×

โบรกฯ เตือนรายย่อยเลี่ยงหุ้น CMO สัญญาณเก็งกำไรชัด แนะระวังตกเป็นเหยื่อก๊วนปั่นหุ้น

23.11.2021
  • LOADING...
หุ้น CMO

ความร้อนแรงของหุ้น บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) ที่ราคาพุ่งขึ้นมากกว่า 80% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วันทำการ (17-19 พฤศจิกายน) จนทำให้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาเตือนผู้ลงทุนให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากสภาพการซื้อขายหุ้น CMO เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้ ตลท. จะประกาศให้หุ้นดังกล่าวอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

 

ตลท. ระบุว่า ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงในการซื้อขายหุ้นตัวนี้ได้หากราคาผันผวน โดยขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาปัจจัยพื้นฐานและข้อมูลที่บริษัทแจ้งผ่านระบบของ ตลท. ให้รอบคอบก่อน 

 

รวมทั้งยังขอให้สมาชิกหรือโบรกเกอร์ทุกรายกำกับดูแลการซื้อขายและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหุ้น CMO อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางคำยืนยันของผู้บริหารบริษัทที่ระบุว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการสำคัญใดๆ ที่จะมีนัยส่งผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายจนทำให้ราคาหุ้นต้องปรับตัวสูงขึ้น

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจข้อมูลย้อนหลังของ CMO จากฐานข้อมูลของ ตลท. ถึงพัฒนาการตัวบริษัทเพื่อประกอบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น CMO 

 

โดยพบว่าเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 CMO ได้รายงานต่อ ตลท. ว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/64 มีมติไม่อนุมัติการเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 1,227.31 ล้านบาท จากเดิม 255.46 ล้านบาท เป็น 1,532.77 ล้านบาท ในมูลค่าราคาพาร์ 1 บาท เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้น สามารถเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) ตามสัดส่วนการถือหุ้น

 

ดูแล้วมติดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาหุ้น CMO ปรับเพิ่มขึ้นร้อนแรง หลังจากที่เคลื่อนไหวทรงตัวในระดับ 1 บาทกว่าๆ มาเป็นเวลานาน 

 

กระทั่งต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 CMO ได้รายงานต่อ ตลท. อีกครั้งว่า มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทภายหลังการทำรายการซื้อขายหุ้นขนานใหญ่ หรือ Big Lot ระหว่างผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เสริมคุณ คุณาวงศ์ กับ กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ส่งผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่เปลี่ยนแปลงจากเดิมคือ

 

เสริมคุณ ถือหุ้นจำนวน 57,641,332 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 22.5634%

กิติศักดิ์ ถือหุ้น จำนวน 18,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 7.0460%

 

ส่วนโครงสร้างใหม่ คือ

 

เสริมคุณ ถือหุ้นจำนวน 15,641,332 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 6.1227%

กิติศักดิ์ ถือหุ้นจำนวน 60,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 23.4868%

 

จากฐานข้อมูลดังกล่าวยังพบว่า กิติศักดิ์ได้ทยอยเข้าถือหุ้น CMO เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาไม่นาน พิจารณาได้จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ซึ่ง กิติศักดิ์ ยังถือหุ้นอยู่ในระดับ 3.91% ดังนี้

 

  1. เสริมคุณ คุณาวงศ์ จำนวน 65,641,332 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.70%
  2. สุรศักดิ์ อุดมศิลป์ จำนวน 15,000,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.87%
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 13,156,350 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.15%
  4. อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ จำนวน 12,300,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.81%
  5. ฟ้าใส พัวถาวรสกุล จำนวน 11,800,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.62%
  6. กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ จำนวน 10,000,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.91%
  7. ณัฏณ์ฑมณ ยงค์ธัญโรจน์ จำนวน 6,414,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.51%
  8. บริษัท แอลจี คอนเทนเนอร์ ไลน์ จำกัด จำนวน 5,000,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.96%
  9. วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต จำนวน 4,363,900 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.71%
  10. ขันธ์พลร์ ซื่อภาคย์ จำนวน 4,112,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.61%

 

เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น CMO พบว่า ราคาเริ่มปรับตัวร้อนแรงในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 จากราคาปิดก่อนหน้าที่ 1.74 บาท มาเคลื่อนไหวที่ 2.26 บาท เพิ่มขึ้น 29.89% ชนเพดานการซื้อขายสูงสุด (ซิลลิ่ง) ส่งผลให้ ตลท. ต้องใช้มาตรการกำกับดูแลระดับ 2 คือ ห้ามโบรกเกอร์นำหุ้นตัวนี้มาคำนวณวงเงินซื้อขาย และจะต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน ถึง 8 ธันวาคม 2564 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของราคาหุ้น CMO ที่ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่องเอาไว้ได้ โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ราคาหุ้นพุ่งขึ้นราว 29.20% มาปิดตลาดที่ระดับ 2.92 บาท ทำให้ ตลท. ต้องใช้มาตรการกำกับดูแลระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับเข้มงวดสูงสุด คือ ห้ามโบรกเกอร์หักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net settlement) นอกเหนือจากที่ห้ามนำหุ้นตัวนี้มาคำนวณวงเงินซื้อขาย และจะต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2564 

 

โดย CMO ได้ชี้แจงผ่านการรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าไม่มีพัฒนาการสำคัญที่กระทบต่อสภาพการซื้อขายที่ปรับตัวขึ้น

 

ทว่ามาตรการเข้มงวดระดับ 3 ของ ตลท. ก็ยังไม่อาจระงับความร้อนแรงของหุ้น CMO เอาไว้ได้ เพราะในวันที่เริ่มใช้มาตรการดังกล่าว (19 พฤศจิกายน) ราคาหุ้น CMO ยังทะยานขึ้นต่อเนื่องจนทะลุระดับ 3 บาท ขึ้นไปทำจุดสูงสุดของวันที่ 3.70 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดตลาดในระดับ 3.14 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 7.53% 

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า การขายหุ้น Big Lot ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้สร้างความร้อนแรงให้กับหุ้น CMO แต่วอลุ่มการซื้อขายส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากนักลงทุนไม่กี่กลุ่มที่ซื้อขายกันโดยหวังผลให้นักลงทุนทั่วไปเข้ามาซื้อตาม ซึ่งก็ดันราคาหุ้นจากระดับ 1.70 บาท ขึ้นไปยืนในระดับ 3.70 บาท ภายในระยะเวลาอันสั้น การเคลื่อนไหวของหุ้นในลักษณะนี้ถือว่ามีความผิดปกติอย่างมาก

 

นอกจากนี้จะพบว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นสามารถสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เข้ามาซื้อหุ้น Big Lot ได้ทันที จากที่มีต้นทุนระดับ 2 บาท

 

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว CMO ซึ่งทำธุรกิจรับจ้างจัดงานแสดงสาธารณะ งานนิทรรศการ และงานบันเทิงต่างๆ ยังประสบ

ภาวะขาดทุนจากผลกระทบของโรคโควิดจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ได้ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อบริษัทไปจนถึงกลางปี 2565 ทำให้ CMO อาจจะยังขาดทุนต่อเนื่อง แม้จะมีแนวโน้มการขาดทุนลดลงก็ตาม

 

ทั้งนี้ในปี 2563 CMO มีผลประกอบการขาดทุน 129.98 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 727.25 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปีนี้ขาดทุน 110.87 ล้านบาท มีรายได้รวม 323.83 ล้านบาท

 

“การลงทุนลักษณะนี้เป็นลักษณะของการจุดพลุ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์คงเห็นแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้น จึงได้เปลี่ยนมาตรการดูแลจากระดับ 2 มาเป็นระดับ 3 ภายในวันเดียว คิดว่าตลาดหลักทรัพย์คงกำลังตรวจสอบหุ้นตัวนี้อยู่ เพราะลักษณะความเคลื่อนไหวของหุ้นชัดเจนมากว่าไล่ราคาให้นักลงทุนรายย่อยตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องระวัง”

 

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โนมูระ กล่าวว่า สัญญาณทางเทคนิคพบว่าแรงซื้อหุ้น CMO เริ่มเข้ามาในวันที่ 17 พฤศจิกายน จากนั้นปริมาณการซื้อขายเริ่มขึ้นมาในระดับ 100 ล้านหุ้น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน และต่อเนื่องในวันที่ 19 พฤศจิกายน ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนควรติดตามคือ บริษัทจะมีประเด็นใดๆ ที่มีนัยสำคัญหรือไม่ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนจะดีที่สุด

 

“แรงซื้อที่เข้ามาถือว่าโอเวอร์มากจากปกติ แสดงว่าเป็นการเก็งกำไรชัดเจน การที่ตลาดหลักทรัพย์ออกมาเตือน ถือว่านักลงทุนจะต้องฟังและอย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องดูว่าเขาจะมีดีลอะไร หรือมีประเด็นอะไรมาสนับสนุนให้ราคาหุ้นวิ่งหรือไม่ เพราะเมื่อตลาดหลักทรัพย์เตือนแล้ว นักลงทุนเองก็ควรต้องระมัดระวัง” นักวิเคราะห์กล่าว

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น CMO ล่าสุด ณ ราคาปิดตลาดภาคเช้าของวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 3.20 บาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 0.08 บาท หรือ 2.44% 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X