บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส เตือนปัจจัยเสี่ยงค่าเงินผันผวน การเมือง การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล และเทคโนโลยี กดดันตลาดหุ้นไทยระยะกลาง ส่วนแนวโน้มระยะสั้นไตรมาส 2 เสี่ยงผันผวนจากเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น ชูธีมการลงทุนกลุ่ม Metaverse ธุรกิจที่รับประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มเฮลท์แคร์ และกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ
ธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า มุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 ประเมินว่า เงินเฟ้อสูงยัง สร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลาง โดยฝ่ายวิจัย DBS คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปี 2565 และธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะหยุดทำ QE
ทั้งนี้ ธนาคาร DBS และฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะเติบโต 3.5% ส่วนปีหน้า GDP ขยายตัว 4.2% ส่วนสหรัฐอเมริกาประเมินว่า GDP ปีนี้โต 3% ส่วนปีหน้า 2% ด้านประเทศจีนประเมิน GDP ปีนี้ 5.3% ปีหน้า 5% และประเทศในยุโรปจะมีอัตราการขยายตัวของ GDP 3% ขณะที่ปีหน้า 2.5%
“เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน ยุโรป อินเดีย จะเติบโตชะลอลง ขณะที่เศรษฐกิจหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงของสถานการณ์โควิดในปี 2564 จะฟื้นตัวเร่งขึ้นในปีนี้ เช่น ญี่ปุ่น กลุ่ม ASEAN หลายประเทศยกเว้นสิงคโปร์”
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะได้รับผลลบจากราคาน้ำมันสูงและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่คลี่คลาย และการฟื้นตัวของภาคบริการ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัว และลดความเสี่ยงของภาวะอัตราเงินฝืด หรือ Stagflation
เพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน หลังรัฐบาลรุกกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ธนาคาร DBS และฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นจีนเป็น Overweight หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายหนุนเศรษฐกิจและหุ้นจีนราคาไม่แพง พร้อมกับแนะหุ้นกลุ่ม Quality และตราสารหนี้กลุ่ม Investment Grade ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยหุ้นที่เป็นธีมเด่นคือกลุ่มเฮลท์แคร์ (Healthcare) และการลงทุนทางเลือก เช่นโครงสร้างพื้นฐานและทองคำ
ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน ประเมินค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และสถานการณ์ยูเครน ทำให้นักลงทุนโยกไปถือเงินดอลลาร์ ซึ่ง เป็น Safe Haven ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (Fed Funds Rate) จะเพิ่มขึ้นมาที่ 2.5% ในปลายปีนี้ และ 3.50% ในช่วงกลางปีหน้า หนุนโดยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง ประกอบด้วยความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล เทคโนโลยี รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ยืนเป้าดัชนี ‘หุ้นไทย’ ปีนี้ 1,800 จุด
อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในปีนี้ยังคงยืนเป้าหมายดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,800 จุด อิงกับค่า P/E 18.9 เท่า
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงสิ้นสุดวันที่ 12 เมษายน 2565 นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิ 1.1 แสนล้านบาท จากช่วง 5 ปีย้อนหลังคือปี 2560-2564 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิทุกปี รวมขายสุทธิสะสมเท่ากับ 6.7 แสนล้านบาท
ส่วนภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 2/65 คาดว่าดัชนีหุ้นยังผันผวน โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงจากต้นทุนผลัก (Cost Push) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยอัตรา 0.5% ในการประชุมวันที่ 3-4 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ และการขึ้นเครื่องหมาย XD หุ้นจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ขณะที่โควิดยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง และหนี้ภาคครัวเรือนสูง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 2/65 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเมืองเปิดประเทศ (Reopening) เงินสะพัดจากการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการที่ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงไม่มากนัก กลยุทธ์การลงทุนเน้นสร้างพอร์ตให้มีคุณภาพแข็งแกร่งและเติบโตได้ยั่งยืนในระยะยาว โดยเลือกซื้อสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีในจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว
