×

คุยกับ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ในประเด็น “หากบริหารจัดการน้ำได้ดียังต้องมี ‘โครงการผันน้ำยวม’ หรือไม่?” [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
25.03.2023
  • LOADING...

หากมีการบริหารจัดการน้ำดี ก็คงไม่จำเป็นต้องมี ‘โครงการผันน้ำยวม’ ที่ต้องทุ่มงบลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท และอาจสร้างผลกระทบตามมา 

 

หรือความจริงแล้วโครงการนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำวิธีหนึ่ง เพราะแทนที่จะปล่อยให้น้ำจากแม่น้ำยวมไหลเข้าสู่แม่น้ำเมย ไปต่อที่แม่น้ำสาละวินกระทั่งสู่อ่าวเมาะตะมะ เป็นการปล่อยน้ำปริมาณมหาศาลทิ้งลงทะเลโดยเสียประโยชน์ ดังนั้นการสูบน้ำมากักเก็บไว้ที่เขื่อนภูมิพลเพื่อส่งให้คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและอุปโภคบริโภค ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ อาจดีเสียกว่า  

 

แต่จนถึงตอนนี้ทั้งสองมุมมองก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่าประเด็นไหนถูกหรือผิด แต่ในทัศนะของ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เจ้าของรางวัล ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ’ ปี 2564 ด้านการศึกษางานวิจัยและนวัตกรรมด้านน้ำ มองว่า “ใช่ว่าโครงการผันน้ำยวมมีหรือไม่มีแล้วจะเปลี่ยนอะไรได้ นี่ไม่ใช่ประเด็นแรกที่จะมาถกเถียงกัน” 

 

รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน 
คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

“อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่าน้ำมีคุณค่า น้ำมีต้นทุน จะขอให้มีน้ำมาก่อนแล้วค่อยว่ากันทีหลังว่าจะบริหารจัดการอย่างไรมันไม่ได้ ต้องคิดก่อนว่าเมื่อได้ไปแล้วจะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรคุ้มค่าและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต้องทำอย่างไรต่างหากคือประเด็นที่ควรจะนำมาถกกัน เพราะที่ผ่านมาอ่างเก็บน้ำในประเทศไทยสร้างแล้วต้นทุนต่ำ คืนทุนเร็ว และสร้างกำไรคือเขื่อนภูมิพล กำไรสูงสุดของประเทศ แต่ระยะหลังต้นทุนน้ำแพงขึ้น เนื่องจากค่าก่อสร้างสูงขึ้น ทำเลที่สร้างก็ยากขึ้น การผันน้ำก็ยากขึ้น ทุกอย่างต้องปรับตัว” 

 

รศ.ดร.บัญชา อธิบายให้เห็นภาพการบริหารจัดการน้ำไว้อย่างชัดเจนบนเวทีเสวนา ‘ได้’ หรือ ‘เสีย’ เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น โครงการผันน้ำยวม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ว่าการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยมี 2 มิติ คือมิติที่เคยทำมาในอดีต คือการหาน้ำเพิ่มเติม เช่น ดึงน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงมาใช้ แต่อีกมิติคือ การประหยัดน้ำต้นทุน 

 

“ที่ผ่านมาเราใช้กระบวนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Reduce, Reuse และ Recycle แต่ตอนนี้ที่เมืองไทยต้องเร่งผลักดันคือ กระบวนการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ตั้งแต่การเกษตร อุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน เป้าหมายของประเทศคือลดการใช้น้ำให้ได้ 15% แต่สัดส่วนนี้จะเกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกก่อน ภายใน 10 ปีต้องลดน้ำ 10-15% เนื่องจากภาคตะวันออกเข้าขั้นวิกฤตขาดแคลนน้ำจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวและการเติบโตของภาคตะวันออกที่เพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ” 

 

 

เมื่อเทียบตัวเลขรายงานน้ำต้นทุนน้ำยวมประมาณ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปีผันประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 60% เชิงวิชาการผันแล้วเหมาะสมหรือไม่ รศ.ดร.บัญชาบอกว่า อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หากเกิน 70% จะเกินขีดจำกัดทางอุทกวิทยา ส่งผลให้เสียสมดุลของน้ำ

 

“ถ้าผันน้ำจากน้ำยวมมาลุ่มน้ำปิง ผลประโยชน์จะไปตกอยู่ที่ภาคการเกษตร แต่ก็จะมีข้อแม้ เพราะว่าน้ำยวมต้นทุนประมาณ 5.50 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ผลตอบแทนคาดการณ์ที่ควรจะได้จากการเพาะปลูกในอนาคตต้องได้กำไรอยู่ที่ไร่ละ 5,500 บาท หมายความว่าการทำเกษตรในปัจจุบันต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิต เช่น ถ้าจะปลูกข้าวต้องเน้นข้าวคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี หรือปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำได้ 30% ตอนนี้ทางกรมชลประทานก็ยังส่งเสริมอยู่ และทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ผลผลิตเพิ่มและยังดีต่อโลก เพราะการทำนาเปียกสลับแห้งจะลดมีเทนได้เกิน 50%”

 

 

รศ.ดร.บัญชา แนะให้ปรับวิธีการทำเกษตรของเกษตรกรในหลายพื้นที่ เช่น หน้าแล้งต้องปลูกพืชหลากหลายมากขึ้น เช่น ไม้ผล หรือปลูกพืชอายุสั้นแต่ได้ผลตอบแทนที่ดี

 

“ปัญหายังอยู่ตรงที่ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ยังปรับตัวไม่ได้ หรือถ้าจะปรับก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ถึงแม้จะมีผันน้ำหรือไม่มี ถ้าเกษตรไทยไม่ปรับตัวอย่างไรก็ไม่รอด ด้านการเกษตรจะสูงขึ้นได้ต้องปรับเทคนิคการผลิตเพื่อทำให้น้ำต้นทุนมีมูลค่ามากขึ้น สร้างความมั่นคงให้กับประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่าง ข้าว ต้องเป็นข้าวคุณภาพสูง ลดการใช้น้ำ และต้องปลูกอย่างเป็นระบบ จะไปปลูกข้าวแข่งกับเวียดนามไม่ได้เพราะเขาไม่ได้เน้นปลูกข้าวคุณภาพสูง จะแข่งกับอินเดียหรือเมียนมาก็ไม่ได้ ต้องดูว่าตลาดเราคือที่ไหนแล้วให้เกษตรกรปรับ สุดท้ายรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยในการจัดโซน ตรงไหนปลูกอะไร และรัฐจะช่วยเหลือด้านไหน”  

 

 

อีกวิธีที่ รศ.ดร.บัญชาแนะนำคือ หาให้เจอว่าพื้นที่ไหนมีเกษตรกรที่พร้อมเปลี่ยน และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ได้ ไม่ควรให้เกษตรกรเรียนรู้ข้ามพื้นที่ “เคยทำมาแล้วไม่รอด พาคนอีสานเรียนรู้คนภาคกลางไม่รอด วัฒนธรรมไม่ตรง พื้นที่และประสบการณ์ไม่เหมือนกัน มันจึงต้องทำให้คนในพื้นที่เขาเห็นเองว่าปรับได้ สนับสนุนให้ชาวบ้านทำเอง และให้เขาอยู่ด้วยตัวเอง นี่คือตัวอย่างที่คนในพื้นที่เขาจะเรียนรู้ได้จริง”

 

ความเท่าเทียมหรือธรรมาภิบาลในการจัดสรรน้ำก็สำคัญ รศ.ดร.บัญชาบอกว่า หากมีการผันลงมาจริงๆ พื้นที่ลุ่มตอนบนเจ้าพระยาควรจะได้รับการจัดสรรที่ดีกว่าลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อีกทั้งลุ่มเจ้าพระยาตอนบนน่าจะต้องเป็นพื้นที่ใช้น้ำเป็นหลัก เพราะมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนเกษตรกรมากกว่า 

 

“โครงการผันน้ำยวมก็เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนวิธีหนึ่ง และจะคุ้มค่าแน่นอน แต่ต้องปรับในส่วนของแนวคิดเกษตรกรด้วย และส่วนราชการเองก็ต้องมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ต้องมีการปรับตัวที่หลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ เพิ่มผลิตภาพของน้ำ ทำให้น้ำสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น” รศ.ดร.บัญชากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising