×

ปภ. เตือน 44 จังหวัดภาคเหนือ, อีสาน, กลาง, ใต้ และ กทม. ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำล้นอ่างเก็บน้ำช่วง 3-9 ก.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (2 กันยายน) เวลา 11.45 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 44 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน), ภาคกลาง, ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง คลื่นลมแรง รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567 

 

โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด 

 

ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 1 (156/2567) ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 3-7 กันยายน 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง 

 

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยในช่วงวันที่ 4-7 กันยายน 2567 ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร 

 

อีกทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีประกาศฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 ดังนี้

 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก: 

 

ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, ปางมะผ้า, ปาย และสบเมย) 
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์, ฟากท่า, น้ำปาด และตรอน) 
  • จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง, แม่สอด, พบพระ และอุ้มผาง) 
  • จังหวัดสุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, ทุ่งเสลี่ยม และกงไกรลาศ) 
  • จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ, นครไทย, วัดโบสถ์, วังทอง และเนินมะปราง) 
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์, หนองไผ่, หล่มเก่า และหล่มสัก) 
  • จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว, เชียงคาน, ด่านซ้าย และปากชม) 
  • จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย, สังคม, ศรีเชียงใหม่, ท่าบ่อ, โพนพิสัย และโพธิ์ตาก) 
  • จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ, ปากคาด, บุ่งคล้า, โซ่พิสัย, เซกา และบึงโขงหลง)
  • จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี, วารินชำราบ, ตาลสุม น้ำยืน, พิบูลมังสาหาร และน้ำขุ่น)

 

ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี, ทองผาภูมิ, ไทรโยค และศรีสวัสดิ์) 
  • จังหวัดราชบุรี (อำเภอปากท่อและสวนผึ้ง) 
  • จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก, ปากพลี และบ้านนา) 
  • จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี, ประจันตคาม, นาดี และกบินทร์บุรี) 
  • จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี, บางละมุง และศรีราชา) 
  • จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง, บ้านค่าย, ปลวกแดง และนิคมพัฒนา) 
  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี, ขลุง, ท่าใหม่, เขาคิชฌกูฏ และมะขาม) 
  • จังหวัดตราด (ทุกอำเภอ) 
  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพาน, บางสะพานน้อย และปราณบุรี)

 

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะและสวี) 
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี, คีรีรัฐนิคม, พุนพิน, พระแสง และเวียงสระ) 
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, เชียรใหญ่, ลานสกา, ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่) 
  • จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง, ปากพะยูน, กงหรา, ศรีนครินทร์ และควนขนุน) – จังหวัดระนอง (ทุกอำเภอ) 
  • จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา, คุระบุรี, ตะกั่วป่า, กะปง และท้ายเหมือง) 
  • จังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ) 
  • จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง, สิเกา, ย่านตาขาว, กันตัง, ห้วยยอด, รัษฎา และวังวิเศษ)
  • จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล, ควนโดน, ควนกาหลง, ทุ่งหว้า และมะนัง)

 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง:

  • กรุงเทพมหานคร 

 

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง: 

 

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง, สุขสำราญ และกะเปอร์) 
  • จังหวัดพังงา (อำเภอเกาะยาว, ตะกั่วทุ่ง, ท้ายเหมือง, ตะกั่วป่า และคุระบุรี) 
  • จังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ) 
  • จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่, คลองท่อม, เกาะลันตา, เหนือคลอง และอ่าวลึก) 
  • จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง, สิเกา, ปะเหลียน และหาดสำราญ) 
  • จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล, ละงู, มะนัง และทุ่งหว้า)

 

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80: จังหวัดเชียงใหม่, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, สกลนคร, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น, นครพนม, มุกดาหาร, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, อุบลราชธานี, นครนายก, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, ตราด, สุราษฎร์ธานี และตรัง 

 

รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ

 

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง-น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ: บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม (จังหวัดพิษณุโลก อำเภอบางระกำ), แม่น้ำแควน้อย (จังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทยและวัดโบสถ์), แม่น้ำจันทบุรี (จังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรีและมะขาม), แม่น้ำตราด (จังหวัดตราด อำเภอเมืองตราด, เขาสมิง และบ่อไร่) 

 

โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำหลากที่เพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลลาดชิด, ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 44 จังหวัดในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด 

 

หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด รวมถึงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง 

 

หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด 

 

นอกจากนี้ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

 

ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่ได้ทาง Facebook: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และแอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยดังกล่าว สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทาง LINE ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising