ประโยคที่ว่า ‘โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน’ อันเป็นแกนหลักของละครเรื่อง ทุ่งเสน่หา กลับเป็นคำอธิบายละครภาคต่อเรื่อง วาสนารัก ได้เป็นอย่างดี เพราะใครจะเชื่อว่าเรื่องราวในจักรวาลนครสวรรค์ของนักเขียนชื่อดัง ‘จุฬามณี’ ที่เคยสร้างความสำเร็จให้กับละครช่อง 3 ทั้ง สุดแค้นแสนรัก (เรตติ้ง 7.04) กรงกรรม (เรตติ้ง 6.24) ทุ่งเสน่หา (เรตติ้ง 5.709) จะคว้าเรตติ้งเฉลี่ยไปได้แค่ 1 กว่าๆ เท่านั้น ทั้งที่ วาสนารัก ถูกวางหมากให้เป็นความหวังกระตุกเรตติ้งหลังช่วงโควิด-19
วาสนารัก ว่าด้วยเรื่องราวของรุ่นลูกจากตัวละครใน ทุ่งเสน่หา (2563) ที่เกิดขึ้นในยุค 90 มีความสลับซับซ้อนของตัวละครมากมาย แต่ถ้าจะเล่าอย่างย่นย่อที่สุดก็คือเรื่องราวของกันตพล เด็กหนุ่มที่มีปมสงสัยว่าตัวเองเป็นลูกแท้ๆ ของไพรวัลย์ ลูกชายที่จากไปของย่าสำเภา เศรษฐีนีของหนองน้ำผึ้งหรือไม่ กันตพลแอบหลงรักใกล้รุ่ง ลูกสาวของไผท เทพทอง พระเอกลิเกที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสัมพันธ์กับแม่ของเขา ในขณะที่พรรณษา ลูกสาวของยุพิณ เพื่อนสนิทของแม่กันตพล ก็แอบหลงรักเขาอยู่ ส่วนอีกด้าน ยายจำเรียงที่ลูกสาวได้แต่งงานกับไพฑูรย์ ลูกชายอีกคนของย่าสำเภา ก็เริ่มสงสัยว่ากันตพลเป็นลูกของใครกันแน่ และจะมาแย่งสมบัติของหลานแท้ๆ ของย่าสำเภาหรือเปล่า ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องราวความอิจฉาริษยา และความรักที่ยากจะเป็นไปได้ รวมอยู่ในละครเรื่องนี้
ภาพจากละครเรื่อง วาสนารัก
ความเข้มข้นที่หายไปจากจักรวาล
ถึงแม้จักรวาลนครสวรรค์จะเริ่มเปิดตัวด้วยละครเรื่อง ชิงชัง ที่ออกอากาศทางช่อง 5 ในปี 2552 แต่นับตั้งแต่ความสำเร็จแบบเกินคาดของ สุดแค้นแสนรัก (2558) ละครที่ไม่มีดาราระดับแม่เหล็กแต่เน้นฝีมือของนักแสดงรุ่นใหญ่ เรื่องราวชีวิตเข้มข้นของสามัญชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครสวรรค์ก็เหมือนจะผูกปิ่นโตกับช่อง 3 เรื่อยมา นอกจากฉากหลังที่เหมือนกัน เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างก็คือความเข้มข้นและคาแรกเตอร์อันเผ็ดร้อนตัวละครฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็นแย้ม ย้อย สำเภา เรณู ฯลฯ เรียกได้ว่าไม่จมไม่หายไม่ตายกลางท้องเรื่องเลยทีเดียว
แต่ วาสนารัก ไม่มีตัวละครแบบนั้น แม้จะมีย่าสำเภาที่มีบทต่อเนื่องจาก ทุ่งเสน่หา แต่กลับไม่มีน้ำหนักและจมหายไปตอนไหนก็ไม่รู้ จะมีมุมละมุนอยู่บ้างก็ช่วงการแสดงความรักระหว่างย่าหลาน แต่นั่นอาจยังไม่พอ เพราะเราคาดหวังหญิงชราที่มีความรัก ความเอื้ออาทร แต่ก็มีความร้ายเมื่อใครคิดจะมาย่ำยีของรักของตัวเองในแบบที่แย้มและย้อยเคยทำไว้ใน สุดแค้นแสนรัก และ กรงกรรม สำหรับนักแสดงรุ่นใหญ่ผู้เขียนขอให้คะแนนยายจำเรียงกับคาแรกเตอร์ ‘ป้าข้างบ้าน’ หญิงนักปั่น ผู้ปั่นทุกเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องตัวเอง ซึ่ง โย-ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ทำออกมาได้ดีทีเดียว
ส่วนคาแรกเตอร์ของใกล้รุ่งก็เป็นเพียงนางเอกแสนดีที่มีเพียงด้านเดียว ทำให้เราคิดถึงตัวละครสีเทาๆ ที่เคยเอาใจช่วยในผลงานชิ้นก่อนๆ ของจุฬามณี ขณะที่พรรณษาก็เป็นตัวอิจฉาที่แบนราบ ร้ายไม่สมเหตุสมผลแบบที่เราไม่เชื่อว่าความรักวัยรุ่นที่มีต่อผู้ชายเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนเด็กผู้หญิงที่พ่อแม่สอนมาดีไปได้ถึงเพียงนี้ ผนวกกับปมเรื่องที่เป็นเพียงเรื่องรักของหนุ่มสาว จะเข้มข้นที่สุดก็มีเพียงปมเรื่องชาติกำเนิดของกันตพลในบรรยากาศที่ดูไม่หนักหนาสาหัสสักเท่าไร โดยสรุปก็คือ วาสนารัก ไม่มีตัวละครที่ยึดโยงกับคนดู แม้จะมีตัวละครมากมาย แต่ก็ไม่มีตัวละครตัวไหนที่จะทำให้หลงรักได้เลย
สองตัวละครหลักของ ‘วาสนารัก’ ใกล้รุ่ง (รับบทโดย ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) และพรรณษา (รับบทโดย แพร์-พิชชาภา พันธุมจินดา)
ภาพจากละครเรื่อง วาสนารัก
ทุ่งเสน่หา เชื่อมโยงถึง วาสนารัก
แค่เฉพาะ ทุ่งเสน่หา ก็มีตัวละครมากมาย และยังต้องเชื่อมต่อไปถึง วาสนารัก แตกต่างจาก สุดแค้นแสนรัก กับ กรงกรรม (2562) ที่เป็นเหมือนภาคแยกกันมากกว่า ดังนั้นน่าจะดีถ้าเอาภาคต่อมาออกอากาศทันทีหรืออย่างน้อยก็เร็วที่สุด น่าเสียดายที่ วาสนารัก ต้องหยุดกองถ่ายเพราะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้จะปิดกล้องวันที่ 30 เมษายน ขณะที่ ทุ่งเสน่หา ลาจอไปในวันที่ 29 มีนาคม นอกจากนั้นผู้เขียนคิดว่า ทุ่งเสน่หา เองก็มีปัญหา แม้เรตติ้งจะอยู่ในขั้นดีแต่ก็ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนละครเรื่องอื่นๆ ในจักรวาลของจุฬามณี ด้วยข้อหาเดียวกันคือเราไม่รู้จักตัวละครในมิติที่ลึกซึ้ง ไม่ได้รู้ถึงความคิดความอ่านและเหตุผลในการกระทำ จนทำให้ไม่หลงรักตัวละครในที่สุด อย่างตัวบทสำเภา เป็นบทแม่ที่มีมิติ ไม่ใช่สักแต่จะจับลูกแต่งงาน มีลูกชายพิการก็สร้างห้องหอให้ใหญ่โต อยากลบปมด้อยลูกเลยหาสะใภ้สวยๆ มาให้
ภาพจากละครเรื่อง วาสนารัก
หากมีฉากที่บอกถึงความคิดในใจก็คงจะดี แต่ในเรื่องเป็นเพียงแค่บทพูดของตัวละครตัวอื่นที่พูดถึงสำเภาเท่านั้นเอง ส่วน เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ ที่รับบทยุพิณ รู้ว่าน้องมีความพยายามแต่เสียงน้องดูเป็นสาวเมืองกรุงมากๆ และบทยังทำให้เราสัมผัสไม่ได้ถึงความน่าสงสารเพราะถูกพรากรักอย่างที่ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เคยทำได้ใน สุดแค้นแสนรัก เราสัมผัสไม่ได้ถึงความทะเยอทะยานแบบที่ เบลล่า-ราณี แคมเปน เคยทำได้ใน กรงกรรม พอไม่ผูกพันกับตัวละครภาคก่อนหน้า ภาคต่อมาก็ถูกลดความน่าสนใจลง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้แอบเอาใจช่วยเพราะทีมผู้จัดเป็นทีมเดียวกับ สุดแค้นแสนรัก
ภาพจากละครเรื่อง วาสนารัก
จำชื่อนักแสดงไม่ได้ก็เป็นปัญหา
วาสนารัก เปิดเรื่องด้วยตัวละครในวัยเด็กซึ่งใช้นักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมด จะคุ้นอยู่บ้างก็คือ ยอร์ช-ยงศิลป์ วงศ์พนิตนนท์ ข้อดีก็คือถือเป็นการปั้นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ข้อด้อยก็คือคนดูจำตัวละครแทบไม่ได้ ยิ่งในละครมีตัวละครเยอะขนาดนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ กว่าจะแยกได้ว่าใครเป็นลูกใครก็เข้าไปอีพีที่ 4 แล้ว ซึ่งถือว่าช้าเกินไปสำหรับละครยุคนี้ที่ต้องกระชับฉับไว ทำให้คนติดตั้งแต่อีพีแรกๆ อีกอย่างคือพลาดโอกาสการเป็นท็อปปิกในวงเมาท์ละคร ที่ส่วนใหญ่มักใช้ชื่อดาราให้เห็นภาพมากกว่าชื่อตัวละครใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคย จะให้บอกว่าน้องคนนั้นเป็นลูกของคนนี้ก็ดูเหมือนจะยากไปสักหน่อย
ภาพจากละครเรื่อง วาสนารัก
ย้อนสู่ยุค 90 ด้วยความตั้งใจแต่ยังไม่ได้ดั่งใจ
