ตะวันออกกลางร้อนระอุอีกครั้ง หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอลด้วยโดรน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลถูกท้าทายด้วยการโจมตีในดินแดนของตนเอง
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่านรอบนี้เป็น 3 ระยะ ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในระยะที่ 2 โดยระยะแรกเริ่มต้นขึ้นจากการที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียเมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งถือเป็นการโจมตีดินแดนอธิปไตยของอิหร่าน ก่อนที่อิหร่านจะตอบโต้ด้วยการยิงมิสไซล์และส่งโดรนเข้าไปในดินแดนอิสราเอล ซึ่งถือเป็นระยะที่ 2
ดร.มาโนชญ์วิเคราะห์ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านจะยกระดับขึ้นแค่ไหนให้จับตาระยะที่ 3 ว่าอิสราเอลจะโต้กลับอย่างไร
สำหรับอิหร่านนั้น ดร.มาโนชญ์เชื่อว่าประชาชนในประเทศพึงพอใจกับการโจมตีอิสราเอลรอบนี้ เนื่องจากเป็นการโจมตีในดินแดนอิสราเอลครั้งแรก ซึ่งถือว่าอิหร่านบรรลุวัตถุประสงค์แล้วในการแก้แค้น
อีกจุดที่น่าสังเกตคือการโจมตีของอิหร่านมีขึ้นหลังจากที่สถานกงสุลในดามัสกัสถูกโจมตีไปแล้ว 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการให้เวลากับอิสราเอลและสหรัฐฯ ในการวางมาตรการป้องกัน ทำให้ลดการสูญเสียไปได้มาก แม้จะมีมิสไซล์และโดรนบางลูกสร้างความเสียหายในดินแดนอิสราเอลได้บ้างก็ตาม ซึ่ง ดร.มาโนชญ์เชื่อว่าก่อนการโจมตีครั้งนี้ มีการส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ ทราบก่อนแล้ว
ขณะเดียวกันการที่อิสราเอลและสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตอบโต้อิหร่านกลับในทันที ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งอาจทำให้บรรดาชาติอาหรับมองว่า อิสราเอลไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่คิด และมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถโจมตีโต้กลับได้ในทันที อีกทั้งยังมีช่องโหว่ที่ทำให้โดรนหรือมิสไซล์เล็ดลอดระบบป้องกันเข้าไปได้
ดร.มาโนชญ์มองด้วยว่า อำนาจการป้องปรามของสหรัฐฯ เสื่อมถอยลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาปะทุขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถป้องปรามกลุ่มตัวแทนของอิหร่าน เช่น ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ฮูตีในเยเมน รวมถึงกลุ่มติดอาวุธในอิรักได้เลย เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ยังคงโจมตีอิสราเอล รวมถึงเรือสินค้าในทะเลแดงได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การโจมตีของอิหร่านโดยตรงรอบนี้ก็ยิ่งสะท้อนอำนาจที่เสื่อมถอยของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ได้เช่นกัน
ส่วนประเด็นที่ว่าสงครามจะบานปลายมากแค่ไหนนั้น ดร.มาโนชญ์มองว่ามีสองสัญญาณที่ต้องระวัง สัญญาณแรกคือการโจมตีกลับของอิสราเอล ซึ่งสามารถทำได้สองแนวทาง คือการโจมตีกลับคืนด้วยโดรนและมิสไซล์ไปยังอิหร่านในลักษณะเดียวกับที่อิหร่านทำ ขณะเดียวกันก็ยกระดับการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในอิรักซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน
สัญญาณที่สองคือ หากสหรัฐฯ ขอใช้น่านฟ้าหรือฐานทัพของชาติอาหรับรอบๆ เพื่อปฏิบัติการในอิสราเอลหรืออิหร่าน ก็จะถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าสงครามอาจยกระดับ แต่ ณ ขณะนี้คือยังไม่มีการขอใช้น่านฟ้าหรือฐานทัพดังกล่าว
สถานการณ์ในตะวันออกกลางในเวลานี้ตึงเครียดอย่างหนัก และอิสราเอลได้ดึงสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งครั้งนี้แล้ว
ภาพ: Reuters