สำหรับธีมการลงทุนในปีนี้ แนะนำเลือกลงทุนธุรกิจในโลกอนาคต หรือ Metaverse ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงทั่วโลก ธุรกิจที่รับประโยชน์จากยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ (Healthcare) เนื่องจากสังคมสูงวัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารและประกันที่ได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว หากไม่มีโควิดสายพันธ์ใหม่ที่รุนแรงเข้ามาเพิ่ม
เปิดโผ 8 หุ้นเด่นรับธีมเปิดเมือง – Domestic Play
สมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้คัดเลือกหุ้นเด่นดังนี้
- AOT ซึ่งได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยประเทศไทยและทั่วโลกเริ่มทยอยผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจบริหารสนามบินกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ให้ราคาเป้าหมาย 75 บาท
- MINT ซึ่งได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผลประกอบการพลิกเป็นกำไรในไตรมาส 4/64 เนื่องจากโรงแรมมีการเข้าพักมากขึ้นทั้งในไทย มัลดีฟส์ และยุโรป และประเมินว่าการเดินทางจะกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/65 ขณะที่ NH Hotel เข้าสู่ High Season ในไตรมาส 2/65 จึงคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/65 และ 2H65 จะมีกำไรกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ให้ราคาเป้าหมาย 40 บาท
- PTT ยังเป็นหุ้นดีตามราคาน้ำมัน และ EV Car ในอนาคต ขณะที่ราคาน้ำมันดิบแข็งแกร่งจากปัจจัยสงครามรัสเซียและยูเครน จึงปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ Brent ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2565 และ 2566 เพิ่มขึ้นจากเดิม 20% และ 15% ให้ราคาเป้าหมาย 57.50 บาท
- GPSC จะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ไฟฟ้าฟื้นตัวและธุรกิจแบตเตอรี่รถ EV รวมทั้งยอดขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มตามดีมานด์ลูกค้าอุตสาหกรรมฟื้นตัว และในปี 2565 จะมีการทยอยรับรู้ส่วนแบ่งกำไรโซลาร์ฟาร์ม Avaada ในอินเดียที่ถือหุ้น 41.6% นอกจากนี้บริษัทยังจะมีการบันทึกกำไรขายโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นประมาณ 600 ล้านบาทในไตรมาส 1/65 ให้ราคาเป้าหมาย 90 บาท
- ADVANC ยังเป็นหุ้นโดดเด่นในกลุ่มเทคโนโลยี, Domestic Play และเป็นอีกหุ้นที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันยังได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC ซึ่งทำให้สถานการณ์แข่งขันลดลง ให้ราคาเป้าหมาย 250 บาท
- CPALL เป็นหุ้นที่คาดการณ์กำไรปีนี้โตโดดเด่น โดยปีนี้คาดกำไรเติบโต 81% และปี 2566 โตต่ออีก 21% ปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ปรับราคาสินค้าขึ้นตามเงินเฟ้อ มีรายได้จาก Lotus’s มาเสริม มีแพลตฟอร์มการขายใหม่ๆ ให้ราคาเป้าหมาย 75.25 บาท
- BH เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ และธุรกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/65 จะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ และประมาณการว่ากำไรปี 2565 และปี 2566 เมื่อเทียบกับ YoY จะเติบโต 113% และ 39% ตามลำดับ โดยกำไรกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้ในปี 2566 ให้ราคาเป้าหมาย 175 บาท
- BEM โดดเด่นจากรถไฟฟ้า ทางด่วนฟื้นตัว แนวโน้มไตรมาส 1/65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากปริมาณการใช้ทางด่วน-รถไฟฟ้า คาดว่ารายได้ปี 2565 โตดี 26% ให้ราคาเป้าหมาย 10 บาท
ขณะที่ สมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีหุ้นไทยยังไม่เปลี่ยน โดยยังเป็นขาลงในระยะกลาง ดังนั้นทิศทางหลักจึงเป็นการปรับตัวลง หากจะมีการปรับขึ้นจะมีนัยสำคัญแค่การรีบาวด์ทางเทคนิคเท่านั้น เนื่องจากดัชนีหุ้นในช่วงที่ผ่านๆ มายังขาดแรงส่งในทางบวก หรือยังตกอยู่ใต้อิทธิพลด้านลบ (Overbought + Divergence)
ด้วยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ทิศทางตลาดในไตรมาส 2/65 มีทิศทางของการอ่อนตัวลง โดยมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 1,640 จุด,1,620 จุด หรือในกรอบ 1,600-1,580 จุด
สำหรับกลยุทธ์การเก็งกำไร กรณีดัชนีสูงกว่า 1,700 จุด ให้เน้นซื้อค่าบวกเพื่อลุ้น หรือรอขายที่แนวต้าน 1,710-1,720 จุด แต่ถ้ากรณีดัชนีต่ำกว่า 1,700 จุด เน้นซื้อเมื่ออ่อนตัวที่ระดับดัชนี 1,640 จุด, 1,620 จุด หรือกรอบ 1,600-1,580 จุด เพื่อรอขายเมื่อมีการปรับขึ้นตามมา