที่เราจินตนาการได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการเกือบ 2 ล้านคนที่มีการขึ้นทะเบียน คิดเป็น 3% ของประชากรทั้งหมด สิ่งที่น่ากังวลคือมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1-1.3 แสนคนต่อปี เครื่องมือมากมายผลิตมาเพื่อดูแลหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย แต่ขาดแคลนเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง ประเทศไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสมอง แต่ขาดการบูรณาการเพื่อนำมาใช้จริง รศ.ดร.ยศชนัน และทีมจึงประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถสั่งงานผ่านคลื่นสมองให้ผู้ทุพพลภาพหรือผู้ป่วยอัมพาตสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น รับประทานอาหาร เปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และเคลื่อนที่ด้วยตัวเอง ผลงานนี้ทำให้เขาได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน Cybathlon ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รางวัลไม่ใช่เป้าหมาย หากแต่คือการมอบความหวังให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้พิการสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริง
โลกในอนาคตจะเป็นเช่นไร ถ้ามนุษย์ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้
‘การทำงานของพืชเรืองแสงสัมพันธ์กับความยั่งยืนอย่างไร’ หัวข้อที่ ศาสตราจารย์ไมเคิล สตีเวน สตราโน นักวิศวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา หยิบมาพูดในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น
ประเด็นแรก ‘พืชเรืองแสงเกี่ยวอะไรกับความยั่งยืน’ ศาสตราจารย์ไมเคิลอธิบายว่า “คนส่วนใหญ่มองว่าพืชพรรณธรรมชาติกับเทคโนโลยีเป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้ จึงมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่มากนักที่ใช้พืชเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริงแล้วพืชมีข้อดีที่น่าสนใจหลายอย่าง พวกมันสามารถสร้างพลังงานผ่านการสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง เก็บกักพลังงานได้ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ซ่อมแซมตัวเองได้ และยังใช้พลังงานและต้นทุนน้อยมากในการดูแล” นั่นหมายความว่าหากพืชเรืองแสงได้ เราจะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง เราลดการทำลายทรัพยากรของโลก โลกน่าอยู่มากขึ้น
ประเด็นต่อมาคือ ‘มีอะไรที่สามารถใช้แสงสว่างจากพืชทดแทนได้บ้าง’ หากดูจากงานวิจัยที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ไมเคิลนำเอ็นไซม์ Luciferase และโมเลกุลแบบหิ่งห้อยมาพัฒนาเป็นต้นไม้เรืองแสง เริ่มจากการทำให้ต้นวอเตอร์เครส (ผักสลัดน้ำ) เรืองแสงได้เหมือนโคมไฟตั้งโต๊ะและให้แสงสว่างได้นานถึง 4 ชั่วโมง มีความเข้มข้นของแสงประมาณ 6% ของหลอดไฟ LED ในงานวิจัยยังเผยว่าพืชอื่นๆ เช่น ผักคะน้า ต้นร็อกเก็ต และผักขม หากได้รับเอ็นไซม์ Luciferase ก็สามารถเรืองแสงได้เช่นกัน
เห็นว่าสเตปต่อไปคือการพัฒนาพืชให้สามารถส่องแสงสว่างได้ยาวนานขึ้นจนนำมาใช้แทนโคมไฟอ่านหนังสือหรือเสาไฟตามท้องถนนได้ และยังสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรองหากเกิดเหตุฉุกเฉิน “หากเราประสบความสำเร็จในการสร้างความสามารถต่างๆ ให้กับพืช ในอนาคตเราอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้ามาก เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้ไฟฟ้าใช้การไม่ได้ เราก็ยังสามารถอาศัยแสงสว่างจากต้นไม้ที่อยู่รอบตัวเราได้” ศาสตราจารย์ไมเคิลกล่าวทิ้งท้าย
การออกแบบอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีภายใต้ข้อจำกัดของประเทศที่มีพื้นที่และทรัพยากรจำกัด
ประเทศที่ให้ความสนใจเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร การออกแบบที่อยู่อาศัยและอาคารต่างๆ พัฒนาไปไกลมากกว่าแค่แบ่งพื้นที่สีเขียวในตัวอาคารอย่างไร แต่ต้องสอดคล้องไปกับลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารด้วย ดังนั้นสิ่งที่ สเตฟาน เดอ โคนิง สุดยอดสถาปนิกชาวดัตซ์จาก MVRDV ได้ยกตัวอย่างให้ฟังผ่านหัวข้อ ‘การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน’ ในครั้งนี้เหมือนได้กางพิมพ์เขียวในสมองใหม่ แล้วค่อยๆ ไล่ให้เห็นตั้งแต่วัตถุประสงค์ในการออกแบบที่อยู่อาศัย การนำทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่มาปรับใช้ ประเด็นนี้สะกิดให้เราตระหนักถึงสิ่งที่เรามีและสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ แทนที่จะมองหาแต่สิ่งที่ขาด
สเตฟาน เดอ โคนิง นำการออกแบบที่ผสมผสานนวัตกรรมเพื่อยกระดับ Well-being พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับประชากรในเมืองใหญ่มาให้ดูกัน เช่น ศูนย์การค้าดีไซน์สุดล้ำ The Gyre ใจกลางกรุงโตเกียว, ศูนย์รักษาโรคมะเร็งในกรุงอัมสเตอร์ดัม, สะพานคนเดิน เมืองเลเรีย ประเทศโปรตุเกส หรือโครงการมิกซ์ยูสในชื่อ Peruri88 กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา สิ่งที่เขาชี้ให้เห็นคือกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากเมืองใหญ่ทั่วโลก ปัญหาต่างๆ เช่น ประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นจนเกิดความเหลื่อมล้ำ ปัญหามลพิษ การจราจรหนาแน่น และน้ำท่วมขัง ปัญหาคล้ายกัน แต่ปัจจัยแวดล้อมต่างกัน ภูมิประเทศไม่เหมือนกัน การแก้ปัญหาย่อมต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
หนึ่งในทางออกที่สเตฟานแนะนำคือการใช้อาคารสูงและโครงการแบบมิกซ์ยูส เขาให้ข้อสังเกตว่า “กรุงเทพฯ มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนา มีพื้นที่สวนมากมาย แต่กระจายตัวไปทั่วเมือง มีซอยเล็กๆ น้อยๆ มากมาย รวมพื้นที่กว่า 10,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย เป็นที่ตั้งของธุรกิจในพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังมีลำคลองขนาดเล็กจำนวนมากเชื่อมต่อกันเป็นวงจรขนาดใหญ่ รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเองก็ได้ใช้ประโยชน์เพียงมูลค่าความสวยงามเท่านั้น จึงน่าคิดว่าเราสามารถนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง”
ฟังดูเหมือนว่าเรามีทางออกแล้วใช่หรือไม่ แต่นี่เป็นแค่หนึ่งในทางออกเท่านั้น เพราะถ้าจะแก้ไขกันจริงๆ คงไม่ใช่แค่ร่างแบบ ก่อสร้าง และชีวิตเราจะดีขึ้นทันที เรื่องแบบนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือวันนี้ทุกคนจะต้องมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือเห็นถึงความสำคัญของ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน’
เหมือนกับที่ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ได้พูดทิ้งท้ายงานเสวนาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทุกวันนี้เราให้ความสนใจกับตัวเอง กับความต้องการมนุษย์มากเกินไปจนลืมดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เราจึงควรหันมาสนใจการออกแบบเพื่อสังคมโดยรวมมากกว่าออกแบบเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์เท่านั้น โดยคำนึงถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราจริงๆ ไม่ใช่เพียงความต้องการส่วนตน ส่วนในภาคธุรกิจนั้น เราก็หวังว่าจะได้เห็นความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน”
และนี่คือบทสรุปที่ THE STANDARD ได้จากงาน WATS Forum 2019 งานดีๆ เช่นนี้ RISC เขาตั้งใจจัดขึ้นทุกปีเพื่อตอกย้ำจุดยืนและความมุ่งมั่นขององค์กร และเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันความรู้ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างอนาคตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป แต่ในมุมมองของเรา งานดีๆ แบบนี้เหมาะกับทุกคนที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
แล้วคุณล่ะ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนแล้วหรือยัง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์