×

นพ.วรงค์ ร้องทักษิณครอบงำเพื่อไทย ชี้ ถ้าจะแนะนำลูกสาวก็ทำที่บ้าน อย่าออกสาธารณะ

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2024
  • LOADING...
วรงค์

วันนี้ (11 กันยายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบ 2 ประเด็นที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และพรรคเพื่อไทยยอมให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำ ชี้นำ ตามมาตรา 28 ของกฎหมายเดียวกัน

 

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ที่ต้องมาร้องเรื่องนี้เพราะมองว่าการครอบงำเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย คนครอบงำมีการไปติดต่อ เจรจา มีผลประโยชน์อะไร ประชาชนไม่รู้ จึงเห็นว่าต้องร้องต่อ กกต. เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์ของประชาชนและระบบกฎหมาย

 

นพ.วรงค์ ชี้แจง 3 ประเด็นที่นำมาสู่การร้องเรียน คือ

 

  1. ทักษิณเชิญแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึง ชัยเกษม นิติสิริ และพรรคร่วม มาเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 14 สิงหาคม ช่วงเย็น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง ซึ่งสื่อมีการนำเสนอข่าวว่าได้ข้อสรุปการหารือว่าจะเสนอชื่อชัยเกษมเป็นนายกรัฐมนตรี แม้วันที่ 15 กันยายน จะมีการประชุมของพรรคเพื่อไทยและมีการเปลี่ยนตัวว่าที่นายกรัฐมนตรีเป็น แพทองธาร ชินวัตร แต่ถือว่าการกระทำของวันที่ 14 สิงหาคม สำเร็จไปแล้ว โดยทักษิณ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาครอบคลุม ครอบงำ และชี้นำพรรคเพื่อไทย โดยแกนนำหรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

 

  1. เหตุการณ์วันที่ 20 สิงหาคม ทักษิณให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ตอบคำถามว่าจะให้แพทองธารควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ว่า นั่นเป็นเรื่องที่หนักเกินไป แม้แพทองธารจะเป็นบุตรสาว แต่ก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งการพูดลักษณะนี้เท่ากับเป็นการชี้นำหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกทั้งสื่อยังถามต่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการครอบงำหรือไม่ ทักษิณกล่าวว่าไม่ใช่ ‘ครอบงำ’ แต่เป็นการ ‘ครอบครอง’ ซึ่งแม้จะเป็นการพูดเล่น แต่คำนี้หนักกว่าการ ‘ครอบงำ’

 

เพราะคำว่าครอบงำคือมีอิทธิพลเหนือกว่า ให้คนอื่นปฏิบัติตาม แต่ครอบครองคือมีสิทธิเป็นเจ้าของ สังคมอาจมองว่าแพทองธารเป็นลูกสาว ทักษิณเป็นบิดา ก็สามารถให้คำปรึกษาได้ ซึ่งส่วนตัวก็เห็นด้วย แต่ต้องเป็นการให้คำปรึกษาที่บ้าน ไม่ใช่มาแสดงออกผ่านสาธารณะ แบบนี้บ่งบอกชัดเจนว่าทักษิณคือหัวหน้าพรรค ดังนั้นการที่ทักษิณมีพฤติการณ์ชี้นำ ครอบงำ และควบคุม จึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

  1. การที่ให้สัมภาษณ์ว่าจะเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล ซึ่งทักษิณตอบสื่อชัดเจนว่าต้องการเสียงที่เพียงพอต่อการผ่านกฎหมาย สุดท้ายก็เอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล โดย สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญ พฤติกรรมนี้เท่ากับว่าทักษิณชี้นำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ นอกจากนี้ยังมีกรณีปัญหาการร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐที่มีความขัดแย้งระหว่าง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งทักษิณก็ชี้ว่าจะเอากลุ่มไหนมาร่วมรัฐบาล สุดท้ายเป็นไปตามที่ทักษิณชี้ว่าจะเอากลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส มาร่วมรัฐบาล

 

“3 เหตุผลนี้หากปล่อยให้มีการชี้นำ ครอบงำ จะเกิดอันตรายกับประเทศ พฤติกรรมสองอย่างนี้ไปด้วยกัน เหตุการณ์หนึ่งที่พรรคการเมืองยอมให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมามีพฤติกรรมแบบนี้ พรรคการเมืองก็มีความผิดและนำไปสู่การยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์นี้เป็นผู้ใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก็เป็นความผิดตามมาตรา 29 เราจึงร้องร่วมในเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกันต่อ กกต.” นพ.วรงค์ กล่าว

 

ส่วนกระบวนการนี้จะถือเป็นการใช้นิติสงครามเพื่อทำลายรัฐบาล นพ.วรงค์ กล่าวว่า ‘นิติสงคราม’ เป็นคำที่ยกขึ้นมาเพื่อโจมตีคนที่มาร้องเรียน อยากถามกลับคนที่ใช้คำนี้ขึ้นมาว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะหลักใหญ่ประชาธิปไตยมี 3 ข้อ คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการเลือกตั้ง แต่ข้อที่สามที่เป็นกระบวนการสำคัญคือการตรวจสอบและถ่วงดุล ดังนั้นกระบวนการประชาธิปไตยต้องน้อมรับการตรวจสอบและถ่วงดุล การที่มาโจมตีคนที่มาร้องเรียนว่าใช้นิติสงครามนั้นเท่ากับไม่ยอมรับการตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนหลงประเด็น เพราะคนพวกนี้กลัวการตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งเป็นเสน่ห์ของประชาธิปไตยที่คนได้ประโยชน์คือประชาชน เพราะนักการเมืองจะระมัดระวังตัวในการที่จะทำอะไร

 

“คำว่านิติสงครามจึงเป็นวาทกรรมของคนที่กลัวการถูกตรวจสอบ แต่ปากอ้างว่าตัวเองคือนักประชาธิปไตย ซึ่งพวกนี้คือของปลอม ยังบอกว่าคนร้องรับเงิน ก็ขอให้บอกเลยว่าใครรับเงิน ลองบอกว่าหมอวรงค์รับเงิน ผมจะฟ้อง อย่าพูดลอยๆ ตีกิน ด้อยค่าคนอื่น แน่จริงระบุชื่อหมอวรงค์รับเงิน ไม่ต้องระบุว่ารับเงินใครมาก็ได้ แต่แค่บอกว่าผมรับเงินเท่าไรผมฟ้องคุณแน่ คนอย่างผมไม่มี ถ้ารับรวยไปแล้วตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าว 9.4 แสนล้านบาท ผมรับเล็กๆ น้อยๆ สัก 500 ล้าน หรือพันล้าน ซึ่งมีคนเจรจาด้วย ผมยังไม่รับเลย นับประสาอะไรมาบอกว่าคดีละสองแสน กระจอกเกินไป” นพ.วรงค์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising