วานนี้ (5 กันยายน) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีน้ำมันดิบจากทุ่นเทียบเรือรั่วไหลลงทะเลเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา กรมอนามัยได้มอบหมายให้กองอนามัยฉุกเฉินติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
โดยศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ประสานงานร่วมกับทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ รวมทั้งเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารโลหะหนักจากน้ำมันในสถานประกอบการเสี่ยง เช่น สถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดจำหน่ายอาหารทะเลบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน
รวมทั้งควบคุม กำกับ การจัดการด้านสุขาภิบาลอาหารสุขลักษณะของผู้ประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเร่งสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาชนในการเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบทางทะเลอย่างปลอดภัย
นพ.สุทัศน์ ไชยยศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการปฏิบัติหน้าที่ของทีมปฏิบัติการฯ พบว่า ช่วงเช้าของวันที่ 5 กันยายน 2566 ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการในการขจัดมลพิษทางน้ำของทัพเรือภาคที่ 1 ตรวจไม่พบคราบน้ำมันในทะเลและบริเวณชายฝั่ง
ทั้งนี้ ต้องรอผลการตรวจคุณภาพน้ำทะเลจากห้องปฏิบัติการของกรมควบคุมมลพิษว่าพบการปนเปื้อนหรือไม่ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจากน้ำมันดิบในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง ดังนั้น ในระยะนี้ขอให้ชาวประมงหลีกเลี่ยงการจับสัตว์น้ำในบริเวณที่ตรวจพบคราบน้ำมัน เพราะการสัมผัสสารพิษเข้าสู่ร่างกายในขณะทำงานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันได้ เช่น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
โดยเฉพาะผู้มีอาการภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น และหากมีการสัมผัสทางดวงตาและผิวหนังโดยตรงอาจส่งผลให้ระคายเคือง หรือส่งผลกระทบแบบเรื้อรังและระยะยาว หากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือจับสัตว์ทะเลที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนคราบน้ำมัน
นพ.สุทัศน์กล่าวต่อว่า สำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำในพื้นที่ตรวจพบว่ามีคราบน้ำมันปนเปื้อน เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสสารพิษโลหะหนัก สำหรับประชาชนควรสังเกตลักษณะของอาหารทะเล หากพบความผิดปกติมีการปนเปื้อนคราบน้ำมันควรหลีกเลี่ยงการซื้อมารับประทาน รวมถึงติดตามข้อมูลสถานการณ์การจัดการคราบน้ำมันและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวในการรับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากร้านอาหารหรือสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน
ภาพ: GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)