เรื่องราวของ วาสนารัก เกิดขึ้นในยุค 90 เป็นข้อดีเพราะเด็กรุ่นใหม่ก็กำลังหลงใหลในแฟชั่นยุคนั้น ขณะคนที่เสพสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันก็คือคนวัยเลข 30-40 ปีที่มีประสบการณ์ร่วมสมัย แต่โดยรวมแล้ว วาสนารัก ไม่ทำให้รู้สึกหวนคิดถึงช่วงเวลานั้น หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะทำให้คนดูแทนภาพตัวเองว่าได้เคยทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เหมือนได้เรียนรู้และเติบโตไปกับตัวละคร ผู้เขียนเห็นถึงความพยายามใส่รายละเอียดทั้งเสื้อผ้าหน้าผม สิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมป๊อปในยุค 90 แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่อิน ไม่ได้ความรู้สึกเฉิ่มเชยดูแล้วอมยิ้มว่าครั้งหนึ่งฉันก็เคยทำ ถ้าลองเทียบงานสร้างของผู้จัดทีมเดียวกัน ผู้เขียนกลับนึกถึงฉากคอนเสิร์ตเล็กๆ กับท่าเต้นแร้งเต้นกาของธนาใน สุดแค้นแสนรัก เสียมากกว่า
ภาพจากละครเรื่อง วาสนารัก
วาสนาที่ยังมาไม่ถึงของละครช่อง 3
จากผลสำรวจ 10 อันดับเรตติ้งของละครช่วงครึ่งปีแรกจากนีลเส็น มีละครช่อง 3 เพียงเรื่องเดียวที่ติดอยู่ในอันดับที่ 7 คือ บุพเพสันนิวาส (รีรัน) ขณะที่ละครใหม่ของช่องติดอยู่ในอันดับที่ 17 คือ ทุ่งเสน่หา และอันดับที่ 18 คือ อกเกือบหักแอบรักคุณสามี
จริงอยู่ว่าในยุคปัจจุบันแค่เฉพาะเรตติ้งอาจจะชี้วัดความนิยมไม่ได้ทั้งหมดเพราะเป็นยุคที่ผู้คนมีทางเลือกให้ดูละครมากมายหลายแพลตฟอร์ม แต่เมื่อพูดถึงกระแสเอง ก็ดูเหมือนจะมีแค่ อกเกือบหักแอบรักคุณสามี และ ซ่อนเงารัก ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในโลกโซเชียลได้ ซึ่งถือว่าน้อยเกินไปสำหรับผู้ยิ่งใหญ่ในแวดวงละครทีวีอย่างช่อง 3 อีกอย่างเมื่อต้นปียังมีสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ทุกช่องเพลย์เซฟเอาละครเก่ามารีรัน แน่นอนว่าต้องมีคนดูบางส่วนรู้สึกเบื่อหน่ายไม่ติดตาม ละครใหม่ที่ฉายหลังช่วงเปิดเมืองจึงมีฐานคนดูที่ตามมาจากละครเรื่องก่อนน้อยลงไปอีก หลายช่องแก้ปัญหานี้ด้วยการเอาละครฟอร์มกลางๆ มาออกอากาศก่อน อย่างช่อง 3 ก็เอา เมียอาชีพ (พุธ-พฤหัสบดี) ส่วน วาสนารัก เป็นละครฟอร์มใหญ่ที่ออกอากาศหลังจากช่วงเปิดเมืองไปพอสมควร แต่ก็น่าจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน เพราะออกอากาศต่อจากละครรีรันเรื่อง บัลลังก์ดอกไม้ แต่ถึงจะไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ผู้เขียนก็คิดว่าผังรายการในช่วงหลังๆ ของช่อง 3 ดูแปลกๆ มีละครรีรันข้ามเวลาให้ดูถึง 4 ช่วงเวลาต่อวัน ยังไม่นับรวมช่วงเช้าเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งคิดว่ามันมากเกินไปสำหรับคนดู จนอาจทำให้ความรู้สึกที่มีต่อช่อง 3 เปลี่ยนไป
ภาพจากละครเรื่อง ความทรงจำสีจาง
ภาพจากละคเรื่อง ร้อยเล่ห์มารยา
ในช่วงเดือนตุลาคมสถานการณ์เริ่มปกติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ละครล็อตใหม่ของช่อง 3 ก็เริ่มทยอยเปิดตัวทั้ง ความทรงจำสีจาง,ร้อยเล่ห์มารยา, สัญญารัก สัญญาณลวง ซึ่งถ้าให้ประเมินจากสายตาก็น่าจะมีเพียง ร้อยเล่ห์มารยา ที่จะมาเป็นความหวังใหม่ของหมู่บ้าน ส่วนในอีก 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังไม่แน่ใจว่าช่องน้อยสีจะขออยู่แบบเซฟๆ รอปีหน้า หรือว่าจะมีความปังปุริเย่ให้เซอร์ไพรส์กัน ต้องรอติดตาม
ภาพ: Ch3Thailand
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล